เครือข่ายเหมืองแร่ค้านกฎหมายแร่ฉบับ คสช.

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/local/20141023/612953/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%8A..html




เครือข่ายเหมืองแร่ แย้งครม.เร่งรีบออกกฎหมายแร่ ให้อำนาจท้องถิ่นเอื้อประโยชน์นายทุน-คอรัปชั่น

จากที่คณะรัฐมนตรี ได้ประชุม ครม. และมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา

องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ที่ทำงานติดตามนโยบายการจัดการทรัพยากรแร่ และปัญหา การทำเหมืองแร่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน และองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ในนาม "เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ประเทศไทย" ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อการผ่านร่างกฎหมายแร่ดังกล่าว

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการผ่านร่างกฎหมายแร่ของครม. เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลประยุทธไม่ควรเร่งรีบฉกฉวยโอกาสผลักดันออกกฎหมายแร่ในขณะนี้ ควรจะมีการประเมินศักยภาพแร่ทั้งประเทศ ทุกชนิด ว่ามีปริมาณเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้าง และมีการใช้ประโยชน์อย่างไร แล้วประกาศให้สาธารณะทราบ และการกระจายอำนาจแบ่งประเภทการออกประทานบัตรตามร่างกฎหมายแร่ฟังเหมือนจะดูดี หากแต่เป็นการกระจายการคอรัปชั่นมาสู่ทุกกระบวนการ ซึ่งในอนาคตนายทุนจะวิ่งเข้าหาผู้ว่าฯ เข้าหาท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือปัญหาการทำเหมืองเรื่องผลประโยชน์ซึ่งประเทศชาติจะได้รับยังไม่มีความชัดเจน

"การเร่งรีบผ่านกฎหมายแร่มันไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังพูดถึงการปฏิรูปการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมจึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นให้ผ่าน อย่างน้อยก็ควรให้มีรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนก่อน และให้กฎหมายแร่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่างกฎหมาย" นายสุวิทย์ กล่าวและย้ำว่า

ในส่วนของเครือข่ายเหมืองฯ จะติดตามเนื้อหาของร่างกฎหมายแร่ร่วมกับ คปก. (คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) และจะมีการคัดค้านการออกกฎหมายแร่ในทุกกระบวนการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)

ด้านนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เลขานุการกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า เดิมทีการทำเหมืองแร่ทั้งหมดก็มีผลกระทบมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะแร่ทองคำ และพิกัดอัตราก็ไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่ครม. มีมติผ่านร่างกฎหมายแร่ จึงเห็นว่าจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ สามารถขออนุญาตได้เร็วขึ้น ปัญหาผลกระทบก็จะมีมากขึ้น สังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะเสื่อมโทรมเร็วขึ้นตามไปด้วย เหมือนกับที่นี่ที่ทหารกำลังเข้าควบคุมแร่ทองคำเพื่อให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น

เช่นเดียวกับนางสมหมาย หาญเตชะ ประธานกลุ่มคนรักษ์บ้านแหง พื้นที่การขอประทานบัตรเหมืองแร่ลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายแร่ ที่ครม.ผ่านความเห็นชอบ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายข้าราชการ ซึ่งจะทำให้กระบวนการอนุมัติ อนุญาตทำเหมืองง่ายขึ้น และหลบเลี่ยงการทำอีไอเอ หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หากยกตัวอย่างว่ามีการขอทีละ 100 ไร่ๆ หลายๆ แปลง โดยผู้ว่าฯ สามารถอนุมัติได้เลยมันก็จะกลายเป็นพัน เป็นหมื่นไร่ มีปัญหาผลกระทบตามมามากมาย

ส่วนนางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ชาวบ้านจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ซึ่งเป็นเหมืองใต้ดิน อยู่ระหว่างการยื่นคำขอประทานบัตรทำของผู้ประกอบการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ ก็มีสาเหตุมาจากการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ซึ่งปัจจุบันผลกระทบก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วรัฐบาลยังจะมาผลักดันกฎหมายแร่อีก ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมและไม่สมกับคำว่า "จะคืนความสุขให้กับประชาชน" และเมื่อรัฐบาลไม่ฟังเสียงของประชาชน พวกเราก็จะต่อสู้คัดค้านจนถึงที่สุด

โดยร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... เป็นการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยแร่ และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ทุกฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่หลายประเด็น อาทิ การลดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตให้สั้นลง ผู้ประกอบการสามารถรับบริการขออนุญาตทำเหมืองแล้วเสร็จในจุดเดียว หรือ One stop service กำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ใหม่และจัดสรรผลประโยชน์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งประเภทและการออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่ออกเป็น 3 ประเภท คือ การทำเหมืองประเภทที่ 1 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกินหนึ่งร้อยไร่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัดที่มีการทำเหมืองเป็นผู้ออกประทานบัตร การทำเหมืองประเภทที่ 2 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกินหกร้อยยี่สิบห้าไร่ ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นผู้ออกประทานบัตร และการทำเหมืองประเภทที่ 3 ได้แก่ การทำเหมืองในทะเลการทำเหมืองใต้ดินตามที่กำหนดในหมวด 5 การทำเหมืองที่ไม่ใช่การทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือการทำเหมืองประเภทที่ 2 ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ออกประทานบัตร ซึ่งปัจจุบันกฎหมายแร่ไม่ได้มีการแบ่งประเภทและรัฐมนตรีเป็นผู้ออกประทานบัตร



========================================================



ที่มา: http://www.prachatai.org/journal/2015/01/57552



แถลงการณ์
ข้อเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....
วันที่ 22 มกราคม 2558
ณ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชั้น 16 อาคารซอฟท์แวร์ปาร์ค



ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วพบว่าเนื้อหามีลักษณะในการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการสำรวจและทำเหมืองแร่มากยิ่งกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และชุมชนที่จะได้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ และคำนึงถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งกว่าการสงวนหวงห้ามและคุ้มครองพื้นที่ที่สำคัญต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงมิได้คำนึงถึงสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งๆ ที่ชุมชนและประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โดยตรง

และในวันนี้คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติแร่ขึ้นมาโดยได้นำข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนเข้ามาประกอบการยกร่าง ด้วยเนื้อหาที่มีมีลักษณะในการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน การมีแผนบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่สอดคล้องกับรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม การสงวนหวงห้ามและคุ้มครองพื้นที่โดยการห้ามสำรวจและประกอบกิจการในพื้นที่ป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ แหล่งมรดกทางธรรมชาติ เขตพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม และการสำรวจแร่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองที่ดิน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรม

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....ของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งในประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการยกร่างและเนื้อหาของร่างดังกล่าว อีกทั้งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นการพิจารณาออกกฎหมายซึ่งมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรที่จะรอให้มีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงเสียก่อน รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนการพิจารณาร่างกฎหมายแร่ดังกล่าว

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายตามรายชื่อด้านท้ายหนังสือฉบับนี้ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้

1. ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... โดยนำความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เข้าไปพิจารณาร่วมด้วย

2. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะทำงานร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ทั้งสองฉบับ (ร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรม และร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) โดยประกอบไปด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกา  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคประชาชน ในการพิจารณาทบทวนเนื้อหาโดยละเอียด

3. หลังจากดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว ขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่  ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่มีที่มาจากตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย :

1) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  
2) กลุ่มคนรักบ้านเกิด กรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย
3) กลุ่มคนรักบ้านเกิดอุมุง กรณีเหมืองแร่เหล็ก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
4) กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
5) กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ จังหวัดนครราชสีมา
6) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
7) กลุ่มรักทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
8) กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
9) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยม แม่ตาว จ.ตาก
10) กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
11) กลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได
12) กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
13) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
14) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก
15) เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง  
16) เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ  จังหวัดสงขลา
17) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
18) ชุมชนลุ่มน้ำสรอย จ.แพร่
19) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
20) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.)อีสาน
21) ศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่