[CR] library@Orchard พาเที่ยว บูติคไลบรารี่ ที่สิงคโปร์

library at orchard

ห้องสมุดแนวใหม่แบบบูติคไลบรารี่ (Boutique Library)
ภายใต้การดูแลของหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์  



เดิม library@orchard  เขามีมาตั้งแต่ปี 1999  แล้ว และปิดเพื่อปรับปรุงใหม่ไปเมื่อปี 2007 และเพิ่งเปิดไป เมื่อ 23 ตุลา ปีนี้เอง หนังสือทุกเล่มเลยใหม่เอี่ยม น่าหยิบน่าจับ



บนพื้นที่ 1,700 ตารางเมตร สองชั้น (L3-L4) ของห้าง Orchard Gatèway บนพื้นที่เล็กๆ แค่นี้ อุดมด้วยหนังสือถึงกว่า 100,000 เล่มวางเรียงรายสวยรออยู่บนชั้น

มองไปรอบๆ  หาบรรณารักษ์ไม่เจอ เห็นแต่สิ่งอำนวยความสะดวกจะหา จะหยิบ จะยืม หรือคืนหนังสือ ก็เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด จึงไม่ต้องเขินหรืออายเวลาสบตาบรรณารักษ์ตอนหยิบยืมหนังสือประเภทพิเศษ...










มุมเงียบๆ มุมสงบกระจัดกระจายเต็มทุกบริเวณ คนที่เข้ามาหาหนังสือ มานั่งอ่านเงียบๆ หันหน้า อ่านไปชมวิวไป  ด้านที่หันไปทางสวนสาธารณะ ก็ทำเป็นมุมนั่งอ่านกันเป็นแถว ที่ดูแล้วชิลล์มาก  



ไม่ใช่แค่เด็กหรือมีแต่วัยรุ่นมาใช้บริการเท่านั้น มีทั้งผู้ใหญ่วัยทำงาน จนวัยเกษียณ ก็มาใช้บริการกันอุ่นหนาฝาคั่ง แม้จะมีหนังสือเป็นแสนเล่ม ก็ไม่แน่นจนอึดอัด  พื้นที่จะเล็กแต่ก็จัดเลย์เอาท์ได้แบบมีมุมอ่านส่วนตัว จัดประเภทหนังสือได้หาง่าย  หนังสือใหม่ๆ สันสวยๆ หนังสือดีไซน์ก็เยอะมาก ทั้งของในสิงคโปร์เองและหนังสือจากต่างประเทศ



ไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่มากันทุก format ของ "สื่อ" แบบออฟไลน์ ออนไลน์  จัดเต็มทั้ง DVD ภาพยนตร์ ดนตรี งานเกี่ยวกับศิลปะแขนงอื่นๆ ภาพเคลื่อนไหวบนหน้าจอ...ประชาสัมพันธ์ แนะนำงานนิทรรศการอื่นๆ อีเว้นต์อื่นๆ โฆษณาให้คนที่สนใจ แถมมีมุมให้เสียบปลั๊กทำงาน ประชุมงาน จากแล็ปทอปได้ด้วย



-----------
ไม่เก็บค่าสมาชิกห้องสมุดสำหรับชาวสิงคโปร์ คือใช้ฟรี ยืมคืนหนังสือได้ หรือถ้าใครอยากอัพเกรด อ่านเยอะมาก ที่ให้ปกติ 8 เล่ม 21 วันไม่เพียงพอ
ก็มีแพคเกจรายปีระดับพรีเมี่ยมจำหน่ายให้



เด็กนักเรียนที่นี่ ก็เอาบัตรนักเรียนมาใช้ที่นี่ยืมคืนหนังสือได้เลย  ไม่ต้องเปลืองตังค์ทำบัตรใหม่ซ้ำซ้อน

ระยะเวลาการยืม 21 วัน ได้แก่  หนังสือ โน้ตเพลง ซีดีดนตรี audio / visual  นิตยสาร
และยืมได้ครั้งละ 8-16 ชิ้น (ขึ้นอยู่กับประเภทของสมาชิก)

มองดีๆ นี่เขาไปไกลถึง...การเรียนดนตรี วงการดนตรีแล้ว เพราะมีขุมทรัพย์ให้ยืมมาเล่น มาซ้อมดนตรีได้อีกมากมาย
  

ระบบ membership  ตามไปดูกันที่เวปนี้
http://www.nlb.gov.sg/VisitUs/Membership.aspx

แต่ได้อ่านหนังสือดีๆ หลายหมื่น หลายแสนเล่ม เข้าไปใช้บริการได้ สัปดาห์ละ 7 วัน เข้าไปใช้บริการได้ถึงสามทุ่ม เลิกงานแล้วก็ยังไม่ปิด นั่งอ่านได้จนดึก อ่านไม่จบก็ยืมกลับบ้านอ่านได้  



วันและเวลาที่เปิดให้บริการถูกใจมาก
เปิดทุกวัน จันทร์-อาทิตย์  11 am - 9 pm
หยุดปีใหม่และวันหยุดราชการ

--------------

info:
http://www.nlb.gov.sg/VisitUs/BranchDetails/tabid/140/bid/337/Default.aspx?branch=library%40orchard

Plan L3
http://www.nlb.gov.sg/Portals/0/library/gallery/Orchard/OCPL-L3.jpg

Plan L4
http://www.nlb.gov.sg/Portals/0/library/gallery/Orchard/OCPL-L4.jpg

library@orchard เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติ

ลองแวบไปส่อง  "หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์" กันดู...





(Lee Kong Chian Reference Library)

หอสมุดตัวแม่ National Library  ทำใหม่และเปิดให้บริการไปเมื่อปี 2005  (ของเขาใหม่ๆ ทั้งนั้นเลย....) มีผู้เข้าใช้ปีนึงประมาณ 4,000,000 คน ตั้งแต่เปิดใช้ก็ใช้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง อาคันตุกะ ผู้นำประเทศ ราชวงศ์ต่างชาติมากมาย
อาคารสวยงามเป็นตึกสูงมี 7 ชั้น 11,304 ตารางเมตร เดินทางได้ง่ายจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
(จากสองสถานี...คิดดูว่าใหญ่และสะดวกแค่ไหน)
พร้อมหนังสือกว่า 600,000 เล่ม


เปิดให้บริการทุกวัน จ-อา  10am-9pm มีรถไฟฟ้าผ่าน รถเมล์ทุกสายไหลมาตัดกัน เพราะเป็นโลเคชั่นที่หัวมุมถนน กินพื้นที่ทั้งบล็อก


info:
http://www.nlb.gov.sg/VisitUs/BranchDetails/tabid/140/bid/329/Default.aspx?branch=National+Library+%2f+Lee+Kong+Chian+Reference+Library

รูปภาพ จาก wiki
http://en.wikipedia.org/wiki/National_Library,_Singapore
-------

นอกเรื่องนิดนึง...

การจัดงานสัปดาห์หนังสือที่ไทย  หนึ่งปีจัดสองครั้งใหญ่ๆ  แต่ละครั้งก็เป็นโอกาสให้คนขาย คนซื้อได้เข้าไปขายของ จับจ่ายใช้สอยช็อปปิ้งกันล้นหลาม ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ทำให้แต่ละสำนักพิมพ์ขายหนังสือได้ ช่วยต่อชีวิตคนทำหนังสือต่อไป และช่วยกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือสนใจมาหยิบ มาซื้อหากันมากมาย

แต่อย่าลืมว่า ราคาของหนังสือ บางเล่มก็ทานข้าวกันได้หลายมื้อเลย  จะดีกว่าไหมถ้าทุกอำเภอ ทุกเมือง ทุกจังหวัดของประเทศ มีหัองสมุดที่ "อาคารทันสมัย ออกแบบได้ไม่โบราณ น่าเข้า เชื้อเชิญให้เข้าไปหยิบยืมหนังสือมาอ่าน มีให้เลือกหลากหลายมากกว่าที่วางขายในงานสัปดาห์หนังสือ"  

ลองเข้า  google image  หาภาพ
และ search : public library design



จะเห็นหน้าตาห้องสมุด "สำหรับประชาชน" สวยๆ มากมาย น่าเสียดายคือหลายรูปที่เสิร์ชเจอ  หน้าตาอาคาร ก็เหมือนห้างสรรพสินค้า ในบ้านเรารุ่นใหม่ๆ นี่แหละ  นั่นแปลว่า เทคโนโลยี ดีไซน์แบบนี้ ทำในบ้านเราไม่ยาก  ที่ยากคือ ทำยังไงให้ภาครัฐ เข้าใจ และยอมสร้างสิ่งปลูกสร้างน่าใช้สอยให้ประชาชนบ้าง

ประเทศที่ได้ชื่อว่าประเทศแห่งการอ่าน ประเทศที่มีระบบการศึกษาดีๆ ทุกที่ในโลก ไปไล่ดูห้องสมุดเขาได้เลย ตั้งแต่ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดมหาวิทยาลัย และห้องสมุดประจำเมือง ประจำอำเภอ สิ่งก่อสร้างชั้นดี ปลอดภัย และทันสมัย ประชาชนเข้าไปใช้มากกว่าเดินเข้าห้างสรรพสินค้า เพราะมีรอแทบทุกมุมเมืองอุดมไปด้วยหนังสือเจ๋งๆ มากมาย มีเซรุ่ม มีวิตามินทางสมองให้คนในชาติได้หยิบยืมอ่าน รวมไปถึงซีดีเพลงทุกแนว ดีวีดีหนังทุกประเภทให้นำไปเสพไปบริโภคเป็นอาหารสมองได้ตลอดเวลา  

คนส่วนใหญ่อ่านครั้งเดียวแล้วก็ไม่ได้อ่านซ้ำ (แบบไม่ใช่หนังสือเพื่อสะสม) นั่นแปลว่า  หากคนไม่เข้าใจหนังสือจริงๆ ก็จะคิดว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ถ้าเราอยากหาความรู้จริงๆจังๆ เป็นหนอนหนังสือเดือนนึงอ่านเป็นสิบๆ เล่ม  หากต้องเสียตังค์ควักเงินซื้อหนังสือทุกเล่มจากกระเป๋าตังค์ตัวเอง แป๊บเดียวอาจจะหมดตัวได้  ห้องสมุดจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อมารองรับ "ความต้องการอ่านแบบนี้"


ห้องสมุดใหม่ๆ หนังสือเยอะๆ รีโนเวทให้ทันสมัย  ไม่ใช่จู่ๆ ปุบปับก็เสกขึ้นมาได้ แต่มันมีที่มาจาก "การวางแผนระยะยาว"  จัดสรรงบประมาณจากภาครัฐที่ได้มาจากเงินภาษีของ "ประชาชน"     งบประมาณทางการศึกษา  ทางวัฒนธรรมที่รัฐยอมจัดเต็มให้และใช้เงินเป็น  บริหารเงินเป็น ไม่รั่ว ไม่ไหลไปที่ไหน   เพราะ "หนังสือ"  มีผลต่อความเจริญของคนในชาติ  ระดับการศึกษา ความสามารถในการคิด อ่าน วิเคราะห์  และเป็นผลดีในระยะยาวจริงๆ  


ช่วงเวลาที่ระบบการศึกษาเรื่องราวแย่ๆ เต็มสังคมไทย กระแสสังคมที่ถล่มเรื่องพวกนี้กันทุกวี่ทุกวัน ห้องสมุดคือทางเลือกหนึ่งที่จะประดับอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กโดยตรง (ตรงกว่าผ่านครูด้วยซ้ำ) ช่วยฉุดกระชากคนไทยให้เข้าใจโลก เข้าใจว่าการศึกษาจริงๆ แล้วแปลว่าอะไร  ห้องสมุดจะช่วยให้ของดีแบบไม่ต้องสอบ ไม่ต้องมีปริญญามาประดับ  ลองสังเกตห้องสมุดทั่วโลกนะว่า มุม fiction เรื่องสั้น นิยายที่แต่งขึ้น กินพื้นที่เยอะมาก

นอกจากเนื้อหาประเภท non-fiction หรือ how-to  เจ้า fiction เนี่ยแหละคือหนังสืออีกแบบที่ช่วยให้คนเข้าใจ "มนุษย์"  เข้าใจสังคม เข้าใจความแตกต่างของแต่ละชนชั้น แต่ละวัฒนธรรม เข้าใจคำว่า  "มนุษยธรรม" "สิทธิมนุษยชน" ได้ดี  ...การปล่อยให้เด็ก ให้คนในชาติได้อ่าน หนังสือ วรรณกรรม วรรณคดี  fiction ที่ดีๆ  ก็ช่วยสร้างแบบฝึกหัดเสริมสติให้ผู้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้มากขึ้นด้วย  

ก่อนจะของบสร้างห้องสมุด ลองมาสำรวจความต้องการของคนก่อน ในแต่ละท้องที่อาจจะสนใจเนื้อหาความรู้ต่างกันไป  หาทำเลที่ตั้งห้องสมุดดีๆ ไม่ใช่เอะอะ รอแต่พื้นที่ที่บริจาคที่ทุรกันดาร  จัดเตรียมพื้นที่ที่ประชาชนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เดินทางมาได้สะดวก อำนวยเวลาดีๆ เปิดทุกวันถึงสามทุ่มสี่ทุ่ม (ร้านเกมส์ กับห้างเปิดได้ถึงกี่โมง ห้องสมุดก็ต้องสู้เขาให้ได้)   ให้พ่อแม่ได้พาลูกหลาน  ให้เด็กที่อยู่บ้านแล้วไม่มีหนังสือสนุกๆ ให้อ่าน บ้านไม่เคยเงียบ หรือประสบปัญหาในครอบครัว    หรือใครทีทำงานแล้ว ยังอยากหาความรู้แบบประหยัดไม่ต้องไปเสียเงินลงทะเบียนสมัครเรียนป.โท ที่ไหน  ที่เน้นย้ำเรื่องทำเลที่ตั้งห้องสมุด เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานจริงๆ ที่เราควรจัดให้เด็กๆ ทุกคนได้เดินทางมาได้ไม่ลำบาก มีรถเมล์หลายสายผ่าน สะดวก และปลอดภัย

ขอกำลังเงินจากรัฐให้ช่วยสนับสนุนหอสมุดแห่งชาติ (บ้านเรา) มีเงินเพียงพอ  ตอนนี้มีหอสมุดแห่งชาติส่วนภูมิภาคบ้างก็จริง  มานับดูกันมีกี่ที่ที่อยู่ในความดูแลของหอสมุดแห่งชาติ

- ชลบุรี
- สงขลา
- หาดใหญ่
- สุพรรณ
- เชียงใหม่
- ตรัง
- นครราชสีมา
- นครศรีธรรมราช
- นครพนม
- จันทบุรี
- กาญจนบุรี

เรียกได้ว่าน้อยมากจนไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมทุกจังหวัด  การจัดการ งบประมาณ วิธีบริหาร แนวคิดในแบบใหม่ๆ ที่เข้าใจโลกยุคปัจจุบันจริงๆ

หันไปมองหลายๆ ประเทศรอบตัว ก็จะเห็น เคยไปเยี่ยมห้องสมุดของเด็กกำพร้าที่ต่างจังหวัด ในห้องสมุดมีแต่หนังสือที่ได้รับบริจาค เนื้อหาประมาณ 80%  ของที่รับบริจาค ก็มีแต่หนังสือซุบซิบนินทาดารา....ถ้าเราคุมคุณภาพของห้องสมุดไม่ได้ ผลลัพธ์ก็จะตกไปอยู่กับเด็กตัวเล็กๆ ที่วันๆ ไม่มีอะไรให้อ่านนอกจาก นิยายน้ำเน่า นิยายตบจูบ นินทา ดูนมดารา


เปลี่ยนงบโฆษณาไปเป็นงบสร้างห้องสมุด งบซื้อหนังสือดีๆ เข้ามาให้เด็กๆ เยาวชนของชาติ ให้คนที่มีกำลังซื้อน้อย ที่แค่ซื้อข้าวแต่ละมื้อก็หมดเงินแล้ว ให้เขาได้มีโอกาสเปิดคลังสมองหาความรู้ได้ด้วยตัวเองดีกว่าค่ะ  แบบนี้ถึงจะเรียกว่า  “อ่านกัน(เงียบๆ) แบบสนั่นเมือง”

-----------------

ทิ้งท้ายด้วยหน้าตาเวปไซต์ ของหอสมุดแห่งชาติบ้านเรากับของสิงคโปร์

ไทย


http://www.nlt.go.th/index.php


สิงคโปร์

http://www.nlb.gov.sg/Home.asp

อยากให้ห้องสมุดไทย ทันสมัย และคนนิยมเข้าใช้
ทัดเทียมห้างสรรพสินค้าบ้าง

ใครมีห้องสมุดประเทศไหนเจ๋งๆ มาแขร์ได้เลยค่ะ

ใครแวะมาช็อปปิ้งที่สิงคโปร์ก็แวะมาพิสูจน์กันได้ ว่าบริหารห้องสมุดเขาสุดยอดแค่ไหน

เข้าฟรีค่ะ


credit : www.Facebook.com/parbpim
ชื่อสินค้า:   ห้องสมุดสิงคโปร์
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่