อำนาจที่เพิ่มขึ้นของ "ศาลรัฐธรรมนูญ"

อำนาจที่เพิ่มขึ้นของ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’
อำนาจที่เพิ่มขึ้นของ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ : ขยายปมร้อน สำนักข่าวเนชั่น โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ
              เรียกได้ว่าข้อถกเถียงของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีออกมาได้เรื่อยๆ และบางครั้งดูเหมือนแนวคิดหรือกระทั่งตัวร่างเบื้องต้นที่ออกมาดูจะขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทั่วไปไม่ใช่น้อย
              อย่างเช่นช่วงที่ผ่านมา ก็ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการกำหนดว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากคนที่เป็น ส.ส. หรือที่เรียกกันว่าเป็นนายกฯ คนนอก และแน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นข้อครหาที่ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ใครบางคนก้าวเข้าสู่อำนาจโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งหรือไม่
              และล่าสุดสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราแค่วันแรกก็ร้อนฉ่าเสียแล้ว เพราะมีการร่าง มาตรา 7 เพิ่มเติม ซึ่งแต่เดิมรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มานั้น เขียนเอาไว้เพียงว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
              ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นบทบังคับมาตรฐานของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นหลักในการเขียนกฎหมายทั่วไป  เป็นการเขียนเพื่อเปิดช่องเผื่อคนร่างรัฐธรรมนูญเขียนอะไรไม่ครอบคลุมก็ให้คำนึงถึงหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนำมาปรับใช้
              แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีคนสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น มีความพยายามนำประเทศเข้าสู่ทางตันไม่ให้เดินหน้าไปได้ ทั้งๆ ที่ยังพอจะมีทางเดินไปได้ และสุดท้ายก็มีการเรียกหาการแก้ไขวิกฤติจาก วิธีการ "นอกรัฐธรรมนูญ" และบอกว่านี่เองเป็นเรื่องที่ไม่มีบทบัญญัติเอาไว้
              ที่ผ่านมามีการอ้างถึง "นายกฯ มาตรา7" แม้จะมีหลายคนออกมาการันตีว่าเป็นไปไม่ได้ตามหลักกฎหมาย หรือไม่เข้าหลักกฎหมาย แต่ก็มีคนพยายามตีความให้เข้าอย่างที่ตัวเองคิด ด้วยเหตุดังกล่าวกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงเขียนเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวว่า
              ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีและเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
              แปลภาษากฎหมายอย่างง่ายๆ ว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาดว่าอะไรที่เป็น "ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
              และแปลความให้ง่ายกว่านั้นว่า อะไรที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีอำนาจที่จะ "เขียน" ขึ้นมาใหม่
              กรรมาธิการยกร่างฯ ยอมรับว่าการร่างขึ้นมาแบบนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเสนอขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นการกำหนดเป็นกรณีให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยเพื่อแก้ปัญหา ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงที่จะเกิดกรณีดังกล่าว
              แต่การเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้เป็นการนำวิธีที่ไม่เคยอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ให้เข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญที่บอกว่าพยายามจะเป็นประชาธิปไตย และสร้างองค์กรแห่งหนึ่งให้มีอำนาจเหนืออำนาจอื่น ซึ่งอาจจะมีอำนาจเหนืออำนาจเหนือสามอำนาจอธิปไตยอย่าง "นิติบัญญัติ-บริหาร -ตุลาการ" ขึ้นมา
              มิพักต้องพูดถึงคำถามที่ตั้งถึงความเป็นกลางและการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่
              ยิ่งย้อนกลับไปดูย่างก้าวที่ผ่านมาแล้วหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดใหม่นี้จะคล้ายคลึงกับบทบาทของ "อภิรัฐมนตรี" ที่เคยหยิบมาพูดถึงในวงสัมมนาของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมี "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นเลขาธิการอยู่
              เรื่องนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่ได้คิดและวางไว้แล้วนั่นเอง

http://www.komchadluek.net/detail/20150114/199434.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่