แชร์ประสบการณ์เขียนอีบุ๊ค จนลาออกจากงานประจำ

กระแสอีบุ๊คในประเทศไทยมีเป็นพักๆ แต่ในอเมริกานั้นติดลมบนครับ มีนักเขียนฝรั่งทำเงินมากมายจากการเขียนอีบุ๊ค ส่วนในไทยนั้นคลุมเครือ ด้วยเงื่อนไขหลายๆอย่างก็ว่ากันไปครับ แต่ในวิกฤตมีโอกาสสำหรับคนที่อยากเขียนจริงๆ ก่อนลงรายละเอียดผมแนะนำตัวสั้นๆก่อนว่าผมเป็นใครจะมาแชร์ประสบการณ์เขียนอีบุ๊ค...

หลังจากเป็นมนุษย์เงินเดือนมาสิบปี ปัจจุบันเขียนอีบุ๊คและบล็อกอยู่กับบ้านครับ ผมมีแฟนเพจอยู่ที่ https://www.facebook.com/ceoblog.co/ แนะนำตัวแค่นี้ครับ ป่ะ เริ่มๆ...

ผมเริ่มต้นเขียนอีบุ๊คเพราะความอยากเขียนเป็นหัวใจสำคัญครับ Why ของผมคือ ผมอยากแชร์ประสบการณ์ทำงาน เพื่อประโยชน์กับผู้อ่าน ส่วนเรื่องรายได้จากการเขียนผมก็อยากได้ครับ แต่ถ้าผมรอสำนักพิมพ์ผมคงต้องรอนาน  ด้วยความที่ผมทำงานสายบริหาร นักบริหารมักมองหาการทำงานที่ Efficient ที่สุดเพื่อให้เข้าถึง “เป้าหมาย” ได้เร็วที่สุด

ทำให้ผมมองว่าการเดินตามระบบเป็นเรื่องเสียเวลา ผมจึงตัดระบบออกไป ระบบในที่นี้คือระบบสำนักพิมพ์ โปรดจำไว้ Why ของผมคือ ผมอยากแชร์ประสบการณ์ทำงาน และเป้าหมายของผมคือ ผู้อ่าน ผมตัดคนกลางออกไป (ชั่วคราว) แล้วทำเป็น อีบุ๊ค

ปัญหาในตอนนั้นคือ ข้อมูลเกี่ยวกับอีบุ๊คในด้านดีแทบไม่มีเลยครับ เปิดเน็ตมามีแต่ความคิดในแง่ลบ ว่าทำไม่ได้ ทำไม่ดี ขายไม่ออก ฯลฯ ถึงจุดนี้หลายคนที่อยากเขียนอาจจะถอดใจเลิกเขียน ผมเองก็เกือบจะเช่นกัน แต่ผมก็กลับไปทบทวน Why และ เป้าหมายของตัวเอง พร้อมประเมินความเสี่ยงที่ผมจะได้รับ ความเสี่ยงสูดสุดของผมคืออะไร? ก็คือ ขายไม่ออก และผมจะเสียอะไร ผมก็จะเสียเวลาที่เขียนไปรวมๆ 40-50 ชั่วโมง และค่าทำเว็บไซต์ประมาณ 5,000 บาท

ผมถามตัวเองว่า ความเสี่ยงนี้ผมรับได้ไหม ผมรับตอบตัวเองว่า “ผมรับได้” ผมก็ลุยเลย! ผลลัพธ์คือ อีบุ๊คเล่มแรกเจ๊งครับ

ผมก็กลับไปทบทวนความผิดพลาดและแก้ไขปรับปรุงใหม่ ทั้งกลุ่มเป้าหมาย เนื้อหา การตลาด เล่มที่สองเวิร์คครับ วันแรกขายได้ 20,000 บาท สามเดือนทะลุครึ่งแสน ผมทำเล่มอื่นๆ ออกตามมา ภายในปีเศษๆ ยอดขายสะสมเกิน 2 แสนบาท* จากการมีอีบุ๊คขายกิน Passive income ตอนนั้นผมยังทำงานประจำไปด้วยครับ*

* ยอดสะสมนับจากวันแรกที่ขาย ไม่ใช่ยอดขายต่อเดือน

กำไรของหนังสือเล่มนักเขียนได้ 10-15% ส่วนอีบุ๊คนั้นคุณได้ถึง 70-80% ครับ ส่วนที่หักไปคือค่าโฆษณาครับ ผมใช้ Facebook ads

สิ่งที่ต่อยอดจากอีบุ๊คคืองานวิทยากรครับ เรียกว่าเป็นรูปแบบที่ต่อยอดซึ่งกันและกันเช่นเดียวกับนักเขียนหนังสือเล่ม ต่อมาผมสามารถพัฒนาคอร์สสัมมนาธุรกิจต่างๆขึ้นมาได้ เหล่านี้รวมกันทำให้ผมสามารถผันมาทำอาชีพนี้แบบ Full-time ได้ครับ

ส่วนหนังสือเล่มนั้นก็ยังจำเป็นอยู่ โดยผลงานและฐานลูกค้าที่มาจากอีบุ๊คก็จะอำนวยต่อการทำหนังสือเล่มในอนาคต

ผมจะไม่เปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่ากันนะครับ บางคนชอบความฟินของกระดาษ บางคนชอบอ่านบน Device เพราะไม่ต้องแบก ก็ว่ากันไปนานาจิตตัง แค่ให้กลับไปหา Why และเป้าหมายของตัวเองครับ Why คือ คุณมีสิ่งที่อยากบอก และเป้าหมายคือผู้อ่านที่รัก เท่านี้พอ ถ้าอีบุ๊คทำให้ Why ของคุณเกิดก่อนก็ทำอีบุ๊ค จากนั้นก็ไปทำหนังสือเล่ม ผมมีเพื่อนที่ Why ของเขาเกิดเป็นหนังสือเล่มก่อน แล้วตอนหลังก็มาทำอีบุ๊ค ฉะนั้นจะไม่ว่าใครดีกว่าใครแต่เราจะไปด้วยกัน

จากประสบการณ์เขียนอีบุ๊ค การเขียนนั้นไม่ยากครับ อย่าคิดมาก คิดให้ง่ายที่สุด...

1. เรื่องที่คุณรู้อยู่แล้ว คุณจะเขียนได้เร็วและไหลลื่น การเขียนอีบุ๊คใช้เวลาไม่นานครับ 20,000 คำประมาณ 40 ชั่วโมง
2. ช่วงแรกๆ จะขี้เกียจเขียน ต้องสร้าง Momentum ในการเขียนโดยการเขียนทุกวัน วันละนิดวันละหน่อยก็ยังดีเพื่อสร้างวินัยให้ใจตัวเอง
3. คิดได้ ทำเลย อย่าวางแผนนาน ไฟจะมอดแล้วจุดไม่ติด
4. อย่าไปสนใจกับเทคนิคคอลครับ คนถามใช้ซอฟต์แวร์อะไรเขียน ก็แค่ MS Word แล้ว Convert เป็น PDF แล้วส่งไปเว็บอีบุ๊ค อาทิ OokBee.com หรือ Ebooks.in.th ฯลฯ ทำให้มันเข้าถึงง่ายครับ

การตลาดสำคัญที่สุด

สิ่งที่ท้าทายกว่าการเขียนคือการตลาดครับ มันคือ Life time mission หรือ ภารกิจตลอดชีวิตของท่านเลยครับ นักเขียนอาจแยก การเขียน และ การขาย ออกจากกัน แต่ชีวิตของเราทุกคนผูกพันกับการขายตั้งแต่เกิด อ้อนแม่ให้ซื้อของเล่นก็ต้องขายตัวเองให้ได้ สมัครงานก็ต้องขายตัวเองให้ได้ ผลงานที่คุณสร้างขึ้นก็ต้องขายให้ได้ งานเขียนของคุณ คุณก็ต้องขายให้ได้

เขียนอีบุ๊คขึ้นมาแล้วเอาไปแปะไว้ตามเว็บไซต์ มันขายตัวมันเองไม่ได้ครับ คุณต้องบิวต์กระแสให้คนรู้จักและอยากอ่าน กรณีผมก็สร้างบล็อกและแฟนเพจขั้นมาสร้างฐานผู้อ่านเพื่อขายงานเขียนครับ

นักเขียนอีบุ๊ค งานส่วนใหญ่ก็จะอยู่บนโลกออนไลน์ ฉะนั้นคุณต้องเรียนรู้ที่จะสร้างเว็บบล็อก การทำ Social media marketing รู้หลัก SEO นิดหน่อย ฯลฯ ครับ เหล่านี้หากมีโอกาสผมจะมาแชร์ให้ฟัง แต่วันนี้อยากอยู่ในขอบเขตของแชร์ประสบการณ์อีบุ๊คครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่