หาดใหญ่-ก่อนที่สหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่จะมีกำไร

กระทู้สนทนา
ในปี 2511 หนี่งอำเภอหนึ่งสำนักงานในสมัยก่อน
แต่ละอำเภอต้องมี ปศุสัตว์ ที่ดิน เกษตร สรรพากร สรรพาสามิต และสหกรณ์
ทำให้ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล
ให้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในอำเภอหาดใหญ่สมัยนั้น
โดยมีกำนันสม รักวงษ์  ตำบลบ้านพรุ เป็นแกนนำ
ในการรวบรวมสมาชิกได้ 50 คน 100 คน
มาก่อตั้งสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่ขึ้นมา
ทิศทางการทำงานก็ไม่มี แผนก็ไม่มี
ทำอะไรก็ตามไปแล้วแต่จะคิดเองเออเอง
มีสหกรณ์อำเภอเป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง
บางคนก็เข้มงวด บางคนก็ปล่อยปละละเลย
ทำให้มีปัญหาในการบริหารงานภายในตลอดมา

ที่ทำการสหกรณ์ในตอนแรกก็ต้องไปเช่าบ้านชาวบ้าน
แถวโรงเรียนกิตติวิทย์ ตลาดใหม่  จันทร์วิโรจน์
จ่ายค่าเช่าเดือนละ 700 800 1,000 บาทต่อเดือนเป็นต้น
เรียกว่าที่ทำการถาวรไม่มี อยู่เหมือนสัมภเวสีเร่รอนไปเรื่อย
ผู้จัดการสหกรณ์ กับภารโรง ก็ทำงานไม่แตกต่างกันแต่อย่างใด
ลูกค้าก็แทบไม่มี หรือเรียกว่าเก้าอี้รับแขกมากกว่าลูกค้าในแต่ละวัน

ถ้าถามชาวบ้านว่าอยากตั้งสหกรณ์กันหรือไม่
ชาวบ้านส่วนมากแล้วบอกอยากตั้งขึ้นมา
เพราะถือว่ารัฐคุ้มครองตามมาตรา 84-85 ของกฎหมายสหกรณ์
แต่ที่อยากได้จริง ๆ คือ เงินกู้มากกว่า
เพราะคิดว่ากู้เงินหลวง  คงไม่ทวงคืนหรอก
แม้ว่าจะมีการถือหุ้นสมาชิกคนละ 5 หุ้น 10 หุ้นก็ตามแต่
แต่เงินทุนไม่เพียงพอในการปล่อยกู้เงินแต่อย่างไร
จึงขอใช้มติที่ประชุมใหญ่ให้กรรมการไปกู้เงินจากธนาคาร
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์สูงสุดได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท
เวลาลงมติที่ประชุมใหญ่  สมาชิกก็ตกลงอนุมัติ
เพราะต่างคนต่างอยากกู้เงินทั้งนั้น
แต่การกู้เงินในครั้งแรกไม่น่าจะกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท

กรรมการสหกรณ์ก็มีตั้งแต่ 9 11 13 15 คน
เวลาไปติดต่อธนาคารก็ต้องค้ำประกันเต็มวงเงินทุกคน
แต่เวลาทำงานจะมีเพียงผู้จัดการ พนักงานอีกไม่เกิน 2 คน
วิธีคิดแบบคนทั่วไปไม่ผิดอยู่แล้วคือ
สมมุติกู้เงินมาร้อยละ 10  แต่เวลาไปปล่อยกู้สมาชิกร้อยละ 15
ยังไง ๆ ก็กำไรอยู่แล้วไม่ขาดทุนแน่นอน
เพราะมีส่วนต่างอยู่ที่ร้อยละ 5

แต่ลืมปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนกู้ไม่ผ่อนชำระเลย
หรือโยกโย้เสียเวลาไม่มาติดต่อ สูญหาย หรือตายจากไปเลย
เพราะตอนได้เงินกู้จากธนาคารเกษตรและสหกรณ์
ก็ปล่อยให้ชาวบ้านที่เป็นสมาชิก  
แต่ก็อยากให้กู้เงินได้มากทุกคน
เลยปล่อยกู้รายละ 4,000 5,000 6,000 บาทต่อราย
หลักประกันแต่เดิมก็ไม่มี  ใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
มีคนค้ำประกันก็เหมือนไม่มี
เพราะเวลาติดตามก็บอกเซ็นต์ ๆ ไปอย่างนั้นเกรงใจมัน
ให้ช่วยติดตามหนี้ก็ไม่สนใจจะติดตาม
บอกกลัวมันโกรธ  กับเงินกู้เงินก้อนนี้เป็นของหลวง
อย่างไรหลวงก็ไม่ทวงคืนอยู่แล้ว

แต่ที่แน่ ๆ ธนาคาร ธกส.ทวงหนี้กรรมการที่ไปค้ำประกันแหยง ๆ
ทำให้กรรมการที่ไปค้ำประกันหนี้เครียดไปตาม ๆ  กัน
หัวดำกลายเป็นหัวหงอกไปเลยบางคน
กินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายคน
เหมือนภาษิตอยากเป็นหนี้ให้เป็นนายหน้า
อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน

รวมทั้งเวลาเรียกประชุมสมาชิกสหกรณ์
สหกรณ์อำเภอบางกับสหกรณ์
ในครั้งต้องบอกมีกระแช่ เหล้าขาว รออยู่
จะได้เรียกสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชายมาเข้าประชุม
แต่ก็ไม่ได้อะไรมากมายเพราะมัวเหลวไหลเมาโม้กันอยู่
เรื่องหนี้สินกับการจ่ายคืนเงินกู้ก็ไม่มีแต่อย่างใด
สหกรณ์จึงมีหนี้เสียทวีขึ้นเรื่อย ๆ
จนมีผลขาดทุนมาตลอดไม่มีปันผล
เรียกว่าสมาชิกขาดแรงจูงใจในการออมกับการจัดการ

กอปรกับสหกรณ์อำเภอเป็นข้าราชการ
มารับราชการไม่นานเกิน 4 ปี
ก็สับเปลี่ยนโยกย้ายคนกัน
การบริหารงานก็ไม่ต่อเนื่อง
หรือรับสืบทอดเรืองเดิมจากคนเก่าได้
มีปัญหาสั่งสมมาตลอด

ในปี 2521 ลุงลัภย์ หนูประดิษฐ์ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์หาดใหญ่
แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือบริหารงานแต่อย่างใด
จนกระทั่งปี 2525 กลุ่มที่ 12 สหกรณ์การเกษตรของบ้านคลองหวะ
เป็นที่ยอมรับกันในเรื่องความเข้มแข็ง
ได้รับรางวัลกลุ่มสหกรณ์ดีเด่นหลายครั้ง
ได้รับเครื่องพ่นยา  เครื่องกรองตะกงยาง มาหลายงานแล้ว

ในปี 2525 ทางอำเภอและสหกรณ์หาดใหญ่
จึงได้เชิญให้เป็นกรรมการสหกรณ์
แต่ไม่มีบทบาทอะไรไปนั่งดูการทำงานเฉย ๆ
เพราะไม่มีงานทำและความคึกคักแต่อย่างใด
กิจการก็ยังขาดทุนอย่างสม่ำเสมอ
แม้ว่าจะมีการออมโดยหุ้นทุกเดือนก็ตามแต่
บางคนก็ไม่อยากออมแล้วเพราะขาดทุนตลอด
กรรมการก็แก่ก็เฒ่าบางคนก็ตายไปแล้ว
บางคนก็หงอยเหงา ซีมเซา ทำงานซังกะตายไป
ภาษาใต้เรียกว่าใกล้ตายบาทว์หรือโรคห่าลง
เพราะธรรมดาธุรกิจถ้าขาดทุนก็ขาดกำลังใจ
ไม่มีใครอยากทำอยากแตะต้องแต่อย่างใด
ทำอะไรลงไปเดี๋ยวก็เข้าเนื้ออีก

ในปี  2527 สรุปผลงานประจำปีสหกรณ์
ปรากฏว่าขาดทุนอยู่ 420,000 บาท
จากทุนเรือนหุ้น 620,000 บาท
สมาชิกตั้งแต่ปี 2511-2527 มีเพียง 700 คนเอง
ปันผลก็ไม่มี กำไรก็ไม่มี มีแต่ขาดทุน
เลยมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรดี
คิดว่าจะขายที่ทำการสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่
ที่ซื้อที่ดินจากหมอซิ่ว(ยาสมุนไพร) หาดใหญ่ใน
ที่ดินกว้าง 12 เมตรลึก 40 เมตร ติดกับบ้านพักนายอำเภอหาดใหญ่
ถ้าขายก็คงจะได้สัก 10 ล้านแล้วชำระหนี้เงินกู้คืน

เพราะสหกรณ์มีทุนจมตั้งแต่กู้ซื้อที่ดิน กู้สร้างอาคาร
เรียกว่ากู้มาจ่ายดอกเบี้ยเป็นต้นทุนทั้งนั้น
ขายได้เงินแล้วจะไปซื้อที่ดินถูก ๆ แถวหาดใหญ่ใน
ตอนนั้นยังแปลงละไม่เกิน 3- 4 -5 หมื่นบาท แพงสุดก็ 1 แสนบาท
แล้วลงทุนสร้างอาคารไม่เกินซัก 2 ล้านก็ยังมีกำไรมีปันผล
แต่คิดในมุมกลับขาดทุนสะสมมาหลายปียังไม่เป็นไร
แล้วจะขายอาคารที่ทำการไปทำไมเช่นกัน

แต่โชคดีในปี 2527 สหกรณ์อำเภอ นาย สุนทร บุญใส
ที่ย้ายมาจากอำเภอร่อนพิบูลย์  มีศักดิ์เป็นน้องเขยลุงลัภย์
แกเป็นนักคิด นักกลอน คนขยัน
รวมทั้งพาแกไปหาบ้านเช่าราคาถูกที่บางหักใกล้อำเภอด้วย
แกชอบนั่งที่สำนักงาน ปัดกวาดขยะ ทักทายชาวบ้านทั่วไป
เวลาแขกใครไปมา แล้วชอบตั้งโหลยาดองไว้ที่สหกรณ์
ไว้เรียกแขกเสมอ มีการกินกันจนบางคนเป็นแผลพุพอง
เพราะกินนอนเมาแล้วนอนที่สหกรณ์ไปหลายคนเช่นกัน

ขณะเดียวกันก็สนิทสนมกับลุงลัภย์
ชอบชวนกันนั่งรถจักรยานยนต์ออกพื้นที่
ไปเยี่ยมเยียนกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ
เรียกว่าติดสอยหอยตามกันไป
พบปะกับสมาชิกในกลุ่มต่าง ๆ
มีการพูดคุยทักทายแล้วพูดเรื่องสหกรณ์
แล้วตามด้วยเรื่องการถือหุ้น การกู้เงิน การชำระหนี้

ในช่วงแรก ๆ ลุงลัภย์ก็สะสมความรู้ไปเรื่อย
ต่อมาก็ขอฉายเดี่ยวในกลุ่มชาวบ้าน
แล้วให้สหกรณ์ไปถามชาวบ้านภายหลังว่า
ที่ลุงลัภย์พูดมาถูกหรือไม่  ชาวบ้านก็บอกว่าถูก
แต่ถ้าผิดก็ขอให้สหกรณ์อำเภอเงียบ ๆ ไว้ก่อน
หลังจากออกจากลุ่มชาวบ้านแล้วค่อนชี้แนะเป็นการส่วนตัว
จะได้กลับไปบอกชาวบ้านว่าเรื่องเดิมผิดอย่างไร
เรื่องใหม่ที่รู้มาเป็นอย่างไร จะได้เป็นอันเข้าใจกันนะ

ต่อมาจึงเริ่มมีการเจรจาตกลงให้ชาวบ้านเริ่มผ่อนหนี้บ้าง
สัก 10 100 500 บาทจ่ายดอกเบี้ยก่อน เงินต้นจ่ายบ้าง
หรือค้างเงินต้นไว้ก่อน จ่ายดอกเบี้ยเก่าให้หมดแล้วค่อยจ่ายเงินต้น
หรือล้างไพ่ใช้เงินต้นใหม่รวมดอกเบี้ยเริ่มผ่อนใหม่เป็นต้น
ทีละเล็กทีละน้อยบางรายหนี้เก่าค้างนานมากแล้ว
เงินต้น 5 พัน ดอกเบี้ย 6 พัน เรียกว่าไม่รู้ผ่อนไปทำไม
แต่ขอให้ค่อย ๆ ผ่อนก็ยอมรับและฐานะการเงินเริ่มดีขึ้นบ้าง

ส่วนเรื่องเดิมที่ถามว่าทำไมไม่ผ่อนเงินกู้บ้าง
พอถามชาวบ้านก็อ้างว่า คนอำเภอบอกไม่เป็นไร
ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าเป็นคนอำเภอ
ชาวบ้านบอกแต่งชุดสีกากี มีเครื่องหมาย
เลยต้องเน้นเรื่องวินัยทางการเงินและความรับผิดชอบ
รวมทั้งเล่าถึงความเครียดกรรมการ  จะการจ่ายปันผลถ้ากำไร
แต่คงยากในการทำความเข้าใจ เพราะสหกรณ์ขาดทุนตลอดมา

เลยมีความคิดว่าควรจะมีการประชุมปีละ 3-4 ครั้ง
เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องสหกรณ์ให้มากกว่านี้
แต่ก็มีคนมาประชุมน้อยเพราะบอกเสียเวลา
จะไปเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย จับปลา รับลูกเป็นต้น
เวลาไม่ตรงกันบ้าง  หรือรอเจ้านายมาเปิดประชุมช้า
เป็นปัญหาในเรื่องการเรียกประชุมกันตลอด
ต้องหลอกล่อว่ามีหวาก(กระแช่) มีเหล้าขาว
จึงจะมีคนมาประชุมพอได้ในแต่ละครั้ง

ต่อมาทางสหกรณ์อำเภอมีการตรวจสอบสมาชิกกันจริงจัง
ปรากฎว่ากลายเป็นคนตายคนสาปสูญร่วม 200 คน
ทำให้การประชุมสมาชิกไม่ครบหรือมีปัญหาจ่ายเงินกู้
จึงต้องมีการปรับปรุงฐานข้อมูลใหม่ให้ตรงกับปัจจุบัน
แล้วติดตามทวงถามหนี้เท่าที่จะทำได้

เมื่อคิดว่ารูปแบบการออมเงิน
ของกองทุนสัจจะออมทรัพย์ของคลองหวะ
ไม่น่าจะมีปัญหาอย่างไร เงินกู้เท่ากับเงินฝาก
รวมทั้งบางหมู่บ้านมีเงินฝากสัจจะวันละหนึ่งบาท
ใส่เงินวันละหนึ่งบาทใส่กระบอกไม้ไผ่
พอถึงวันออมก็ผ่ากระบอกไม้ไผ่นับเงินฝากกัน
แล้วมาออกเงินกันในกองทุนสัจจะออมทรัพย์
แต่ในเมืองคงไม่ต้องทำแบบนี้นำเงินมากฝากได้เลย

ต่อมาไม่นานตำบลนาหม่อมได้แยกออกเป็นกิ่งอำเภอ
กำนันเศวต เลยฝากลุงลัภย์ดูแลสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่ด้วย
แกจะไปสานต่อและทำสหกรณ์เกษตรที่นาหม่อม
แต่จะระมัดระวังเรื่องการกู้เงิน จะให้กู้เงินมากกว่าเงินฝากไม่ได้
หรือหุ้นที่ฝากไม่ได้  เพราะถ้าเป็นเงินของตนเอง
คนเรามักจะหวงแหนมากกว่า
การได้เงินคนอื่นหรือไม่ใช่เงินของชาวบ้านเอง
รวมทั้งถ้าชาวบ้านรู้ว่าเป็นเงินของตนส่วนหนี่งด้วย
ก็จะระมัดระวังและช่วยกันติดตามทวงถามซึ่งกันและกัน
ผลการประกอบการแบบนี้ทำให้สหกรณ์นาหม่อม
มีเงินฝาก 2,000 ล้านบาท ได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นในสงขลามาตลอด

มีวันหนี่งขณะนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์สหกรณ์เกษตร
ลุงลัภย์เลยคิดขึ้นมาได้ว่า น่าจะมีการออมวันละหนึ่งบาท
โดยเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อยขยายออกไปจะดีหรือไม่
เพราะในคลองหวะก็มีการออมเงินแบบนี้แล้ว
สหกรณ์เลยบอกไปแนะที่อื่นทำ
แต่ทำไมไม่ลองทำเองบ้างที่หาดใหญ่ละ
จึงเริ่มโครงการออมวันละหนึ่งบาทในกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน

มีกลุ่มหนึ่งที่บ้านแหลมโพธิ์มีสมาชิกแรกเริ่มไม่เกิน 5 คน
บอกว่าไม่ไหวผมทุกเดือนเอาเงินมาออมที่อำเภอ
ค่ารถยนต์ไปกลับ 60 บาท มาฝากเงินเพียง 30 บาท
ขาดทุนแน่นอนทุกครั้งที่มาฝากเงินออม
เลยมาคิดกันในสหกรณ์ว่าจะทำอย่างไร
ขอช่วย ๆ กัน ตอนนี้เวลาไปประชุมกลุ่ม
หรือไปรับฝากเงินตามกลุ่มย่อยอย่าเบิกเบี้ยเลี้ยง
เพราะสหกรณ์ยังขาดทุนอยู่  ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี
และบอกว่าไว้สหกรณ์มีกำไรก็จะจ่ายเงินตามอัตรา
จึงเริ่มมีบริการไปรับเงินฝากชาวบ้านแหลมโพธิ์
โดยให้กำหนดวันที่แน่นอนและที่ไปเก็บเงิน
อาจจะเป็นบ้านใครหรือศาลาที่ไหนสักแห่ง
ก็เริ่มไปเก็บเงินตามนั้นก่อนขยายไปที่ต่าง ๆ

มีอีกที่หนึ่งคือที่คลองหอยโข่ง
ในช่วงแรกมีสมาชิกเพียง 3  คน
แต่เวลาผู้จัดการหรือพนักงานไปเก็บเงินมี 3 คน
บางครั้งจำนวนคนมากกว่าสมาชิกที่มาฝากเงิน
เลยมีการพูดกับหัวหน้ากลุ่มที่นั้นว่า
อย่าให้อายต๊ะ  ผู้จัดการใหญ่จะมาแล้ว
อย่าให้คนน้อยกว่าที่มาเก็บเงินละ
หัวหน้ากลุ่มจึงไปเชิญชวนคนมาฝากเงินเพิ่มขึ้น
จนเพิ่มเป็นร้อยกว่าคนในที่สุด

ต่อมาสมาชิกสหกรณ์มีจำนวนมากขึ้น
พอที่จะเป็นฐานเสียงนักการเมืองได้
นายถาวร เสนเนียม ได้มาพุดคุยที่สหกรณ์
และสอบถามจะให้ช่วยเหลืออะไรบ้าง
ทางสหกรณ์บอกมีปัญหาเวลาไปเก็บเงินชาวบ้านหลายแห่ง
กลุ่มละ 20 30 คนต่อมาทยอยมากขึ้น ๆ จนหลายร้อยคน
ต้องจัดเวรแบ่งเป็นวันเวลาออกไปเก็บเงินตามที่ต่าง ๆ
ถ้าไปรถจักรยานยนต์ลำบากมาก
เลยได้มอบรถยนต์ให้มาหนึ่งคันทำให้สะดวกมากกว่าเดิม
ชาวบ้านเลยเทคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปปัตย์เพิ่มขึ้นอีก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่