อย่าเอาเรื่องการ customization มาใช้ในทางการแพทย์จะได้ไหมครับ

กระทู้สนทนา
http://ppantip.com/topic/32909181
ได้ไปอ่านกระทู้ข้างต้นแล้วไม่สบายใจอย่างมาก ผมมีเรื่องที่จะบอกดังนี้


เดี๋ยวนี้ระบบธุรกิจจะมีออปชั่นต่างๆมาให้ลูกค้าได้มีโอกาสเลือกได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงเทคโนโลยี่ต่างๆก็เอาใจลูกค้าให้สบายมากขึ้น จึงมีคำว่า Customization ซึ่งแปลว่าสินค้าที่ขายโดยให้ลูกค้าเป็นคนกำหนด สี รูปร่าง ขนาด ธีม ออปชั่นเสริมต่างๆของสินค้าเอาเอง ตามความชอบของสินค้าหรือบริการนั้น
แต่ว่าเรื่องแบบนี้จะเอามาใช้ในทางการแพทย์ไม่ได้ เพราะทางการแพทย์การตัดสินใจต่างๆจะทำไปตาม Guide line ที่มีการวิเคราะห์มาอย่างเป็นระบบ โดยดูเอาตามอาการของคนไข้ว่าเมื่ออาการเป็นมาแบบนี้ จะมีอันตรายเกิดขึ้นต่อไปอย่างไร ควรจะต้องให้การรักษาอย่างไร
อย่างในกรณีเด็กเล็กๆ เมื่อมีภาวะขาดน้ำ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยเราก็ไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ แต่ถ้าเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรงก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ในการนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด (เจอมาหลายๆเคสแล้วที่เด็กขาดน้ำแล้วในที่สุดก็เสียชีวิต) อย่างในรายนี้เด็กมีภาวะอาเจียนด้วยก็บ่งชี้ว่าเด็กไม่สามารถที่จะกินอาหารหรือกินเกลือแร่ทดแทนในรูปของเกลือแร่ ORS ผงผสมน้ำได้ ถ้าแบบนี้ปล่อยกลับบ้านไปแล้วหละก้ออันตรายมาก ถ้าคุณแม่อยากจะเสี่ยงชีวิตลูกในแบบนี้ เป็นผมก็คงไม่ว่าอะไร ให้กลับบ้านพร้อมกับให้เซ็นยินยอมใบไม่สมัครใจนอนโรงพยาบาลไปเสีย

จะเล่าอีกสองสามเคสให้ฟัง
คนไข้อีกราย มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก (เป็นญาติเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทีทำงานอยู่ด้วยกัน) มาตรวจกับผมแล้วคลื่นหัวใจ ปกติ แต่ผมสงสัยว่ามันจะเป็นภาวะหัวใจขาดเลือดในแบบที่ไม่แสดงความผิดปกติที่คลื่นหัวใจ ที่ภาษาแพทย์เรียกว่า NSTE-ACS (Acute coronary syndrome แบบหนึ่ง) คุยกับคนไข้ว่าน่าจะนอนโรงพยาบาลนะ คอยตรวจดูเอนไซม์ของหัวใจ ตรวจติดตามไป เพราะว่าน่าจะเป็นหัวใจขาดเลือด แต่คนไข้ยืนกรานที่จะไม่นอนโรงพยาบาล หลังจากนั้นสองวันถัดมาคนไข้ไปทำนา แล้วไปเสียชีวิตที่นั่น   อันนี้เป็นเคสแรก จากการ customization คือขอเลือก option การรักษาแบบสะดวกของคนไข้เข้าว่า
เคสถัดมา คนไข้เป็นพนักงานโรงพยาบาลเอง เจ้าหน้าที่ห้อง X-ray มาตรวจเพราะว่า ปวดท้องตรงกลางท้อง คลื่นไส้ ร่วมด้วย เคสปวดท้องแบบนี้หมอหลายคนก็มักจะวินิจฉัยเป็นโรคกระเพาะ หรือ อาหารเป็นพิษ แต่ว่าถึงแม้จะปวดกลางท้องผมก็จะจับคนไข้นอนตรวจบนเตียงเสมอ แล้วพอกดที่หน้าท้องตรงตำแหน่งไส้ติ่ง (Mc Burney's point) ปรากฏว่าคนไข้เจ็บมากขึ้น ก็บอกคนไข้ไปว่า ไม่น่าใช่อาหารเป็นพิษนะ น่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบน่าจะตรวจอัลตร้าซาวด์หรือได้พบกับหมอศัลยกรรมเพิ่ม แต่คนไข้ขอต่อรองว่า ยังไงก็คิดว่าน่าจะเป็นอาหารเป็นพิษ ขอยารักษาแบบอาหารเป็นพิษไปก่อนได้ไหม (อันนี้เข้าข่าย Customization แบบขอวินิจฉัยโรคเอาเองเลย คือไม่อยากได้โรคไส้ติ่งอักเสบ อยากได้โรคอาหารเป็นพิษแทน มีแบบนี้ด้วย) สามวันต่อมาอาการปวดท้องไม่ดีขึ้นได้มาให้หมออีกคนตรวจใหม่ แพทย์ตรวจแล้วพบว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบชนิดที่เรียกว่าไส้ติ่งแตกไปแล้ว ก็เลยกลายเป็นว่าไม่สามารถจะผ่ารักษาได้แล้ว ก็เลยต้องใช้วิธีนอนโรงพยาบาลให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดต่ออีกหลายวัน
อีกเคสหนึ่ง เด็กวัยรุ่นขี่รถจักรยานยนต์ล้ม มาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน แพทย์ตรวจพบว่าเป็นกระดูกหน้าแข้งหักแบบมีแผลเปิด (Open fracture) ซึ่งใน Guide line ทางการแพทย์ถือเป็นข้อบ่งชี้ในการรีบพาเข้าห้องผ่าตัดเพื่อล้างทำความสะอาดและผ่าตัดกระดูกที่หักนั้น แต่ว่าเด็กคนนี้มีพ่อเด็กที่ขี้วีนขี้โมโหอย่างมาก เวลามาที่โรงพยาบาลทีไรก็ชอบมาวีนที่ห้องฉุกเฉินทุกที ในวันนั้นพอเด็กมาถึงห้องฉุกเฉิน พ่อเด็กติดธุระอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ไม่ได้มาพร้อมกับลูก แต่เมื่อรู้ว่าลูกบาดเจ็บมาโรงพยาบาลแล้วแกก็โทรมาบอกพยาบาลเลยว่า เคสนี้ห้ามทำอะไรทั้งสิ้นต้องรอให้ผมมาดูก่อนแล้วผมจะตัดสินว่าจะเอายังไง เมื่อไม่ให้ทำอะไร พยาบาลก็ต้องได้แต่รอพ่อเด็กมาถึง ซึ่งกว่าจะมาถึงโรงพยาบาล การรักษาที่ควรจะทำไปตามขั้นตอนก็ช้า ไม่ได้เข้าผ่าตัดหรือล้างแผลไปตาม Golden period ที่เขียนไว้ในตำราแพทย์ ในที่สุดกระดูกที่ผ่าตัดดามเหล็กเอาไว้ก็ไม่ติด เด็กก็ต้องมาทำการผ่าตัดแก้ใหม่ แผลเป็นตรงหน้าแข้งก็ใหญ่น่าเกลียดมากๆ
อีกเคส ไม่ได้เป็นเคสของโรงพยาบาลผม แต่ว่าเป็นโรงพยาบาลในเครือ แม่ตั้งท้องเด็ก แต่ว่า แม่ตัวอ้วนมาก หมอสูติก็เลยแนะนำว่าควรที่จะผ่าตัดคลอด (Cesarean section) นะ แต่แม่เด็กไม่ยอม จะขอคลอดแบบปกติ หมอสูติก็เลยต้องทำคลอดแบบปกติ พอถึงเวลา เด็กก็ตัวโตเกินกว่าที่ผ่านช่องคลอดได้ ก็ต้องมีการดึงแขนเด็ก แล้วเกิดผลแทรกซ้อนคือเส้นประสาทบริเวณต้นแขนเกิดการขาด แล้วเด็กเป็นอัมพาตไม่สามารถขยับแขนข้างนั้นได้เลย ( Erb's palsy) หลังคลอด แม่เด็กฟ้องร้องหมอสิบล้าน  หมอก็บอกว่าก็เคยแนะนำให้ผ่าคลอดแล้วแม่เด็กไม่ยอมเองนี่ แม่เด็กก็ย้อนกลับมาว่า ก็ฉันไม่ใช่หมอนี่ จะมาตัดสินวิธีการคลอดเองได้ยังไง เคสนี้ไม่ได้ตามต่อว่าผลการฟ้องร้องเป็นยังไง

สรุปแล้วในเรื่องทางการแพทย์ซึ่งมันจะมี Guide line ของเค้าอยู่แล้วนี่ พยายามให้แพทย์เค้าได้ทำไปตาม Guilde line ได้ไหม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่