เมื่อผม “เริ่มเดินทาง” สาย Value Investment อย่างจริงจังประมาณ 20 ปีมาแล้ว การอ่านหนังสือการลงทุนจากต่างประเทศ
เป็นกิจกรรมที่ผมทำอย่างเข้มข้น หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะแนว VI ที่ “โด่งดัง” หรือเป็นหนังสือขายดีแบบ Best Seller แทบทุกเล่ม เช่นเดียวกับหนังสือ Classic ที่ยอดเยี่ยมและไม่ขึ้นกับกาลเวลานั้น ผมอ่านแทบทุกเล่ม หนึ่งในหนังสือที่ผมรู้สึกว่าอ่านง่ายและได้ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากก็คือ “The Zulu Principle” หรือ “หลักการของซูลู” เขียนโดย Jim Slater นักลงทุนชื่อดังชาวอังกฤษ หนังสือเขียนมาตั้งแต่ปี 1992 แต่ผมอ่านเวอร์ชั่นของปี 1997 ปีที่ไทยเกิดวิกฤติทางการเงิน
แนวความคิดของ จิม สเลเตอร์ ที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ก็คือเขาต้องการที่จะแนะนำให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นคนชั้นกลางของอังกฤษหันมาลงทุนอย่างชาญฉลาดในตลาดหุ้นและมีความสุขกับมัน เขาบอกว่านักลงทุนรายย่อยทุกคนนั้น สามารถที่จะเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ในอุตสาหกรรมหรือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ไม่ยาก และถ้าทำแบบนั้นแล้ว พวกเขานอกจากจะสามารถทำกำไรจากหุ้นที่เติบโตดีอย่างโดดเด่นมากแล้ว ยังจะมีความสุขจากกระบวนการลงทุนนั้นด้วย
ในหนังสือ The Zulu Principle นั้น จิม สเลเตอร์ บอกว่าเขาได้ความคิดจากภรรยา นั่นคือ ในวันหนึ่งภรรยาเขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับชนเผ่าซูลูในแอฟริกาที่มีความโดดเด่นน่าสนใจมากจากหนังสือ Readers Digest และเพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ภรรยาเขาก็รู้เรื่องราวเกี่ยวกับซูลูมากกว่าตัวเขาเอง และทันใดนั้น เขาก็รู้สึกว่า ถ้าภรรยาเขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับซูลูทั้งหมดในห้องสมุดของท้องถิ่น หล่อนก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านของซูลูที่โดดเด่นในเมือง Surrey และถ้านางสเลเตอร์ตัดสินใจเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ ใช้เวลาซัก 6 เดือนศึกษาที่มหาวิทยาลัยโจฮานเนสเบิร์กและใช้เวลาบางส่วนในชุมชนอนุรักษ์ของชนเผ่านี้ หล่อนก็สามารถที่จะเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเกี่ยวกับชนเผ่าซูลูได้
จิม สเลเตอร์บอกว่า มันไม่ได้ใช้เวลามากมายนักที่จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ คนทั่วไปที่ใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงศึกษาบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตหรือขายสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมหนึ่งนั้น ในที่สุดก็จะรู้จักกับบริษัทและอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง และเขาก็จะไม่ตัดสินใจอะไรผิดพลาดได้ง่าย เขาจะรู้ว่าบริษัทไหนดีและบริษัทไหนไม่ดี บริษัทไหนจะประสบความสำเร็จในด้านไหนมากกว่าบริษัทอื่น เขาจะรู้ก่อนคนอื่นว่าบริษัทไหนจะมีข่าวอะไรดี ๆ ออกมา การที่คนพยายามศึกษาบริษัทต่าง ๆ ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมมากเกินไปนั้น สุดท้ายเขาก็จะไม่รู้อะไรอย่างจริงจัง วิธีที่ดีกว่าก็คือ พยายามจับแค่หนึ่งหรือสองอุตสาหกรรมก็พอ
นอกจากวิธีการเรียนรู้แบบซูลูแล้ว สเลเตอร์ยังบอกด้วยว่าการลงทุนในหุ้นนั้นเป็นทั้งเรื่องของการทำเงินที่งดงามและเป็นงานอดิเรกที่น่าสนใจในแง่ที่คุณจะได้รับความรื่นรมย์จากการใช้ความคิดและวิชาการ นอกจากนั้นเขายังแนะนำให้นักลงทุนเข้าร่วมใน Investment Club หรือชมรมการลงทุนที่ซึ่งแต่ละคนจะช่วยกันเลือกหาหุ้นจากประสบการณ์ของตน สเลเตอร์มองว่านักลงทุนรายย่อยนั้นมีข้อได้เปรียบบางอย่างเหนือนักลงทุนมืออาชีพ เนื่องจากมีเงินลงทุนน้อย ดังนั้น พวกเขาสามารถลงทุนในบริษัทเล็กและสามารถเลือกเฉพาะหุ้นที่ดีที่สุดสิบตัวได้ในขณะที่นักลงทุนมืออาชีพต้องซื้อหุ้นจำนวนมากที่ทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีมากได้
ในส่วนของการเลือกหุ้นนั้น สเลเตอร์แนะนำว่าเราควรลงทุนในหุ้นที่มี PE ต่ำ มีความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งอาจจะมาจากยี่ห้อของสินค้าที่โดดเด่นหรือมีสิทธิบัตรเฉพาะเช่นพวกยาเป็นต้น และเมื่อพบหุ้นเหล่านี้แล้วก็จะดูต่อไปว่าบริษัทมีการเติบโตที่โดดเด่นหรือไม่ ซึ่งความหมายของการเติบโตก็คือ บริษัทควรมี EPS หรือกำไรต่อหุ้นเติบโตในอัตราอย่างน้อย 15% ต่อปี และการเติบโตนี้ ในความเห็นของเขาก็คือ ควรมาจากการที่บริษัทสามารถ “Clone” หรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วซ้ำ ๆ เช่น เปิดร้านเครือข่ายเพิ่ม เปิดภัตตาคารเพิ่ม หุ้นที่ทำได้แบบนี้จะมีอนาคตที่น่าสนใจมาก ในส่วนของผู้บริหารของบริษัทนั้น สเลเตอร์ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถตัดสินความสามารถหรือความซื่อสัตย์โดยเฉพาะของบริษัทเล็กที่โตเร็วได้ ดังนั้น สิ่งที่เขาแนะนำก็คือ ให้เริ่มดูจากตัวเลขต่าง ๆ ของบริษัทก่อน โดยที่ กฎสำคัญเป็นดังต่อไปนี้:
หนึ่ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น บริษัทจะต้องกำไรทุกปีไม่มีข้อยกเว้น
สอง กำไรในช่วง 4 ปีหลังนั้นจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีและ EPS หรือกำไรต่อหุ้นปกติจากการดำเนินงานในปีล่าสุดจะต้องสูงสุด ซึ่งนี่จะเป็นสัญญาณว่าบริษัทกำลัง “เดินหน้า” จริง ๆ
สาม หุ้นอสังหาริมทรัพย์จะต้องถูกตัดออกเพราะว่ามันเป็นเรื่องของทรัพย์สินมากกว่าการเจริญเติบโต ทรัพย์สินนั้นอาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้แต่มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถของผู้บริหาร
สี่ หุ้นควรจะมีโบรกเกอร์วิเคราะห์ติดตาม และคำแนะนำจะต้องเป็น “ซื้อ” กฎข้อนี้มีขึ้นเพราะสเลเตอร์คิดว่านักลงทุนรายย่อยนั้นไม่สามารถที่จะได้ข้อมูลลึก ๆ ของบริษัท ดังนั้น การได้นักวิเคราะห์มาช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์จะทำให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น
ห้า สเลเตอร์ค่อนข้างจะระมัดระวังเกี่ยวกับหุ้นวัฏจักรเช่นหุ้นรับเหมาก่อสร้างมาก ถ้าจะเป็นบริษัทที่โตเร็ว หุ้นพวกนี้จะต้องเข้าข่ายตามกฎทั้งหลายที่กล่าวมาด้วย ซึ่งนี่ก็มักจะทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ตกรอบไม่ถือว่าเป็นหุ้นเติบโตเร็ว
สุดท้ายก็คือ จิม สเลเตอร์ แนะนำว่าเราควรที่จะดูค่า PEG หรือค่า PE เมื่อเทียบกับการเจริญเติบโตของบริษัท นั่นก็คือ ค่า PE หรือระดับราคาหุ้นที่เราจ่ายเมื่อเทียบกับศักยภาพในการเจริญเติบโตของบริษัท โดยหุ้นที่น่าสนใจก็คือหุ้นที่มีค่า PEG ต่ำกว่า 1 เท่า โดยที่สเลเตอร์มองว่าหุ้นที่เรามองหาควรจะมีการเติบโตระหว่าง 15% ถึง 25% ต่อปี เพราะหุ้นที่โตเกินนี้จะเป็นการโตที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น ถ้ามองในแนวนี้ หุ้นที่มี PE เกิน 25 เท่าโดยทั่วไปก็จะไม่น่าสนใจในสายตาของสเลเตอร์
นอกจากเรื่องของตัวเลขดังกล่าวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สเลเตอร์แนะนำก็คือ เราควรหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในบริษัทที่ผู้บริหารใช้ชีวิตอย่าง “หรูหราฟู่ฟ่า” เกินไป ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารใช้รถหรูเบอร์ป้ายทะเบียนรถพิเศษ หรือถ้าผู้บริหารเข้าไปถือหุ้นค่อนข้างมากในสโมสรฟุตบอลนี่ก็จะเป็น “หายนะ” เพราะมันเป็นเรื่องของ “อีโก้” ที่ยิ่งใหญ่แต่มักเป็นกำไรที่ “จิ๊บจ๊อย”
จิม สเลเตอร์ เป็นนักลงทุนที่มี “สีสัน” ในตลาดหุ้นของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะอายุประมาณ 40-50 ปี เขาเป็นนักเทคโอเวอร์ประเภทซื้อบริษัทมาแล้วตัดขายทรัพย์สินทำกำไรรวดเร็วจนมีชื่อเสียงและเคยถูกดำเนินคดีแต่ก็หลุดมาได้ เขาเคยเล่นทองและคอมโมดิตี้ เป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังและอื่น ๆ อีกมาก
เขาเคยรวยและ “จน” จนแทบล้มละลายครั้งหนึ่ง งานอดิเรกของเขาคือการเล่นหมากรุกและเขาเคยบริจาคเงินเพื่อกิจกรรมนี้หลายล้านบาท ดูเหมือนว่าเขาจะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้กลยุทธ์ในการต่อสู้เฉกเช่นเดียวกับที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชอบเล่นไพ่บริดจ์ ว่าที่จริงสเลเตอร์เองนั้นต้องถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เพราะเขาเกิดในปี 1929 ในขณะที่บัฟเฟตต์เกิดปี 1930 ถึงปัจจุบันนี้ ชื่อของสเลเตอร์ก็เลือนหายไปแล้วแต่หนังสือหลายเล่มที่เขาเขียนนั้นก็จะยังอยู่ในชั้นของนักลงทุนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยรวมถึงตัวผมเอง และ “หลักการของซูลู” ก็จะเป็นแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อไปอีกนาน
The Zulu Principle โดย : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อผม “เริ่มเดินทาง” สาย Value Investment อย่างจริงจังประมาณ 20 ปีมาแล้ว การอ่านหนังสือการลงทุนจากต่างประเทศ
เป็นกิจกรรมที่ผมทำอย่างเข้มข้น หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนโดยเฉพาะแนว VI ที่ “โด่งดัง” หรือเป็นหนังสือขายดีแบบ Best Seller แทบทุกเล่ม เช่นเดียวกับหนังสือ Classic ที่ยอดเยี่ยมและไม่ขึ้นกับกาลเวลานั้น ผมอ่านแทบทุกเล่ม หนึ่งในหนังสือที่ผมรู้สึกว่าอ่านง่ายและได้ความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากก็คือ “The Zulu Principle” หรือ “หลักการของซูลู” เขียนโดย Jim Slater นักลงทุนชื่อดังชาวอังกฤษ หนังสือเขียนมาตั้งแต่ปี 1992 แต่ผมอ่านเวอร์ชั่นของปี 1997 ปีที่ไทยเกิดวิกฤติทางการเงิน
แนวความคิดของ จิม สเลเตอร์ ที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ก็คือเขาต้องการที่จะแนะนำให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นคนชั้นกลางของอังกฤษหันมาลงทุนอย่างชาญฉลาดในตลาดหุ้นและมีความสุขกับมัน เขาบอกว่านักลงทุนรายย่อยทุกคนนั้น สามารถที่จะเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ในอุตสาหกรรมหรือหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ไม่ยาก และถ้าทำแบบนั้นแล้ว พวกเขานอกจากจะสามารถทำกำไรจากหุ้นที่เติบโตดีอย่างโดดเด่นมากแล้ว ยังจะมีความสุขจากกระบวนการลงทุนนั้นด้วย
ในหนังสือ The Zulu Principle นั้น จิม สเลเตอร์ บอกว่าเขาได้ความคิดจากภรรยา นั่นคือ ในวันหนึ่งภรรยาเขาได้อ่านบทความเกี่ยวกับชนเผ่าซูลูในแอฟริกาที่มีความโดดเด่นน่าสนใจมากจากหนังสือ Readers Digest และเพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ภรรยาเขาก็รู้เรื่องราวเกี่ยวกับซูลูมากกว่าตัวเขาเอง และทันใดนั้น เขาก็รู้สึกว่า ถ้าภรรยาเขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับซูลูทั้งหมดในห้องสมุดของท้องถิ่น หล่อนก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านของซูลูที่โดดเด่นในเมือง Surrey และถ้านางสเลเตอร์ตัดสินใจเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ ใช้เวลาซัก 6 เดือนศึกษาที่มหาวิทยาลัยโจฮานเนสเบิร์กและใช้เวลาบางส่วนในชุมชนอนุรักษ์ของชนเผ่านี้ หล่อนก็สามารถที่จะเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเกี่ยวกับชนเผ่าซูลูได้
จิม สเลเตอร์บอกว่า มันไม่ได้ใช้เวลามากมายนักที่จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ คนทั่วไปที่ใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงศึกษาบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตหรือขายสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมหนึ่งนั้น ในที่สุดก็จะรู้จักกับบริษัทและอุตสาหกรรมอย่างลึกซึ้ง และเขาก็จะไม่ตัดสินใจอะไรผิดพลาดได้ง่าย เขาจะรู้ว่าบริษัทไหนดีและบริษัทไหนไม่ดี บริษัทไหนจะประสบความสำเร็จในด้านไหนมากกว่าบริษัทอื่น เขาจะรู้ก่อนคนอื่นว่าบริษัทไหนจะมีข่าวอะไรดี ๆ ออกมา การที่คนพยายามศึกษาบริษัทต่าง ๆ ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมมากเกินไปนั้น สุดท้ายเขาก็จะไม่รู้อะไรอย่างจริงจัง วิธีที่ดีกว่าก็คือ พยายามจับแค่หนึ่งหรือสองอุตสาหกรรมก็พอ
นอกจากวิธีการเรียนรู้แบบซูลูแล้ว สเลเตอร์ยังบอกด้วยว่าการลงทุนในหุ้นนั้นเป็นทั้งเรื่องของการทำเงินที่งดงามและเป็นงานอดิเรกที่น่าสนใจในแง่ที่คุณจะได้รับความรื่นรมย์จากการใช้ความคิดและวิชาการ นอกจากนั้นเขายังแนะนำให้นักลงทุนเข้าร่วมใน Investment Club หรือชมรมการลงทุนที่ซึ่งแต่ละคนจะช่วยกันเลือกหาหุ้นจากประสบการณ์ของตน สเลเตอร์มองว่านักลงทุนรายย่อยนั้นมีข้อได้เปรียบบางอย่างเหนือนักลงทุนมืออาชีพ เนื่องจากมีเงินลงทุนน้อย ดังนั้น พวกเขาสามารถลงทุนในบริษัทเล็กและสามารถเลือกเฉพาะหุ้นที่ดีที่สุดสิบตัวได้ในขณะที่นักลงทุนมืออาชีพต้องซื้อหุ้นจำนวนมากที่ทำให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีมากได้
ในส่วนของการเลือกหุ้นนั้น สเลเตอร์แนะนำว่าเราควรลงทุนในหุ้นที่มี PE ต่ำ มีความได้เปรียบในการแข่งขันซึ่งอาจจะมาจากยี่ห้อของสินค้าที่โดดเด่นหรือมีสิทธิบัตรเฉพาะเช่นพวกยาเป็นต้น และเมื่อพบหุ้นเหล่านี้แล้วก็จะดูต่อไปว่าบริษัทมีการเติบโตที่โดดเด่นหรือไม่ ซึ่งความหมายของการเติบโตก็คือ บริษัทควรมี EPS หรือกำไรต่อหุ้นเติบโตในอัตราอย่างน้อย 15% ต่อปี และการเติบโตนี้ ในความเห็นของเขาก็คือ ควรมาจากการที่บริษัทสามารถ “Clone” หรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วซ้ำ ๆ เช่น เปิดร้านเครือข่ายเพิ่ม เปิดภัตตาคารเพิ่ม หุ้นที่ทำได้แบบนี้จะมีอนาคตที่น่าสนใจมาก ในส่วนของผู้บริหารของบริษัทนั้น สเลเตอร์ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถตัดสินความสามารถหรือความซื่อสัตย์โดยเฉพาะของบริษัทเล็กที่โตเร็วได้ ดังนั้น สิ่งที่เขาแนะนำก็คือ ให้เริ่มดูจากตัวเลขต่าง ๆ ของบริษัทก่อน โดยที่ กฎสำคัญเป็นดังต่อไปนี้:
หนึ่ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น บริษัทจะต้องกำไรทุกปีไม่มีข้อยกเว้น
สอง กำไรในช่วง 4 ปีหลังนั้นจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีและ EPS หรือกำไรต่อหุ้นปกติจากการดำเนินงานในปีล่าสุดจะต้องสูงสุด ซึ่งนี่จะเป็นสัญญาณว่าบริษัทกำลัง “เดินหน้า” จริง ๆ
สาม หุ้นอสังหาริมทรัพย์จะต้องถูกตัดออกเพราะว่ามันเป็นเรื่องของทรัพย์สินมากกว่าการเจริญเติบโต ทรัพย์สินนั้นอาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้แต่มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถของผู้บริหาร
สี่ หุ้นควรจะมีโบรกเกอร์วิเคราะห์ติดตาม และคำแนะนำจะต้องเป็น “ซื้อ” กฎข้อนี้มีขึ้นเพราะสเลเตอร์คิดว่านักลงทุนรายย่อยนั้นไม่สามารถที่จะได้ข้อมูลลึก ๆ ของบริษัท ดังนั้น การได้นักวิเคราะห์มาช่วยวิเคราะห์และคาดการณ์จะทำให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น
ห้า สเลเตอร์ค่อนข้างจะระมัดระวังเกี่ยวกับหุ้นวัฏจักรเช่นหุ้นรับเหมาก่อสร้างมาก ถ้าจะเป็นบริษัทที่โตเร็ว หุ้นพวกนี้จะต้องเข้าข่ายตามกฎทั้งหลายที่กล่าวมาด้วย ซึ่งนี่ก็มักจะทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ตกรอบไม่ถือว่าเป็นหุ้นเติบโตเร็ว
สุดท้ายก็คือ จิม สเลเตอร์ แนะนำว่าเราควรที่จะดูค่า PEG หรือค่า PE เมื่อเทียบกับการเจริญเติบโตของบริษัท นั่นก็คือ ค่า PE หรือระดับราคาหุ้นที่เราจ่ายเมื่อเทียบกับศักยภาพในการเจริญเติบโตของบริษัท โดยหุ้นที่น่าสนใจก็คือหุ้นที่มีค่า PEG ต่ำกว่า 1 เท่า โดยที่สเลเตอร์มองว่าหุ้นที่เรามองหาควรจะมีการเติบโตระหว่าง 15% ถึง 25% ต่อปี เพราะหุ้นที่โตเกินนี้จะเป็นการโตที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น ถ้ามองในแนวนี้ หุ้นที่มี PE เกิน 25 เท่าโดยทั่วไปก็จะไม่น่าสนใจในสายตาของสเลเตอร์
นอกจากเรื่องของตัวเลขดังกล่าวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สเลเตอร์แนะนำก็คือ เราควรหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในบริษัทที่ผู้บริหารใช้ชีวิตอย่าง “หรูหราฟู่ฟ่า” เกินไป ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารใช้รถหรูเบอร์ป้ายทะเบียนรถพิเศษ หรือถ้าผู้บริหารเข้าไปถือหุ้นค่อนข้างมากในสโมสรฟุตบอลนี่ก็จะเป็น “หายนะ” เพราะมันเป็นเรื่องของ “อีโก้” ที่ยิ่งใหญ่แต่มักเป็นกำไรที่ “จิ๊บจ๊อย”
จิม สเลเตอร์ เป็นนักลงทุนที่มี “สีสัน” ในตลาดหุ้นของอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะอายุประมาณ 40-50 ปี เขาเป็นนักเทคโอเวอร์ประเภทซื้อบริษัทมาแล้วตัดขายทรัพย์สินทำกำไรรวดเร็วจนมีชื่อเสียงและเคยถูกดำเนินคดีแต่ก็หลุดมาได้ เขาเคยเล่นทองและคอมโมดิตี้ เป็นนักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ชื่อดังและอื่น ๆ อีกมาก
เขาเคยรวยและ “จน” จนแทบล้มละลายครั้งหนึ่ง งานอดิเรกของเขาคือการเล่นหมากรุกและเขาเคยบริจาคเงินเพื่อกิจกรรมนี้หลายล้านบาท ดูเหมือนว่าเขาจะชอบกิจกรรมที่ต้องใช้กลยุทธ์ในการต่อสู้เฉกเช่นเดียวกับที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชอบเล่นไพ่บริดจ์ ว่าที่จริงสเลเตอร์เองนั้นต้องถือว่าเป็นคนรุ่นเดียวกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เพราะเขาเกิดในปี 1929 ในขณะที่บัฟเฟตต์เกิดปี 1930 ถึงปัจจุบันนี้ ชื่อของสเลเตอร์ก็เลือนหายไปแล้วแต่หนังสือหลายเล่มที่เขาเขียนนั้นก็จะยังอยู่ในชั้นของนักลงทุนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยรวมถึงตัวผมเอง และ “หลักการของซูลู” ก็จะเป็นแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อไปอีกนาน