สงสัยเกี่ยวกับการเรียกเวลา 2 โมง 3 โมง 4 โมง เราถนัดเรียก 9 โมง 10 โมง 11 โมง เพื่อนๆเรียกกันแบบไหน?

ดิฉันเริ่มสันสนเริ่มแรกดิฉันคิดว่า การเรียกเวลา 09.00 น. หรือจะเป็น 10 โมง 11 โมง เช้า เป็นเรื่องปกติ
แต่เริ่มไม่ปกติเมื่อเวลาสนทนากับเพื่อนๆ ซึ่งเรียกเวลาช่วงเช้า กันเป็น 2โมง 3 โมง !!!  แถมยังบอกว่าดิฉันว่า ที่กรุงเทพฯ เขาเรียกกันเป็นแบบนี้
ดิฉันถนัดกับ คำว่า 2 โมง 3 โมง หมายถึงตอนบ่ายๆ แต่ว่าเพื่อนดิฉันเรียก ได้ทั้งเช้าทั้งบ่ายแถมยังบอกดิฉันว่า ต่างจังหวัดมาก !!

เลยอยากถามเพื่อนๆว่า ปกติเรียกเวลา เช้า ช่วง 08.00 น-12.00 น. กันแบบไหนคะ?
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
ติดปากกันทุกคนล่ะครับ กับคำถาม-คำตอบเรื่อง "เวลา" ไม่ว่าจะเป็น

    "กี่โมงกี่ยามแล้วเนี่ย"
    "ดูนาฬิกาให้หน่อย กี่โมงแล้ว"
    "สิบเอ็ดโมงเจอกันนะ"
    "คืนนี้กลับดึกหน่อยนะ อาจจะสักสี่ทุ่ม"

    เคยสงสัยไหมครับว่า การบอกเวลาแบบไม่เป็นทางการของบ้านเราที่ใช้กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด นั้นมีศัพท์แปลกๆ อย่าง "ทุ่ม" - "โมง" อยู่ คำสองคำนี้มีที่มาน่าสนุกไม่น้อยครับ ตามไอน์สไตน์น้อยไปดูกันดีกว่าครับ

    สำหรับประเทศไทยแล้ว วิธีการขานเวลามีสองแบบ คือแบบเป็นทางการและแบบไม่เป็นทางการ แบบเป็นทางการทุกคนคงททราบดี ส่วนแบบไม่เป็นทางการเป็นแบบโบราณครับ เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีนาฬิกา นาฬิกายังเป็นของแพง มีเฉพาะสถานที่สำคัญเช่นสถานที่สำคัญ ศาลากลางจังหวัด อะไรแบบนั้น ดังนั้นการจะขานเวลาหรือบอกเวลา จำเป็นต้องแจ้งด้วยสัญญาณที่ดังพอจะได้ยินกันในระยะไกลครับ

        อย่างในตอนกลางวัน สังคมสยามสมัยก่อนจะบอกเวลาโดยอาศัยการตีฆ้อง  ซึ่งจะให้เสียงดัง “โหม่ง”  โดยชั่วโมงแรกของวันตามทัศนะคนไทยคือ 7 นาฬิกา  ( เพราะนับจากเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณ 6 นาฬิกา  ไม่ได้ถือตามฝรั่งที่เอาเวลา 1 นาฬิกาเป็นชั่วโมงแรกของวัน )  ทางการก็จะตีฆ้อง 1 ครั้ง  กลายเป็น 1 โหม่ง หรือ 1 โมงเช้า   เวลา 8  นาฬิกาก็จะตี 2  ครั้ง เป็น 2 โมงเช้า  เวลา 9 นาฬิกาก็จะ 3 ครั้งเป็น 3 โมงเช้า   เรื่อยไปจนถึงเวลา 11 นาฬิกาหรือ 5 โมงเช้า  บางครั้งก็จะเรียกว่า “เวลาเพล”  ตามเวลาที่พระฉันเพล  ส่วนเวลา 12นาฬิกาจะเรียกว่า  “เที่ยงวัน”  

    คำว่า "โมง" จึงมาจากการเลียนเสียงฆ้องที่คนไทยสมัยก่อนฟังได้ว่า มันจะส่งเสียง "โหม่ง" เมื่อตีนั่นแหละครับ


                ชั่วโมงแรกหลังจากเที่ยงวันก็จะกลับมาตีฆ้อง 1 ครั้งอีกที  เวลา 13 นาฬิกาจึงเรียกว่า 1 โมงบ่าย  หรือ บ่าย 1 โมง  เวลา 14 นาฬิกาก็จะตี 2 ครั้ง เป็นบ่าย 2 โมง  เรื่อยไปจนถึงเวลา 16 และ 17 นาฬิกา  อาจเรียกว่าบ่าย 4 โมง บ่าย 5 โมง  (ตามลำดับ) หรือจะเรียกว่า 4 โมงเย็น 5 โมงเย็น (ตามลำดับ)  ก็ได้  แต่วิธีเรียกอย่างหลังจะเป็นที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน   ส่วนเวลา 18 นาฬิกานั้นจะเรียก 6 โมงเย็น

    

        สำหรับเวลากลางคืนจะใช้กลองเป็นเครื่องบอกเวลา  เมื่อเลยเวลาย่ำค่ำมา 1 ชั่วโมง (คือเวลา 19 นาฬิกา ) ก็จะตีกลอง1 ครั้ง เสียงดัง “ตุ้ม”    กลายเป็นเวลา 1 ทุ่ม   เมื่อเลยเวลาย่ำค่ำมา 2 ชั่วโมง ( 20 นาฬิกา ) ก็จะตีกลอง 2 ครั้ง  เสียงดัง “ตุ้ม ตุ้ม”  กลายเป็นเวลา 2 ทุ่มนั่นเอง  และจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนถึงเวลา 23 นาฬิกาหรือ 5 ทุ่ม  หลังจากนั้นอีก 1 ชั่วโมงก็เป็นเวลา “เที่ยงคืน”

    คำว่า "ทุ่ม" จึงมีที่มาจาก "ตุ้มๆ" ของกลองบอกเวลานั่นเองครับ

                หลังเที่ยงคืนไปแล้วจะเปลี่ยนมาตีแผ่นโลหะเพื่อบอกเวลาแทนกลอง  เข้าใจว่าเพื่อให้เสียงเบาลง  จะได้ไม่รบกวนชาวบ้านที่กำลังหลับพักผ่อน  อย่างไรก็ตาม  เสียงตีแผ่นโลหะจะมีลักษณะแหลม  สามารถบอกเวลาให้กับผู้ที่ยังไม่นอนได้  และก็ไม่เป็นการปลุกคนที่หลับไปแล้วด้วย  อนึ่ง เสียงจากการตีแผ่นโลหะนั้นก็ฟังไม่ชัดพอที่จะถอดออกมาเป็นคำได้  การบอกเวลาในช่วงนี้จึงไม่ได้มีหน่วยเป็นเสียงเคาะแบบทุ่มหรือโมงอย่างเวลาช่วงก่อนหน้านี้  คงใช้คำว่า “ตี” นำหน้าจำนวนครั้งที่เคาะแผ่นโลหะ  นั่นคือ  เวลา 1 นาฬิกา  จะตีแผ่นโลหะ 1 ครั้ง  เรียกว่าเวลาตีหนึ่ง  เวลา 2 นาฬิกาก็จะตี 2 ครั้ง  เรียกว่า ตีสอง  เรื่อยไปจนถึงเวลา 5 นาฬิกา ก็จะเรียกว่าตีห้า

เครดิต http://knowledge.truelife.com/content/detail/966542
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่