ผลวิจัย ตอกย้ำระบบการศึกษาไทย ใช้งบฯสูง คุณภาพต่ำ แนะปรับการคัดเลือกครูใหม่ เป็นการจัดทดสอบมาตรฐานระดับชาติ



ผลวิจัย ตอกย้ำระบบการศึกษาไทยใช้งบฯสูง คุณภาพต่ำ แนะปรับการคัดเลือกครูใหม่ เป็นการจัดทดสอบมาตรฐานระดับชาติ และให้โรงเรียนเลือกผู้ที่ผ่านการทดสอบเอง



วันนี้ (24 พ.ย.) ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และ ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร ผู้ศึกษาวิจัยในหัวข้อ “การเติบโตอย่างเป็นธรรม : การสร้างโอกาส และการลดความเสี่ยงของประชาชน” กล่าวว่า จากการสัมมนาวิชาการทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2557 เรื่อง“ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า : สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้นำเสนอข้อมูลการวิจัยดังกล่าว เกี่ยวกับความเสี่ยงในวัยเด็กมาจากระบบการศึกษา พบว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยใช้งบประมาณสูงมาก แต่มีคุณภาพต่ำ และมีความเหลื่อมล้ำสูง ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จึงต้องเริ่มจากการยกระดับคุณภาพครู โดยการปรับระบบการคัดเลือกครูใหม่ ให้เป็นการจัดทดสอบมาตรฐานระดับชาติ และให้โรงเรียนมีบทบาทในการคัดเลือกผู้ที่ผ่านการทดสอบดังกล่าว จากเดิมที่แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาจะเป็นผู้จัดการสอบเอง ซึ่งคุณภาพของข้อสอบแตกต่างกัน และโรงเรียนไม่มีบทบาทในการคัดเลือก

ผู้ศึกษาวิจัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ควรต้องพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีปัญหาเรื่องครูไม่ครบชั้น และมีต้นทุนต่อนักเรียนสูง โดยภาครัฐควรสนับสนุนให้โรงเรียนขนาดที่เล็กอยู่ใกล้กัน และมีการคมนาคมที่สะดวก มาจัดการศึกษาร่วมกัน และอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล ขณะเดียวกันควรจัดสรรครูเพิ่มให้เพียงพอต่อการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ประมาณ 15,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 12,000 แห่งที่มีครูไม่ครบชั้น ส่วนการแก้ปัญหาการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานั้น ในการจัดสรรทรัพยากรควรต้องคำนึงถึงการสร้างโอกาสให้นักเรียนทุกคนที่มีผลการเรียนดี และต้องจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มขึ้นให้แก่นักเรียนที่ยากจนในโรงเรียน เพราะปัจจุบันนักเรียนทุกคนได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเกือบเท่ากัน

“หากมองให้ลึก มองให้ไกลถึงอนาคตประเทศไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า ความท้าทายประการหนึ่งคือการพัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์ ซึ่งปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญคือคุณภาพการศึกษา ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ รับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปได้” ผู้ศึกษาวิจัย กล่าว. http://goo.gl/lWYu3E

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่