กินมะเขือเทศ (และน้ำมะเขือเทศ) แล้วจะช่วยให้ผิวขาวใส บริ๊งๆ จริงหรือไม่?



ช่วงนี้มีเทรนด์อันนึงมาแรงมาก ถามกันเข้ามาที่เพจเยอะเหมือนกันค่ะ ว่า
"กินมะเขือเทศ (และน้ำมะเขือเทศ) แล้วจะช่วยให้ผิวขาวใส บริ๊งๆ จริงหรือไม่?"
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า No conflict of interest ค่ะ ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับบริษัทใดๆ เกี่ยวกับมะเขือเทศทั้งสิ้นค่ะ
--
มะเขือเทศเป็นพืชที่มีสารสำคัญที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ เป็นสารพฤกษเคมีเรียกว่าไลโคพีน (Lycopene) ค่ะ ไลโคพีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง อยู่ในประเภทแคโรทีนอยด์ (เช่นเดียวกับเบต้าแคโรทีนในแครอท ฟักทอง อะไรงี้ค่ะ) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ แต่ตัวไลโคพีนกลับไม่แสดงคุณสมบัติของการเป็นอนุพันธุ์ของวิตามินเอนะคะ
มีการศึกษาพบว่า การกินมะเขือที่แปรรูป หรือผ่านความร้อนแล้ว ร่างกายจะได้รับไลโคพีนมากกว่าการกินมะเขือเทศสด เนื่องจากผ่านความร้อนจะทำให้องค์ประกอบของผนังเซลล์ของมะเขือเทศถูกทำลาย ทำให้การปลดปล่อยไลโคพีนออกมามีมากขึ้น รวมถึงไลโคพีนเองเป็นสารที่ละลายในไขมัน ดังนั้นการกินมะเขือเทศพร้อมกับไขมันหรือน้ำมันจะทำให้การดูดซึมไลโคพีนมากขึ้นค่ะ (ซึ่งเป็นคนละกรณีกับวิตามินซี ซึ่งพบในมะเขือเทศได้เช่นกัน แต่ถูกทำลายได้ง่ายโดยความร้อนค่ะ)
(Kamiloglu S et al. J Sci Food Agric. 2014.)(ฤrranz s et al. Food Chem. 2014.)
ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้แหละค่ะ ทำให้ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ (ง่ายๆ คือน้ำมะเขือเทศ) ได้รับความสนใจ เพราะปกติผักผลไม้แปรรูปแล้ว มักจะไม่ค่อยเหลือวิตามินหรือสารต้านอนุมูลอิสระเท่าไหร่ค่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนคงรู้กันหมดอยู่แล้วตามที่อารัมภบทด้านบน คำถามคือ แล้วมันช่วยให้ขาวใส บริ๊งๆ จริงมั้ย ขอตอบอย่างนี้ค่ะ
การศึกษาทางคลินิกในมนุษย์ (ป้าขอยกแต่ Human Clinical Trial นะคะ เพราะการทดสอบในหลอดทดลองหรือหนูทดลองยังเอามาใช้ยืนยันกับคนไม่ได้ค่ะ) เกี่ยวกับมะเขือเทศ ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ และไลโคพีน จะอาศัยคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระมาเกี่ยวข้องซะเยอะค่ะ เพราะเราพบว่าการกินมะเขือเทศ/ผลิตภัณฑ์ สามารถเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของเซลล์ รวมถึงลดการอักเสบได้ค่ะ
(Porrini M et al. Br J Nutr. 2005.) (Jacob K et al. Br J Nutr. 2008.)
ที่ค่อนข้างมีคนสนใจเยอะคือ การกินมะเขือเทศกับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย มีการศึกษาที่รวบรวมงานวิจัยอื่นมาวิเคราะห์อีกที พบว่า ผู้ชายที่กินมะเขือเทศมากกว่า จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็มีข้อจำกัดนิดนึง คืองานวิจัยที่เค้ารวบรวมมา เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจค่ะ (ซึ่งความน่าเชื่อถือมันก็จะน้อยกว่างานวิจัยที่เป็นการเปรียบเทียบผลในคนแบบสุ่ม หรือที่เรียกว่า Randomized Control Trial; RCT ค่ะ) พอเรามาดูเฉพาะ RCT ซึ่งจะต้องใช้การวัดระดับไลโคพีนแทน (เพราะเราจะทำ RCT ให้คนกินมะเขือเทศโดยไม่รู้ว่ากินมะเขือเทศ คงยากค่ะ) โดยการให้กิน Lycopene Supplement เรากลับพบว่ามันไม่มีผลแต่อย่างใดค่ะ เพราะงั้น ในแง่นี้ เราคงต้องบอกว่า กินมะเขือเทศหรือผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ น่าจะดีกว่ากินสารสกัด Lycopene ค่ะ
(Etminan M et al. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev. 2004.) (Ilic D et al. Cochrane Database Syst Rev. 2011.)
จริงๆ มีเรื่องเกี่ยวกับมะเขือเทศและระบบหัวใจและหลอดเลือดอีก แต่ป้าขี้เกียจเล่า เดี๋ยวยาว ขอสรุปเกี่ยวกับผิวเลยนะคะ
ต้องบอกว่า แม้เราจะพบว่าไลโคพีนมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระมาก แต่งานวิจัยที่ทดสอบเรื่องไลโคพีนกับผิวหนังในมนุษย์กลับมีไม่เยอะค่ะ และเท่าที่เห็น ยังไม่มีงานวิจัยที่รวบรวมงานวิจัยชาวบ้านมาอีกที (ซึ่งตรงนี้หลักฐานแน่นสุด) ป้าเลยต้องขอเลือกงานวิจัยเอามาเล่าให้ฟังกันนะคะ
จากที่ลอง Search ดู ป้าเจออยู่ 3 งานวิจัยที่ทดสอบในมนุษย์ คือ
(Stahl W et al. J Nutr. 2001.) (Aust O et al. Int J Vitam Nutr Res. 2005.) (Rizwan M et al. Br J Dermatol. 2011.)
ทั้ง 3 งานวิจัยเป็นงานวิจัยขนาดเล็กค่ะ ทำในคน 22, 20 และ 36 คนตามลำดับ ซึ่งด้วยจำนวนแค่นี้จริงๆ น้อยไปสำหรับการสรุปผลอย่างชัดเจนค่ะ แต่ละงานวิจัยก็ให้กินมะเขือเทศในรูปแบบที่ต่างกัน งานแรกให้กิน Tomato paste 40 กรัม (ให้ไลโคพีน 16 มิลลิกรัม) งานที่สองให้กิน Tomato paste 55 กรัม (ให้ไลโคพีน 16 มิลลิกรัมเช่นกัน) ส่วนงานที่สามแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินแคปซูลไลโคพีนสังเคราะห์ กลุ่มสองให้กินแคปซูลมะเขือเทศสกัด กลุ่มสามให้กินน้ำมะเขือเทศค่ะ (ซึ่งให้ไลโคพีนใกล้เคียงกัน ประมาณ 8-10 มิลลิกรัมต่อวัน)
ทั้งสามงานวิจัยให้ผลใกล้เคียงกันค่ะ คือ กลุ่มที่ได้รับมะเขือเทศหรือผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ ช่วยลดความรุนแรงของการเกิด erythema หรือผิวแดงหลังจากถูกแสง UV ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับมะเขือเทศค่ะ แต่โน๊ตไว้ในงานที่สาม เราพบว่ากลุ่มที่ได้สารไลโคพีนสังเคราะห์ ไม่พบผลป้องกันได้ค่ะ ทางผู้วิจัยเค้าเลยให้ข้อเสนอแนะว่า ที่การกินมะเขือเทศกับการกินไลโคพีนต่างกัน เพราะในมะเขือเทศก็มีสารอื่นอีกมากมายที่อาจจะทำงานร่วมกับไลโคพีน ทำให้เกิดผลในการป้องกันผิวหนังได้ค่ะ
สรุปคือ ดูเหมือนว่าการกินมะเขือเทศ/ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ อาจจะช่วยป้องกันผิวหนังจากการได้รับอันตรายจากแสง UV ได้เล็กน้อยค่ะ ว่าง่ายๆ คือเหมือนทา Sunblock จากภายในนั่นเอง ซึ่งด้วยคุณสมบัตินี้ อาจจะ ทำให้ผิวขาวขึ้นได้ ในผู้ที่ถูกแดดจนทำให้ผิวเกิดความเสียหายและมีสีเข้มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเมลานินที่ถูกกระตุ้นโดยแสงแดดค่ะ แต่ไม่ต้องหวังเยอะนะคะ เพราะในงานวิจัยเอง ผิวมันก็ไม่ได้ดีขึ้นแบบพลิกฝ่าเท้าเป็นหน้ามือขนาดนั้นค่ะ แต่ถามว่าดีขึ้นมั้ย ก็ดีขึ้นค่ะ
แต่สำหรับผู้ที่ขาวอยู่แล้ว (เพราะแทบไม่โดนแดด) หรือผิวหนังสีเข้มเพราะสีผิวตามธรรมชาติที่ไม่เกี่ยวกับการโดนแสง UV การดื่มน้ำมะเขือเทศคงไม่สามารถทำให้ผิวขาวมากไปกว่าเดิม หรือเปลี่ยนสีจากสีเข้มเป็นสีขาวอมชมพูได้ดั่งใจหวังค่ะ
และป้าต้องบอกว่า การศึกษาที่ยกมานี่ก็ยังไม่ใช่การศึกษาที่ดีมากนะคะ ยังมีหลายประเด็นที่ไม่ได้ครอบคลุมทำให้คุณภาพงานวิจัยอาจจะไม่ได้ดีเลิศ (แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เราเห็นแนวโน้มเล็กน้อย) ทำให้เรายังฟันธงไม่ได้ค่ะ ยังคงต้องมีงานวิจัยทีมากกว่านี้ถึงจะสรุปผลอย่างชัดเจนได้ค่ะ
แต่ด้วยความที่ประโยชน์นอกเหนือจากเรื่องผิวของมะเขือเทศ/ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ มันก็มี ดังนั้น ถ้าถามว่า แล้วจะกินดีมั้ย ถ้าเป็นมะเขือเทศสด ดีค่ะ กินไปเถอะค่ะ ยังไงเราก็ถือเป็นผักชนิดหนึ่ง ส่วนถ้าเป็นผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ เช่น ซอสมะเขือเทศ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมะเขือเทศ ป้าก็จะบอกว่า ก็พอรับได้ค่ะ แต่คงต้องดูปริมาณน้ำตาล ปริมาณโซเดียม ในแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วย ถ้ารวมแล้วทั้งวันไม่ได้มากเกินไป การดื่มน้ำมะเขือเทศเป็นประจำก็ดูจะโอเคค่ะ แต่ถ้าใครหวังจะดื่มเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ขาวบริ๊งๆ (มีมาแล้วค่ะ คนไข้ป้า ดื่มน้ำมะเขือเทศที่ใส่น้ำตาลเยอะพอสมควร วันละประมาณลิตรนึง) ป้าคงต้องขออนุญาตบอกว่า ก่อนจะขาว อาจจะได้น้ำตาลเกินแทน กลายเป็นอ้วนแทนไปก่อนได้ค่ะ
และสำหรับคนที่กินมะเขือเทศไม่ได้ จะแหวะจริงๆ ข่าวดีคือ ผลไม้อย่างอื่นก็มีไลโคพีนค่ะ เช่น มะละกอ แตงโม ค่ะ
สุดท้าย ก่อนจบ ต้องบอกว่า
ผิวสวยแล้ว อย่าลืมทำให้ใจสวยด้วยนะคะ

cr : เมื่อวานป้ากินอะไร
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่