[Loser Voice] “มนุษย์กล้อง” เลวร้ายจริงหรือ?

[Loser Voice] “มนุษย์กล้อง” เลวร้ายจริงหรือ?
.
By : TonyMao_NK51
E-Mail : tonymao_nk51@hotmail.com
Facebook : TonyMao Nk
.
.
สมกับที่เป็นยุค “ใครๆ ก็ทำสื่อได้” จริงๆ เพราะทุกวันนี้ในโลกออนไลน์มีคำศัพท์ใหม่ๆ วลีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะบรรดา “สารพัดมนุษย์” ทั้งมนุษย์ป้า มนุษย์ลุง มนุษย์แม่ มนุษย์เพื่อน ฯลฯ รวมถึง “มนุษย์กล้อง” ที่หมายถึงคนที่เจออะไรไม่ได้ ต้องหยิบมือถือที่ถ่ายรูปได้มาถ่ายภาพนิ่งบ้าง วีดีโอคลิปบ้าง แล้วก็เอามาแชร์กันบนโซเชียลมีเดีย เรียกไลค์เรียกคอมเมนต์กันไป
.
จนวันหนึ่ง..ก็เริ่มมีคนตั้งคำถามว่า “ตกลงแล้วบรรดามนุษย์กล้องเหล่านี้ ควรได้รับการยกย่องจริงๆ หรือเปล่า?” เพราะหลายเหตุการณ์ที่มีการแชร์กัน แม้จะเป็นเรื่องจริงจนสื่อหลักนำไปขยายความต่อเพื่อหาต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่า “แทนที่จะเอาแต่กดถ่ายภาพถ่ายคลิป ทำไมไม่เข้าไปช่วยเขา?” เช่น คลิปผู้หญิงหรือเด็กถูกทำร้าย หรือคลิปที่พระไปตบฝรั่ง เพราะเข้าใจผิดว่าฝรั่งไปด่าพระ ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการเป็นมนุษย์กล้องของบางคน ดังก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลที่ถูกพาดพิงเสียอีก เช่น กรณีหนุ่มรายหนึ่งบนรถไฟฟ้า ถูกถ่ายภาพมาประจาน โดยคนถ่ายเข้าใจว่าหนุ่มรายนี้ซ่อนกล้องรูเข็มไว้ในรองเท้า เพื่อแอบถ่ายใต้กระโปรงสุภาพสตรี กระทั่งในเวลาต่อมา กลายเป็นเรื่อง “คดีพลิก” เพราะรูเล็กๆ ในรองเท้าที่คล้ายกับรูซ่อนกล้อง จริงๆ แล้วเป็นเพียงรูรองเท้าที่ขาด เพราะสภาพเก่าเท่านั้น แต่ผลกระทบคือ ชายคนนี้ถูกสังคมรอบข้างเกลียดชัง เพราะความเข้าใจผิดไปเสียแล้ว
.
ก่อนอื่น..ผมคงต้องขอทุกท่านไว้ ว่าอย่าได้เหมารวมว่าบรรดามนุษย์กล้องคือคนเลวร้าย สักแต่อยากแชร์เพื่อเรียกยอดวิว-ยอดไลค์อย่างเดียว ประการแรก ต้องยอมรับก่อนว่าสังคมสมัยนี้ มันหาความไว้วางใจได้ยากจริงๆ โดยเฉพาะเจ้ากล้องแอบถ่ายนี่มีทุกรูปแบบ นาฬิกา สร้อยคอ ปากกา แต่พวกนี้ยังเด็กๆ เมื่อเทียบกับบรรดากล้องรูเข็มที่สามารถเอาไปซ่อนไว้ตามจุดต่างๆ เช่นปลั๊กไฟ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ รวมถึงรองเท้า ยังไม่นับแอพพลิเคชั่นมือถือบางแอพฯ ที่สามารถใช้โหมดถ่ายวีดีโอได้โดยไม่โชว์การทำงานขึ้นบนหน้าจอ ( อันนี้ผมไม่ชี้ช่องนะครับ แต่มันมีจริงๆ )
.
ประการต่อมา กรณีเมื่อใครสักคนหนึ่งเห็นคนอื่นกำลังถูกทำร้าย แล้วบรรดา “กองเชียร์หน้าจอ” ก็กระแนะกระแหนกันตลอดว่าดีแต่ถ่าย ไม่ยอมเข้าไปช่วย ใจดำมาก ฯลฯ ตรงนี้คงต้องย้อนถามบรรดาคนที่ว่าคนถ่าย ว่า “คุณกลัวเจ็บ-กลัวตาย-กลัวพิการหรือเปล่า?” และต้องถามต่อไปว่า “ถ้าเขาเจ็บ-เขาตาย-เขาพิการ ใครจะดูแลเขา? และใครจะดูแลคนข้างหลังของเขา?” เพราะต้องไม่ลืมว่า การต่อสู้ในชีวิตจริง คือการแลกเอาเลือด เอาเนื้อ และเอาชีวิตเป็นเดิมพันจริงๆ ชนิดที่ถ้าเป็นอะไรขึ้นมา มันกดรีเซ็ท หรือคอนตินิวแบบในเกมไม่ได้นะครับ และคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ได้รับการฝึกมาแบบทหารหรือตำรวจหน่วยรบพิเศษ จึงมีความเสี่ยงสูงมาก หากริอาจทำตัวเป็นพระเอก-นางเอก
.
ไม่ต้องไปที่ไหนไกล สมมติว่าเป็นตัวผมเองก็ได้ ผมเป็นคนที่เวลาว่างๆ ชอบเดินเถลไถลไปนั่นไปนี่ และบางครั้งก็เจอเหตุความรุนแรงนี่แหละครับ ผัวเมาตีเมียเตะเมีย หรือคู่ชายหญิงเป็นแฟนกัน มีปากเสียงไม่รู้ว่าอีกสักพักจะลงไม้ลงมือกันหรือเปล่า? สิ่งเดียวที่ผมพอทำได้ คือพยายามเดินวนไปเวียนมา เผื่อพวกเขาจะไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวคนเห็น แล้วสักพักเมื่อเวลาผ่านไปคงได้สติเอง ย้ำว่าผมทำได้แค่นี้แหละครับ ถ้าพวกเขายังไม่หยุด หรือตัวผมกำลังจะกลายเป็นเป้าถูกทำร้ายแทน ( อย่างหลังเคยผ่านประสบการณ์มาแล้ว..โปรดอ่านที่ ปล.ท้าย ) ผมก็ต้องรีบใช้ “บาทาสี่คูณร้อย” โกยแน่บจากที่นั่นทันที แล้วหาป้อมตำรวจใกล้ที่สุดเพื่อแจ้งเหตุละครับ ( แต่ถ้าไม่มีป้อมตำรวจ หรือมีป้อมแต่ไม่เจอตำรวจ ก็ถือว่าเป็นคราวเคราะห์ของคนถูกทำร้ายไปละกัน ส่วนผมเผ่นไปไกลแล้วครับ แฮ่ๆ )
.
ถามว่าทำไมผมทำได้แค่นี้? คนที่เป็นกองแช่งประจำคอลัมน์ผม ( ใช้คำว่ากองแช่งนะ เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครเป็นกองเชียร์ผมหรอก ) คงรู้ดีว่าผมเป็นผู้ชายทั้งแท่งแท้ๆ แต่กลับมีปัญหาเรื่อง “ทักษะเชิงบู๊” ใช่แล้วครับ ผมต่อยตีวิวาทกับใครก็แพ้ แพ้มาตลอดตั้งแต่เด็กยันอายุจะขึ้นเลข 3 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และเป็นปมด้อยหลักของผมเลยก็ว่าได้ ฉะนั้นสิ่งที่ผมทำได้เวลาไปเจอเรื่องร้ายๆ ก็ทำได้ตามข้างต้นเท่านั้นแหละครับ แม้ว่าใจอยากจะเป็นฮีโร่เข้าไปซัดกับคนร้ายก็ตาม แต่ถ้าเข้าไปยังไงก็แพ้ครับ เผลอๆ จะเอาชีวิต เอาสังขารร่างกายไปทิ้งด้วย จึงไม่เอาดีกว่า หนีดีกว่า
.
เชื่อว่าหลายคนเองก็กลัวเจ็บกลัวตายครับ มันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์เรา..หลายคนเป็นหนุ่มออฟฟิศ วันๆ ทำงานอยู่แต่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่รู้ว่าร่างกายแข็งแรงพอหรือเปล่า? มีทักษะบู๊พอจะเอาตัวรอดจากการต่อสู้หรือเปล่า? หรือบางคนเป็นผู้หญิงร่างเล็กบาง ยิ่งยากที่จะคุ้มครองป้องกันคนอื่นได้ แค่เอาตัวเองให้รอดจากการถูกทำร้ายยังยากเลยครับ ฉะนั้นไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น? หากคนเหล่านี้ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในสังคมเมือง ตัดสินใจเข้าไประงับเหตุ หรือเข้าไปสอบถามตรงๆ กับคนที่อาจจะเป็นมิจฉาชีพ แล้วเกิดอีกฝ่ายไม่พอใจ อารมณ์ฉุนเฉียว ทำร้ายร่างกายเขาขึ้นมาจนเลือดตกยางออกหรือรุนแรงมากกว่านั้น..“ถามว่าบรรดากองเชียร์หน้าจอ รับผิดชอบไหวหรือเปล่า?”
.
ด้วยเหตุนี้ ผมถึงมองว่าการทำตัวเป็นมนุษย์กล้อง ถือว่าเป็นการทำตนเป็นพลเมืองดีอย่างหนึ่ง เท่าที่คนธรรมดาๆ ไม่มีวรยุทธ์ ไม่เก่งเรื่องบู๊ จะสามารถช่วยเหลือสังคมได้แล้วครับ อย่างน้อยการถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอไว้แล้วนำมาแชร์กันบนโลกออนไลน์ มันก็ยังทำให้เป็นกระแส จนสื่อหลักก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดี นำไปขยายความติดตามต่อได้ ดังหลายๆ คดี ที่จุดเริ่มต้นมาจากภาพ-จากคลิปที่แชร์กัน จนตำรวจสามารถตามจับกุมคนร้ายได้ก็มีมาแล้ว
.
ถึงกระนั้น..ก็คงต้องฝากบรรดามนุษย์กล้อง ให้ระมัดระวังการเผยแพร่ภาพหรือคลิปกันหน่อย ตรงนี้ถือว่าแนะนำเทคนิคที่อาจจะเรียกว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน-สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำก็ได้ แต่ก็อยากแนะนำ คือมันเป็นวิธีที่นักเล่าข่าวคนดังใช้บ่อยๆ เวลานำเรื่องราวบนโลกออนไลน์มานำเสนอในรายการของเขา
.
นั่นคือถ้าเป็นเพียง “ข้อสังเกต” ยังไม่ใช่การกระทำที่เข้าข่ายความผิดชัดเจนจะแจ้ง เช่นยังไม่ปรากฏว่ามีการตบตี ใช้กำลังหรืออาวุธทำร้ายร่างกาย ( ซึ่งอันนี้ยังไงเบื้องต้นก็เป็นความผิดชัดเจน ส่วนจะเข้าข่ายป้องกันตัวหรือไม่? ก็เป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวนต่อไป ) ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อในวงกว้าง มักจะใช้ในรูปแบบ “ภาพนิ่ง” พร้อมกับเบลอหน้าคนที่ถูกพาดพิงให้เรียบร้อยก่อน ( วิธีเบลอหน้าง่ายๆ ไม่ต้องยุ่งยากทำโมเสกแบบที่สื่อหลักเขาทำกัน ก็คือจัดการเอาสีป้ายใบหน้าเสีย อย่าให้ปรากฏใบหน้าชัดเจน )
.
ขณะเดียวกัน ข้อความที่บรรยาย อย่าใช้ถ้อยคำบรรยายในลักษณะ “ฟันธง” แต่ควรใช้เป็นลักษณะ “ตั้งข้อสงสัย” เช่น จากกรณีข้อสงสัยเรื่องชายแอบติดกล้องในรองเท้า แทนที่จะไปฟันธงว่า “ชายคนนี้มันเป็นโรคจิต แอบติดกล้องส่องได้กระโปรงสาวๆ แน่ๆ เลย” ก็ให้บรรยายว่า “วานช่วยดูให้หน่อย ไม่รู้ว่านี่ใช่กล้องแอบถ่ายหรือเปล่า?” และอย่าลืมว่าเบลอหน้าคนถูกพาดพิงด้วยก่อนกดโพสต์ เท่านี้มนุษย์กล้องก็สามารถเป็นพลเมืองดีได้โดยไม่ทำให้คนอื่นเสียหายอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้วครับ ที่สำคัญยังไม่ต้องเสี่ยงกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีโทษถึงจำคุกอีกด้วย
.
ที่เขียนมานี้ก็แค่ไม่อยากให้กระแสสังคม มองว่ามนุษย์กล้องเป็นเรื่องเลวร้ายครับ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากทำความดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมสำหรับการกระโจนเข้าสู่การต่อสู้ที่เอาชีวิตเข้าแลก ดังนั้นผมจึงมองว่า มันยังมีอีกหลายวิธีที่เราจะช่วยได้ด้วยกำลังเล็กๆ นอกจากวิธีพื้นๆ อย่างโทรแจ้งตำรวจ-วิ่งไปตามตำรวจแล้ว การเป็นมนุษย์กล้อง ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเหลือสังคมได้เช่นกัน
.
เนื้อที่วันนี้หมดแล้วครับ..พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ!!!
.
.
ปล.ประสบการณ์เสี่ยงตายจากการไม่เจียมตัวของผม อยากห้ามไม่ให้ผู้ชายทำร้ายผู้หญิง สามารถอ่านได้ที่กระทู้นี้ครับ http://ppantip.com/topic/30314209
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่