10 ข้อที่เราควรรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนปี 2014

กระทู้สนทนา
พูดถึงการฉีดวัคซีน เราจะนึกถึงเด็ก
แต่จริงๆแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวพวกเราเลยนะครับ
ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือคุณพ่อคุณแม่ก็ตาม
และปัจจุบัน มีวัคซีนใหม่ๆออกมามากขึ้น ขนาดหมอเองยังงงๆ
ผมขออนุญาตสรุปให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในงานด้านสาธารณสุข ได้อ่านง่ายๆตามนี้







ก่อนอื่นเราควรทราบก่อนว่าเด็กไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนตามแผนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแห่งชาติ
ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR)
วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ และวัคซีนป้องกันบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (DTP)
ซึ่งถือเป็นวัคซีนมาตรฐานของเด็กไทย
ยกเว้นในคนที่อายุเกิน 35 อาจไม่ืทัน สองตัวคือ JE กับ ตับอักเสบบี
ลองกลับไปถามคุณพ่อคุณแม่ หาประวัติการฉีดวัคซีนถ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐานก็ดีนะครับ

ทีนี้เรามาดูกันว่า พวกเราที่โตๆกันแล้ว ยังต้องฉีดวัคซีนอะไรอีก


1. บาดทะยัก เป็นวัคซีนที่แทบทุกคนได้รับตอนเด็ก
แต่ภูมิคุ้มกันไม่ได้มีไปตลอดชีวิต แนะนำว่าในช่วงวัยรุ่นควรได้รับกระตุ้นอีก 1 เข็ม
และฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
วัยรุ่นหลายคน มีบาดแผลจากอุบัติเหตุหรืออะไรก็แล้วแต่
ไปรพ. คุณหมอท่านอาจจะฉีดวัคซีนบาดทะยักให้เรามาเลย ถ้าเราจำไม่ได้ว่าฉีดกระตุ้นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

วัคซีนยาดทะยักในรพ. จะมี 3 แบบ
ก. บาดทะยักอย่างเดียว (TT)
ข. บาดทะยัก + คอตีบ (Td) แถมป้องกันโรคคอตีบมาให้ด้วย ซึ่งจริงๆคอตีบเด็กไทยควรได้รับวัคซีนมาแต่เด็กแล้ว
แต่น่าสนใจว่า ระยะหลังๆเราก็ยังเจอโรคคอตีบได้ประปราย ฉีดกันไว้ด้วยก็ไม่เสียหายอะไร
จะฉีดเจ้า TT หรือ Td ได้ทั้งคู่ครับ แต่เช่นเดิม แนะนำให้ฉีดทุก 10 ปี
ค. บาดทะยัก + คอตีบ + ไอกรน (Tdap) ไอกรนที่แถมมา เหมาะสำหรับถ้าบ้านเรามีเด็กเล็กๆ
จะช่วยป้องกัน โรคไอกรนที่จะไปเกิดในเด็ก
ขอคุณหมอได้ ถ้ารพ.มีก็ฉีด แทน TT หรือ Td แต่แค่ครั้งเดียวในชีวิตพอนะครับ
10 ปีต่อมาก็ TT หรือ Td ไป


2. อีสุกอีใส (Varicella) ใครเคยเป็นกันบ้างครับ
ถ้าใครจำได้แน่ชัด ว่าเป็นตอนเด็ก หรือ ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเป็นตอนเล็กๆ
ลืมไปได้เลยครับ ไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก
แต่ใครที่ เฮ้ย ไม่แน่ใจ เคยเป็นรึยังนะ? แนะนำให้ตรวจเลือดดูค่าภูมิคุ้มกันอีสุกอีใส
หากไม่มีภูมิ แนะนำฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน
เนื่องจาก อีสุกอีใส สามารถทำให้เกิดโรคปอดติดเชื้อรุนแรงได้
โดยเฉพาะ อาชีพที่เสี่ยงต่อโรค เช่น แพทย์ พยาบาล คุณครูโรงเรียน อนุบาล หรือ ชั้นประถม
แต่ถ้าตั้งครรภ์อยู่ห้ามฉีดเด็ดขาดนะครับ


3. โรคหัด คางทูม และ หัดเยอรมัน เป็นวัคซีนแพครวมที่เรียกว่า MMR
ถือเป็นวัคซันเช็คอายุอีกอันนึง เพราะประเทศเรารณรงค์ให้ฉีดวัคซีนนี้ในเด็ก มาได้ไม่นานมาก
คนที่เกิดก่อนปี 2540 หรืออายุเกิน 18 ปี มักจะไม่เห็นประวัติการฉีด MMR ตอนเด็ก
แต่เหล่าน้องๆ Gen Z ในประวัติ เค้าจะมี MMR กันเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอนโต โดยฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน
แม้แต่เด็ก Gen Z ก็แนะนำให้ฉีดอีกครั้งตอนโต
โดยเฉพาะ อาชีพเสี่ยง เช่น แพทย์ พยาบาล คุณครูสอนเด็กๆ พี่เลี้ยงเด็ก
จะสังเกตได้ว่า MMR เป็นวัคซีนภาคบังคับ สำหรับน้องๆที่ต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ


4. วัคซีน HPV ถือเป็นวัคซีนตัวใหม่สำหรับผู้หญิง มีสองชนิด
ก. วัคซีนแบบ 4 สายพันธุ์ ใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูก และ หูดบริเวณอวัยวะเพศ
ข. วัคซีนแบบ 2 สายพันธุ์ ใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกอย่างเดียว
ฉีด 3 เข็ม ภายใน 6 เดือน
แนะนำให้ฉีดในผู้หญิงวัยก่อนมีเพศสัมพันธุ์ หรืออายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป
เพราะเชื้อ HPV ติดต่อทางเพศสัมพันธุ์
ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธุ์แม้อายุมากแล้ว ก็ยังได้ประโยชน์จากวัคซีนนี้เช่นกัน
สำหรับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แนะนำฉีดในผู้หญิงอายุ 11 - 26 ปี


5. HPV ในผู้ชายที่รักร่วมเพศ แนะนำให้ฉีดเช่นเดียวกับผู้หญิง
เพื่อป้องกันมะเร็งบริเวณทวารหนัก หรือ รอยโรคบริเวณอวัยวะเพศ


6. ไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่คุ้นเคยกันอยู่แล้วนะครับ แนะนำให้ฉีด ทุก 1 ปี
ป้องกันไข้หวัดใหญ่ A สองสายพันธุ์คือ H1N1 กับ H3N2 และ B 1 สายพันธุ์
ถ้าใครไปฉีดที่ต่างประเทศอาจจะได้แบบ A สองสาย และ B สองสายพันธุ์
บ้านเรามีแนวโน้ม อาจจะนำแบบต่างประเทศมาฉีด คือกัน B สองสายพันธุ์ เนื่องจากเราพบ B มากขึ้น
แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้ป้องกัน ไข้หวัดนก (Avian Influenza) นะครับ
การฉีดมีสองแบบ คือเข้ากล้าม กับ เข้าหนัง ได้ผลใกล้เคียงกันทั้งคู่
  

7. ตับอักเสบบี ถือเป็นวัคซีนเช็คอายุอย่างแท้จริง
ใครเกิดหลังปี 2535 มักจะโดนบังคับฉีดตอนเด็กไปแล้ว
ไม่เหมือน MMR คือถ้าฉีดแล้ว ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง ก็ไม่ต้องฉีดอีก
หากไม่แน่ใจ กระตุ้น 1 เข็มก่อน แล้วเจาะเลือดดูภูมิ ถ้ามีภูมิหลังกระตุ้นเข็มแรก ก็ไม่ต้องฉีดเข็ม 2 กับ 3
แต่ในคนเกิดก่อนปี 2535 ตอนเด็กเกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีด แนะนำให็ฉีด 3 เข็มใน 6 เดือนนะครับ


8. PPV-23 และ PCV-13
อันนี้ถือเป็นวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุหรือคุณพ่อคุณแม่เราเอง
เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ Streptococcus pneumoniae

แนะนำให้ฉีดใน คนที่อายุเกิน 65 ปี หรืออายุไม่ถึงแต่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว โรคตับ โรคไตวายเรื้อรัง
โดยฉีด เข็มเดียว หรือ สองเข็มทั้ง PPV-23 และ PCV-13 ให้ไปปรึกษาคุณหมอในรายละเอียดอีกทีนะครับ


9. วัคซีนสำหรับนักเดินทาง (travel vaccine)
ก. ไข้กาฬหลังแอ่น ไม่ได้แนะนำให้ฉีดทุกคน แต่ควรฉีด 1 เข็มในคนที่
- เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยฉีดก่อนวันเดินทางอย่างน้อย 10 วัน ภูมิอยู่ได้ 3-5 ปี
- ไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ถ้าเป็น college จะบังคับฉีด
- ไปอาศัยหรือทำงานในแอฟริกาพื้นที่ที่อยู่ต่อทะเลทรายซาฮารา
ข. ไข้เหลือง (yellow fever) ในคนที่ต้องเดินทางไป แอฟริกา หรือ อเมริกาใต้
เช่นช่วงฟุตบอลโลกที่ผ่านมา ฉีดก่อนเดินทาง 10 วันเช่นกัน จำนวน 1 เข็ม
ค. ไข้รากสาดน้อย (typhoid) ในคนที่ต้องเดินทางไป อินเดีย หรือ ปากีสถาน โดยเฉพาะ backpacker
ฉีด 1 เข็มก่อนเดินทาง
ง. ไข้สมองอักเสบ (JE) ถ้าไม่แก่มาก มักจะมีภูมิกันอยู่แล้ว ไม่ต้องฉีดอีก ยกเว้นถ้าไม่เคยฉีดตอนเด็ก
แนะนำให้ฉีด หรือ คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในภูมิภาคของเรานานเกิน 1 เดือน
จ. ตับอักเสบเอ (Hepatitis A) แนะนำเฉพาะคนที่ต้องเดินทางไปพื่นที่ที่มีความชุกชุมของโรคเยอะ
ฉีดสองเข็มห่างกัน 6-12 เดือน
ฉ. วัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรค (Cholera) เฉพาะถ้าต้องเดินทางไปในพื้นที่ๆที่มีการระบาดของโรค
เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน ต้องดื่มวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 1-6 สัปดาห์
ช. วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies) เฉพาะถ้าต้องเดินทางไปที่ๆห่างไกลสถานพยาบาล คือ โดนสัตว์กัดแล้วอาจ
ไม่สามารถหาสถานพยาบาลได้ แนะนำให้ฉีดกันไปก่อน


10. หมอ และ พยาบาล สรุปคร่าวๆ ควรได้รับวัคซีนดังต่อไปนี้
TT หรือ Td ทุก 10 ปี
Varicella vaccine 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน (เจาะเลือดดูภูมิก่อนให้)
MMR 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน
HPV 3 เข็มใน 6 เดือน ในผู้หญิง และ หมอหรือพยาบาลผู้ชายที่รักร่วมเพศ
Flu shot ทุกปี
Hepatits B 3 เข็มใน 6 เดือน (เจาะเลือดดูภูมิก่อนให้)

อ้างอิง: ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
http://www.rcpt.org/index.php/2012-10-03-16-53-39/category/6-2013-02-02- 09-02-52.html?download=140%3A-2014


ที่เขียนกระทู้นี้ เนื่องจากเรื่องวัคซีนในผู้ใหญ่ ปัจจุบันมีตัวใหม่ๆเข้ามามากขึ้น
สร้างความสับสนให้คนทั่วไปพอสมควร ทางราชวิทยาลัยเองก็เพิ่งอัพเดตข้อมูลกันไปไม่นาน
แต่เนื้อหาอาจจะอ่านยากพอสมควร สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานทางด้านนี้
ผมเลยพยายามเขียนให้มันดูอ่านง่ายหน่อย (รึเปล่า 55555)
ข้อมูลที่ผมเขียนทั้งหมดนี้เป็นของปี 2014 ก็ถือว่าใหม่มากๆ
หวังว่ากระทู้นี้จะพอเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่