เอาผลงานมาแชร์ให้ดูกันครับ เป็นเพาเวอร์แอมป์ทำเอง ชื่อ TH-600 กำลัง 300 วัตต์ต่อข้าง

เอาผลงานมาแบ่งปันให้ชมให้ฟังกันนะครับ TH-600 เป็นชื่อโปรเจ็คงานวิจัยเครื่องเสียงของผมเอง จริงๆแล้วผมเคยออกแบบและสร้างเพอเวอร์แอมป์สำหรับใช้เองมานานหลายปีมากแล้วตั้งแต่สมัยเรียนจบปวช เล่นทั้ง ทรานซิสเตอร์ หลอด และ มอสเฟต ช่วงเสร็จจากสอบเข้า ป.ตรี  ว่างๆก็เลยทำเล่น ให่ชื่อว่าTH-200SE ทุกวันนี้ก็ยังใช้มันอยู่เลยครับ

ผมชอบในเรื่องการออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์และสร้างเพื่อใช้เองครับ แต่จะขอเล่าเฉพาะในส่วนของเครื่องเสียงนะครับ ถือเป็นโชคดีอย่างนึงนะครับที่ในยุคนี้การเผยแพร่ข้อมูลบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ทนั้นทั่วถึงและมีคนอยากเอาข้อมูลแทบจะทุกเรื่องบนโลกใบนี้ (แม้กระทั่งเรื่องการหายไปของเหนียวไก่) มาไว้ในที่ๆ ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ในวงการของนัก DIY เครื่องเสียงเรามีฟอรัม diyaudio.com เป็นที่ๆเอาของมาปล่อยกัน ใครชอบเรื่องแนวๆนี้ลองแวะเข้าไปหาข้อมูลกัน ผิดบ้างถูกบ้าง ก็ต้องลองพิจารณากันดู แต่มีประโยชน์แน่นอนครับ เว็บไซท์ผู้ผลิตเครื่องเสียงทั้งหลายก็เช่นกันครับ เอาเทคนิคการออกแบบและแนวคิดของตัวเองมาอวดกัน(ส่วนใหญ่ก็ผู้ผลิตทางยุโรปและอเมริกา) สำหรับตัวผมเองพอได้อ่านก็แนวคิดเหล่านั้นก็เกิดการคันไม้คันมือขึ้นมาทันที เอากระดาษ A4 ขึ้นมาลองขีดๆเขียนๆดูบ้าง

ผมเคยห่างหายจากการเล่นเครื่องเสียงมาหลายปีเนื่องจากงานค่อนข้างยุ่งๆไม่ค่อยมีเวลาเท่าไรจนมาช่วงหลังๆนี้รู้สึกว่าวงการนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นเยอะขนาดสาวๆหลายคนยังหันมาเล่นกัน ก็เลยเริ่มอัพเกรดชุดของตัวเองบ้างเริ่มจากลำโพงและสายต่างๆครับ จะมีเพียง pre amp และ power amp เท่านั้นที่ผมไม่เคยซื้อใช้เลย เน้นทำเองตลอด การอัพเกรดสายต่างๆนั้นมันช่างเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงมากจริงๆ แต่ผมก็ไม่ได้ใช้ของแพงมากนะครับ เอาแค่พอดีกำลัง ร้านที่ผมเป็นลูกค้าก็บริการดีมากผมได้ฟังชุดที่ราคาเกินเอื้อมสำหรับผมมาก็หลายชุด ยกตัวอย่างราคาเพาเวอร์แอมป์อย่างเดียวก็ซื้อรถเก๋ง B segment ได้คันนึงเป็นต้น ซึ่งเสียงก็ดีมากๆด้วย

ในช่วงนั้นผมเริ่มคิดแล้วว่าถ้าผมทำใช้เองบ้างล่ะจะพอได้เสียงพอไกล้เคียงกับเครื่องเหล่านี้ที่ผลิตโดยฝรั่งบ้างใหม วิธีเดียวที่จะรู้คำตอบได้มีอยู่วิธีเดียวครับ นั่นคือ "ทำมันซะ"

มันเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2013 ผมต้องการเพอร์เวอร์แอมป์กำลังขับประมาณ 250 วัตต์ต่อข้างสำหรับใช้ขับลำโพงตั้งพื้นได้อย่าง "เอาอยู่" และต้อง DIY เท่านั้นครับ แนวคิดการออกแบบที่ผมต้องการไม่มีอะไรมากครับคือ "ทำให้สุด" ดังนั้นอะไรที่คิดว่าดี จากการที่ได้อ่านข้อมูลจากผู้ผลิตแบรนด์ต่างประเทศทั้งหลายผมพยายามเอามารวมมิตรไว้ที่นี่ให้หมด พอจะสรุปได้ดังนี้นะครับ

- การขยายสุญญาณเป็นแบบสมดุลแท้ (fully balanced)
- แยกภาคจ่ายไฟอิสระตั้งแต่หม้อแปลงสำหรับ ขวา ซาย และวงจรควบคุม
- ขยายแรงดันแค่ครั้งเดียวแบบไม่ใช้การป้อนกลับทางลบ
- ไม่ใช้ตัวเก็บประจุคับปลิ้งสัญญาณ
- ใช้ส่วนประกอบที่ดีที่สุด(เท่าที่พอหาได้)

ผมเริ่มจากการออกแบบวงจรขยายแรงดันจากบนกระดาษและนำไปสร้างจริงบนวงจรที่ต่อขึ้นลอยๆ ไม่มี PCB นะครับ การออกแบบในส่วนนี้ใช้แนวคิดของ Dan D'Agostino ตำนานนักออกแบบและผู้ก่อตั้ง Krell Engineering ซึ่งตอนนี้มีเจ้าของเป็นคนจีนไปแล้ว หลักการ low impedance, current-mode นั้นเป็นแนวคิดที่ฉีกออกไปมาก และมันเป็นสิ่งที่ท้าทายผมมาก แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการมีจำนวน stage ของการขยายสัญญามากเกินความจำเป็น และการรักษาแรงดันให้กับภาคขยายภาดสุดท้ายใน Krell FPB600 รวมถึงการจัดจุดการทำงานแบบแปรผันเพื่อให้เป็น class A ตลอดเวลา  
ภาคขยายแรงดันของ TH-600 ใช้หลักการออกโดยเป็น current-mode เช่นเดียวกัน แต่ปรับปรุงความเป็นเชิงเส้นของการขยายกระแสโดยการบังคับให้ Vce ของทรานซิสเตอร์นั้นคงที่ และแปลงกลับเป็นแรงดัน(I/V conversion)ในภาคเดียวกัน
มีการปรับแต่งอยู่พอสมควร ส่วนที่น่าสนใจอีกส่วนนึงคือ ภาคจ่ายไปแบบรักษาระดับแรงดันคงที่สำหรับวงจรขยายแรงดัน ซึ่งนิยมออกแบบเป็นสองแนวทางนะครับจาก 2 ฟากฝั่งนักออกแบบนะดับตำนานคือ แบบ ป้อนกลับ(Mark Levinson) และ แบบไม่ป้อนกลับ (Krell) (ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในฟอรั่มต่างประเทศเกียวกับผลกระทบต่อเสียง) วิธีการพิสูจน์ก็มีวิธีเดียวเช่นกันครับคือ "ทำมันทั้งคู่" แล้วฟังมันดู

การทำลองในห้องพระที่บ้าน(ช่วงนั้นผมทำบ้านรกมาก) ผมใช้วงจรภาคจ่ายไฟทั้งสองประเภทต่อเข้าวงจรทดสอบ แล้วเปิดเพลงเดียวกันฟังยกละ 5 ครั้งผลคือ แบบไม่ป้อนกลับ ให้เวทีเสียงที่นิ่งกว่าเล็กน้อย ให้เสียงเบสขนาดใหญ่ออกแนวมีกระเพื่อมนิด ส่วนแบบป้อนกลับ(global feedback) ให้เสียงเบสที่กระชับกระฉับกระเฉงกว่าและที่สำคัญคือ มันให้รายละเอียดเสียงย่านสูงได้ดีกว่ามากยกตัวอย่างเช่นเสียงกระดิ่งหรือเครื่องดนตรีประเภทดีดๆตีๆ เสียงนักร้องก่อนที่จะหุบริมฝีปากลงชัดเจนกว่ามาก แม้ว่าจะใช้วงจรทำสอบที่ถูกต่อขึ้นแบบไม่สวยงามนักและใช้เพียงสายปากคีบเชื่อมต่อในหลายๆจุด แต่ก็ยังฟังออกได้อย่างง่ายครับ
คราวนี้ก็งานเข้าสิครับผมต้องเลือกใช้วงจรแบบป้อนกลับซื่งวงจรซับซ้อนกว่ามาออกแบบบน PCB

อีกเรื่องนึงลืมเล่าไปคือ จริงๆแล้วมันถูกออกแบบให้เป็น integrated amp ตั้งแต่ต้นนะครับ คือมันมีภาค pre amp และ volume control ที่ใช้หลักการ R-2R และคุมเครื่องด้วย remote control แต่ผมมาเปลี่ยนใจตอนหลัง ยกเลิกภาค pre amp ไป เนื่องจากอยากทำ pre หลอดเป็น project ถัดไป.

ความยากของอีกจุดนึงของงานนี้คือจะเอาทุกอย่างยัดลงไปในแท่นเครื่องเดียวได้อย่างไร เนื่องจากจะต้องมีหม้อแปลงทั้งหมด 5 ตัว แผงจงจรใหญ่ 2 แผ่น อีก 2 แผ่นสำหรับภาคสุดท้าย และอีก 1 สำหรับวงจรเซนเซอร์ มันทำให้งานออกแบบและงานประกอบเป็นไปอย่างยากทำบากและใช้เวลานานพอสมควรครับ จะเกือบจะล้มเลิกไปแล้ว แต่แล้วก็เอาจนเสร็จได้ครับ ผมทำวีดีโออธิบายหลักการออกแบบโดยรวมไว้ให้ชมกันนะครับ ลองดูนะครับ เอามาแชร์ให้ชมกันเพื่อความรู้และความบันเทิงนะครับ ผิดถูกอย่างไรขออภัยครับ  หมา


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่