'กสทช. ประวิทย์' กระทุ้ง 3G ครบ 2 ปีต้องครอบคลุมตามเป้าหลังทรูต่ำสุด 26%

กระทู้ข่าว

เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนก็จะครบกำหนด 2 ปีในวันที่ 7 ธันวาคม 2557 ที่ค่ายมือถือทั้ง3ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ในการให้บริการ 3G ซึ่งเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตกำหนดไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการครอบคลุมครบทุกจังหวัด และครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า50% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 2 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต และ80% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต

จากรายงานการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 GHz ฉบับเดือนสิงหาคม 2557 ที่จัดทำโดยคณะทำงานติดตามและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 GHz ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรคมนาคมบนย่านความถี่นี้ประมาณ 68.86 ล้านเลขหมาย

โดยใน เดือนสิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายเพื่อตั้งสถานีวิทยุคมนาคมแล้วทั้งสิ้น 26,576 สถานีฐาน ในจำนวนนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอไอเอส มีการติดตั้งโครงข่ายมากที่สุดจำนวน 13,765 สถานี (ได้รับอนุญาต 15,162 สถานี) ครอบคลุมพื้นที่ครบ 77 จังหวัด เข้าถึงพื้นที่ในระดับอำเภอ 99% หรือ 922 อำเภอ จากทั้งหมด 927 อำเภอ รองลงมาคือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือดีแทค มีการติดตั้งโครงข่ายแล้ว 9,073 สถานี (ได้รับอนุญาต 9,103 สถานี) ครอบคลุมพื้นที่ครบ 77 จังหวัด เข้าถึงพื้นที่ในระดับอำเภอ 97% หรือ 899 อำเภอ จากทั้งหมด 927 อำเภอ

ส่วนบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ของกลุ่มทรูนั้น ได้รับใบอนุญาตและติดตั้งโครงข่ายแล้ว 2,311 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัด เข้าถึงพื้นที่ในระดับอำเภอ 26% หรือ 238 อำเภอ จากทั้งหมด 927 อำเภอ

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้กำชับสำนักงานให้ทำหนังสือเตือนบริษัทต่างๆ อย่างจริงจังถึงเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติเมื่อครบกำหนด 2 ปีหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น ซึ่งบริษัทต้องรายงานว่าสามารถดำเนินการติดตั้งโครงข่ายและเปิดให้บริการได้มากน้อยเพียงใด และสำนักงานเองก็ต้องเตรียมมาตรการในการตรวจสอบว่าเป็นจริงตามที่บริษัทรายงานหรือไม่ และหากบริษัทใดไม่สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไข ทางสำนักงานจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป

'ที่ผ่านมาผมได้ย้ำเรื่องนี้กับสำนักงานมาโดยตลอด เพราะเงื่อนไขเรื่องนี้มีความสำคัญ โดยเป็นเครื่องชี้ว่ามีการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และจะเป็นหลักประกันว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ทั่วถึงเพียงพอ ทั้งนี้ ผมเห็นว่าบางบริษัทอาจไม่สามารถติดตั้งโครงข่ายเพื่อให้บริการได้ครอบคลุมตามเงื่อนไข ซึ่งในการประชุม กทค. ครั้งหลังสุด สำนักงานก็ได้รายงานให้กับที่ประชุมทราบว่า บริษัทดังกล่าวอยู่ในระหว่างติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพิ่มอีก 3,000 กว่าสถานี เพียงแต่ยังไม่เปิดใช้งาน เพราะอยู่ในระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงาน กสทช. โดยผมอยากตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงกระบวนการเร่งติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมด้วยว่า อยากให้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ คือควรมีการขออนุญาตก่อนตั้งเสา และปฏิบัติตามข้อกฎหมายให้ครบถ้วนในการขอใบอนุญาต ไม่ใช่ลักไก่ในจังหวะที่ทุกฝ่ายต้องการเร่งรีบ ซึ่งสำนักงานต้องระมัดระวังในจุดนี้ด้วย'

แหล่งข่าว : ASTV Manager Online
http://www.manager.co.th/lite/ViewNews.aspx?NewsID=9570000133560
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่