[BERSERK] ภาษาสันสกฤตในเบอร์เซิร์ก ตอนที่ 2


          ภาษาสันสกฤตในเบอร์เซิร์ก ตอนที่ 2 ต่อนะครับ
          
            
          ครุฑ (Garuda)   มังงะไทยแปลว่า การูด้า
          ครุฑ นี่ก็เป็นสัตว์ในเทวตำนานฮินดู (และพุทธ) อีกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักมักคุ้นกันดี  เพราะเห็นอยู่เสมอในเอกสารทางราชการ   ตามตำนาน ครุฑ เป็นอมนุษย์ที่มีลักษณะผสมระหว่างนกอินทรีและมนุษย์   ในปกรณัมฮินดู ครุฑเป็นสัตว์พาหนะของพระวิษณุ (พระนารายณ์) และยังเป็นชื่อภาษาฮินดูของ กลุ่มดาวนกอินทรี (The Constellation Aquila) ด้วย   ส่วนในปกรณัมพุทธ ครุฑ เป็นนกกินเนื้อขนาดมหึมา มีสติปัญญา และมีกลุ่มทางสังคม มันถูกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตกึ่งเทพ หรือเป็นเทพระดับต่ำ
          ส่วนในเบอร์เซิร์ก ครุฑเป็นสัตว์อสูรตัวหนึ่งที่ควบคุมโดย Dhaiva นักบวชของคนิษกะ

          
          ปราณ (Prana)   มังงะไทยแปลว่า พลาน่า
          คำว่า ปราณ นี้คนไทยเราก็คุ้นเคยดี (ได้ยินบ่อยในหนังจีนกำลังภายใน) หมายถึงลมหายใจ พลังแห่งชีวิต และพลังงานที่แผ่ซ่านในจักรวาล มีความคล้ายคลึงกับพลังชี่ของปรัชญาจีน
          ส่วนในเบอร์เซิร์ก คำว่าปราณถูกใช้โดย Dhaiva ฤๅษีกุษาณ   ซึ่งเขาพึมพำอยู่คนเดียว (เพราะคนอื่นฟังภาษากุษาณไม่รู้เรื่อง) ว่า กัทส์ที่สวมเกราะนักรบคลั่งมี ปราณแห่งทุรคา (Prana of Durga)

          
          ทุรคา (Durga)   มังงะไทยแปลว่า โดลกา
          ทุรคา มีความหมายว่า ผู้ที่ไม่อาจเข้าถึงได้ เป็นพระนามของเทพีที่มีความสำคัญมากพระองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู เป็นปางหนึ่งของพระแม่ปารวติ   พระแม่ทุรคาเป็นเทพที่มีอิทธิฤทธิ์มากมายมหาศาลสะท้านฟ้าสะเทือนจักรวาล พระนางเกิดจากพลังอำนาจของเหล่าเทพเจ้า และเป็นผู้ปราบมหิษาสูรที่แม้แต่พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะยังไม่สามารถปราบได้   ในแง่สัญลักษณ์แล้ว พระแม่ทุรคาเป็นตัวแทนของอำนาจสูงสุดของธรรมชาติในการสรรค์สร้างทุกสรรพสิ่ง
          ส่วนในเบอร์เซิร์ก ทุรคาปรากฏอยู่ในคำพูดของฤๅษี Dhaiva ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

          
          วายุ (Vayu)   มังงะไทยแปลว่า วายุ
          วายุ เป็นเทพเจ้าแห่งลมในตำนานของศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นองค์เดียวกับเทพที่คนไทยเราคุ้นเคยคือพระพายนั่นเอง
          ส่วนในเรื่องเบอร์เซิร์ก คำนี้ปรากฏอยู่ในคำพูดของ Dhaiva ที่พูดถึงเซอร์ปิโก้ว่ามีพลังของวายุ

          
          
          ปิศาจ (Pishacha)   มังงะไทยแปลว่า บิชาจา
          ปิศาจ เป็นอสูรกินเนื้อในตำนานอินเดีย ต้นกำเนิดของพวกมันยังเป็นที่คลุมเครือ บ้างก็ว่าถูกสร้างโดยพระพรหม บ้างก็ว่าเป็นบุตรของโกรธะ (ความโกรธ) และบ้างก็ว่าเป็นบุตรของพระทักษะ   ปิศาจมักได้รับการบรรยายว่ามีผิวสีเข้มมืด มีเส้นเลือดโป่งนูนตามร่างกาย มีตาสีแดงโปนออกมา และเชื่อกันว่าพวกปิศาจมีภาษาของมันเองด้วย
          ส่วนในเรื่องเบอร์เซิร์ก ปิศาจเป็นอสูรที่นักบวชของกุษาณสร้างขึ้นมาด้วยวิชาอาคมโดยใช้สัตว์เป็นวัตถุดิบ เช่น ช้าง จระเข้ และเสือ เป็นต้น

            
          กุณฑลินี (Kundalini)   มังงะไทยแปลว่า คุงดาลินี
          กุณฑลินี หมายถึง วงกลมหรือวงแหวน เป็นสัญลักษณ์ของงู (แสดงการขดเป็นวง หรือการก่อตัวเป็นขนด) และยังเป็นชื่อของนาคในมหากาพย์มหาภารตะด้วย   นอกจากนี้กุณฑลินียังมีความหมายในแง่ของปรัชญาโยคะด้วย มันเป็นตัวแทนของพลังศักติ (พลังของเพศหญิง เหมือนพลังหยินของปรัชญาจีน) พลังวิญญาณ และพลังงานแห่งตัวตน   มันมักได้รับการอธิบายว่าเป็นพลังทางจิตวิญญาณที่สถิตอยู่ในตัวตนของชีวิต และสามารถถูกปลุกขึ้นมาได้ด้วยการปฏิบัติทางโยคะหรือการบรรลุถึงทิพยภาวะ  ในคัมภีร์อุปนิษัทของโยคะ พลังแห่งกุณฑลินีจะ ‘ขดตัว’ อยู่ตรงฐานของกระดูกสันหลัง และมักแสดงเป็นสัญลักษณ์ด้วยเทพธิดาหรืองูที่นอนขดตัวรอการปลุกให้ตื่นขึ้น   ในการตีความสมัยใหม่ กุณฑลินีคือตัวแทนของจิตใต้สำนึก สัญชาตญาณ และแรงลิบิโด (แรงขับเพื่อการมีชีวิตในทางจิตวิทยา)
          ส่วนในเบอร์เซิร์ก กุณฑลินีเป็นอสรพิษวิญญาณที่มีฤทธิ์กล้าแข็ง มีพลังในการควบคุมอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ซึ่งซีร์เก้บอกว่ามันได้รับการนับถือเป็นเสมือนเทพเจ้าในบางวัฒนธรรมทีเดียว  ในเรื่องกุณฑลินีถูกปลุกขึ้นมาใช้งานโดยโยคี (หรือจะเรียกฤๅษี, นักบวช หรือจอมเวทย์กุษาณก็ได้) Dhaiva โดยตอนที่ปลุกกุณฑลินีมาใช้งานนั้น Dhaiva ได้ร่ายมนตร์ว่า   “โอม อะมิริตี อัมปัตตะ กุณฑลินี” (Om Amiriti, Um Patta, Kundalini) ซึ่งในมังงะไทยแปลว่า “โอม อามิลิตี อนุพัตตา คุงดาลีนี”   ถ้าอยากเห็นกุณฑลินี ก็ลองประนมมือแล้วร่ายคาถานี้ดูสิครับ!

          
          ปรมฤษี สัญญาณิ ไทวะ (Paramarishia Senani Dhaiva)   มังงะไทยแปลว่า ปารามาริชา เซนยานี ไดบา
          ปรมฤษี สัญญาณิ ไทวะ (ถ้าเขียนให้ไทยยิ่งขึ้นอีกก็เขียน บรมฤๅษี) เป็นชื่อของฤๅษีชาวกุษาณในเรื่องเบอร์เซิร์ก เป็นผู้มอบเบเฮลิตให้คนิษกะ และเป็นผู้ที่ใช้เวทมนตร์ขั้นสูงเล่นงานพวกกัทส์จนย่ำแย่

          
          ชญาณิญ (Jnanin)   มังงะไทยแปลว่า จันยานิน
          ชญาณิญ มีความหมายเหมือนๆ กับคำว่า ชญาณ (บาลีเรียก ญาณ) คือหมายถึงความรู้แจ้ง หรือปรีชาญาณในปรัชญาฮินดูและพุทธ
          ส่วนในเบอร์เซิร์ก คำนี้ปรากฏอยู่ในชื่อตอนที่ 243 คือตอน Superhuman (Jnanin) ซึ่งน่าจะหมายถึงเด็กปริศนาที่ชอบมาปรากฏตัวต่อกัทส์และแคสก้า แล้วก็ชอบหายตัวไปแบบลึกลับทุกครั้ง

         และ 'ภาษาสันสกฤตในเบอร์เซิร์ก' ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้  สวัสดี (ปีใหม่) ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่