ให้ทานเพื่อผู้อื่น

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=4071&Z=4078&pagebreak=0

เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ สิ่งของที่นำออกได้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขา
สิ่งของที่ถูกไหม้อยู่ในเรือนนั้น หาเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขาไม่ ฉันใด

เมื่อโลกถูกชราและมรณะแผดเผาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน

บุคคลควรนำเอาออกมาด้วยการให้ทาน
สิ่งที่ให้ไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลนำออกมาดีแล้ว
ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจในโลกนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไป
ผู้ซึ่งได้สร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่







บุญ-ทาน

“บุญ” ไทยอ่านว่า บุน
บาลีเป็น “ปุญฺญ” อ่านว่า ปุน-ยะ แปลตามรากศัพท์ว่า “การกระทำที่ชำระสันดานของผู้ทำให้สะอาด”
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา

“ทาน” ไทยอ่านว่า ทาน
บาลีอ่านว่า ทา-นะ แปลว่า การให้, การเผื่อแผ่, การแบ่งปัน, ความเอื้อเฟื้อ, ของบริจาค

คนส่วนมากเข้าใจว่า -
บุญ คือถวายของแก่พระสงฆ์ เช่นตักบาตร หรือบริจาคให้แก่กิจการการกุศล เรียกว่า “ทำบุญ”
ทาน คือให้แก่คนธรรมดาหรือให้แก่สัตว์ เช่นให้เงินคนขอทาน หรือให้อาหารแก่สุนัข เรียกว่า “ให้ทาน”

หลักความเข้าใจที่ถูกต้องแบบง่ายๆ คือ “บุญ คือความดีทั้งปวง, ทาน คือวิธีทำบุญแบบหนึ่ง”

ท่านจำแนกทางเกิดของบุญ หรือวิธีทำบุญไว้ 10 วิธี ดังนี้ -
1 ทาน - การให้ = “ทำบุญให้ทาน”
2 ศีล - ควบคุมพฤติกรรม = “ทำบุญถือศีล”
3 ภาวนา - อบรมจิตใจ = “ทำบุญภาวนา”
4 อปจายนะ - อ่อนน้อมถ่อมตน = “ทำบุญไหว้พระ”
5 เวยยาวัจจะ - ช่วยขวนขวายรับใช้ = “ทำบุญช่วยงาน”
6 ปัตติทาน - เฉลี่ยส่วนความดีให้ผู้อื่น = “ทำบุญแบ่งบุญ”
7 ปัตตานุโมทนา - ยินดีความดีของผู้อื่น = “ทำบุญโมทนา”
8 ธัมมัสสวนะ - ฟังธรรม = “ทำบุญฟังธรรม”
9 ธัมมเทสนา - สั่งสอนธรรม = “ทำบุญให้ธรรม”
10 ทิฏฐุชุกรรม - ปรับความเห็นให้ถูกธรรม = “ทำบุญเห็นถูก”

ทำบุญให้ทานต้องควักกระเป๋า ทำบุญอีกเก้า มือเปล่าก็ทำได้

นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย https://www.facebook.com/tsangsinchai?fref=ts
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่