เวียดนามจะเจริญแซงหน้าไทยแล้ว ?

หาบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนอ่านดู เพื่อทำรายงานส่งอาจารย์ เจอบทความนี้รู้สึกน่าสนใจเลยเอามาให้อ่านกันครับ


การแข่งขันกันในหมู่ประเทศในเอเชียมีความเข้มข้นพอสมควร ประเทศที่เจริญกว่าก็จะนำหน้าและรับสิ่งดีๆ ใหม่ๆ ก่อน

ประเทศที่ล้าหลังกว่าก็กินน้ำใต้ศอกรายใหญ่ต่อไป ประเทศไทยเคยถูกหลายประเทศแซงไปแล้ว และกำลังจะถูกประเทศเวียดนามแซงในอนาคตก็เป็นได้ ผมจึงขออนุญาตเขียนแปะเตือนไว้ก่อนว่า คนไทยระดับซูเปอร์พาวเวอร์ควรคุยกันให้รู้เรื่องก่อนที่จะไปแข่งขันในระดับสากล ไม่ใช่มัวแต่โชว์พาวใส่กันนะครับ

เมื่อ 40 ปีก่อน ไทยกับเกาหลียังพอฟัดพอเหวี่ยงกัน แต่เดี๋ยวนี้เขาไปไกลแทบไม่เห็นฝุ่น เช่นเดียวกับสิงคโปร์ และไต้หวัน เมื่อ 30 ปีที่แล้วมาเลเซียก็ไม่ได้โดดเด่นไปกว่าไทย แต่เดี๋ยวนี้มีรายได้ประชาชาติต่อหัวเหนือไทยถึงราวหนึ่งเท่าตัว เมื่อ 60 ปีที่แล้วย่างกุ้งและโฮจิมินห์ซิตี้ก็คงมีความเจริญทัดเทียมหรือน่าจะเด่นล้ำกว่ากรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากจากช่วงชิงอำนาจของซูเปอร์พาวเวอร์ ประเทศจึงตกต่ำกว่าไทย

เวียดนามเกิดความไม่สงบมาตั้งแต่ พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นการรบระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ที่มีแนวคิดการปกครองต่างกันระหว่างฝ่ายสังคมนิยมและฝ่ายทุนนิยม จนสิ้นสุดในปี พ.ศ.2518 รวมระยะเวลาแห่งสงครามเกือบ 20 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นของสงคราม นครโฮจิมินห์ยังเป็นศูนย์กลางการลงทุนสำคัญ มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่ากรุงเทพมหานครด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม หลังสงคราม ประเทศก็ต้องอาศัยการฟื้นฟูอยู่อีกนานพอสมควร เมื่อครั้งแรกที่ผมเดินทางไปเวียดนาม เมื่อ พ.ศ.2542 หรือ 24 ปีหลังสงคราม นครฮานอยและนครโฮจิมินห์ซิตี้ ยังถือว่าด้อยกว่ากรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก แทบจะไม่มีอาคารขนาดใหญ่เลย แต่ขณะนี้มีอาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย และยังกระจายออกไปในนครอื่นๆ ทั่วประเทศ

ข้อสังเกตบางประการที่ผมได้เรียนรู้จากชาวไทยที่อาศัยอยู่ในเวียดนามราว 20 ปี และจากการสังเกตของผมเองในฐานะที่มาเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนามอยู่ระยะหนึ่ง และเคยมาสำรวจวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องพบว่า

1. กฎหมายที่เวียดนามแรง ทำให้ประชาชนอยู่ในระเบียบวินัยค่อนข้างเคร่งครัด ยกตัวอย่างง่ายๆ การสวมหมวกกันน็อก เขารณรงค์ให้ใส่ทีหลังไทย แต่ปัจจุบันนี้ยังจับปรับต่อเนื่อง ไม่ย่อหย่อนเหมือนประเทศไทย นอกจากนี้ใครขับรถเร็ว เลี้ยงรถส่งเดช ฝ่าไฟแดง ล้วนโดนโทษปรับหนักทั้งสิ้น

2. แม้เราได้ข่าวนักท่องเที่ยวถูกฉกกล้องถ่ายรูปบ้างในนครโฮจิมินห์ซิตี้ แต่ในเวียดนามยังมีประเพณีประชาทัณฑ์ ถ้าเจอชายใดฉกชิงวิ่งราว เมื่อถูกจับได้โดยประชาชนในละแวกนั้น ขโมย/โจรรายนั้นก็เคราะห์ร้าย เพราะจะถูกรุมประชาทัณฑ์เสียชีวิตหรือเจ็บสาหัส ดูท่าตำรวจจะมาช้า รอการประชาทัณฑ์จบก่อน รถของอาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ ไม่ได้โฉบมาปุบปับแบบบ้านเราแต่อย่างใด

3. แม้เราได้ยินข่าวการทุจริตเป็นระยะๆ แต่ผู้ที่อยู่เนิ่นนานในเวียดนามต่างยืนยันได้ว่าที่นั่นทุจริตมีน้อยกว่าไทยแน่นอน มีการประหารชีวิตมาแล้วหลายราย คล้ายกับในประเทศจีน ไม่มีระบบ "ดรามา" ประเภทสารภาพลดครึ่ง ศาลเมตตา หรือประพฤติดีในคุกเลยได้ออกมาอย่างรวดเร็วแบบไทยๆ เพราะกฎหมายแรงนี่เอง คนที่คิดจะทุจริตจึงต้องใช้สติไตร่ตรองให้ดีเสียก่อนที่จะ "หน้ามืด ตามัว" ทำการทุจริตประพฤติมิชอบ

4. ในด้านความขยันขันแข็งของประชาชน ผมก็เชื่อว่าชาวเวียดนามซึ่งคล้ายจีน ก็มักจะขยันกว่าคนไทย มีคนเป็นจำนวนมากที่มีอาชีพเสริม เป็นอาชีพที่สองในช่วงค่ำ แต่ไม่ใช่อาชีพประเภทขายประกัน ขายสินค้าขายตรง แบบบ้านเราแต่อย่างใด คนเวียดนามมักจะรู้จักใช้เงินอย่างคุ้มค่า ไม่ค่อยฟุ่มเฟือย รู้จักจัดสรรค่าใช้จ่ายได้ดี วางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนเวียดนามชอบการค้าขาย อยากเป็น "เถ้าแก่" แต่ไม่ใช่แบบไทยๆ ที่ออกจากงานมาเปิดร้านขายดอกไม้ หรือขายของจิปาถะ "คิขุอาโนเนะ" แก้กลุ้ม อย่างไรก็ตามข้อเสียหรือข้อจำกัดของคนเวียดนามก็มี นายจ้างคนไทยมักพบว่าชาวเวียดนามดื้อรั้น (เงียบ) ไม่เข้าใจอะไร ก็ไม่ถาม แต่จะทำดุ่ยๆ ไป อย่างไรก็ตามก็มีประสิทธิภาพในการทำงานและมีความอดทนดี

5. สำหรับการโทรคมนาคมนั้น เวียดนามใช้ระบบ 3G มาก่อนไทยนานแล้ว ชาวเวียดนามนิยมนั่งจิบกาแฟตามร้านรวงข้างถนนอยู่มากมาย ซึ่งทุกร้านที่ผมเข้าไปจิบกาแฟ หรือในภัตตาคาร ร้านอาหารก็มักมีบริการอินเทอร์เน็ตฟรี กรณีนี้ล้ำหน้าโดดเด่นต่างจากประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

6. การเมืองไม่ยุ่งมุ่งแต่หากิน การเมืองไทยอาจมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ในเวียดนามมีเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น ข้อนี้ผมคงไม่เห็นด้วยกับการมีพรรคเดียว คนไทยเราแตกต่างทางความเห็นได้ แต่จะยอมให้ฝ่ายใดมาอ้างว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้อง จึงทำผิดกฎหมายต่างๆ ได้โดยไม่ผิดไม่ได้ และยิ่งกว่านั้นในเวียดนามเขายังควบคุม NGOs หรือองค์กรศาสนาซึ่งมักรับเงินจากต่างประเทศมาเคลื่อนไหว มาก่อสร้างศาสนสถาน โดยระวังไม่ให้มาตอกลิ่มความขัดแย้งแตกแยกภายในประเทศ

ย้อนกลับมาดูเรื่องการปราบปรามการทุจริตของเวียดนาม ในสมัยที่ผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่กระทรวงการคลังเวียดนามในช่วงปี 2548-2549 นั้น ปรากฏมีนักบินของสายการบินเวียดนามคนหนึ่งลอบนำเครื่องเสียงเข้าประเทศ และถูกกองตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบพบ กัปตันรายนั้น ถูกไล่ออกเลย ในขณะที่นักบินและผู้ให้บริการบนเครื่องบินของบางประเทศ นำสินค้าหนีภาษีเข้ามาขายจนกระทั่ง "เจ๊" รวยไปเลยก็มี อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือนักฟุตบอลเวียดนามถูกจับติดคุก 5 ปี ในฐานที่ล้มบอลให้กับประเทศอื่น ของไทยได้ยินแต่ข่าวลือและสุดท้ายกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง

เมื่อสิบกว่าปีก่อนสายการบินจากยุโรปจำนวนมาก จะแวะกรุงเทพมหานครก่อนต่อมาเวียดนาม แต่เดี๋ยวนี้เขาบินตรงแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่การยึดสนามบินเมื่อปี พ.ศ.2551 และด้วยความคุกรุ่นทางการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ เที่ยวบินเข้าประเทศไทย มีลดลงเป็นอย่างมาก และหลายคนมาเพียงเพื่อมาต่อเครื่องเท่านั้น สายการบินจากยุโรปจำนวนมากยังกระทั่งบินตรงไปลงกรุงพนมเปญและนครเสียมเรียบแล้ว

ถ้าซูเปอร์พาวเวอร์ของไทยยังรบกันไม่เลิก อีกหน่อยเวียดนามก็จะแซงไทยเช่นเดียวกับเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน สำหรับราคาที่ดินที่แพงที่สุดในเวียดนาม แพงกว่าไทยเสียอีก โดยไทยที่สยามสแควร์ ราคาสูงสุดถึง ตารางวาละ 1.65 ล้านบาทตามการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ที่ผมเป็นประธานอยู่ แต่ในนครโฮจิมินห์ ราคาต่อตารางวาสูงเกิน 2 ล้านบาทแล้ว

ถ้าเวียดนาม เมียนมาร์ มาทวงตำแหน่งนครที่เคยเจริญกว่ากรุงเทพมหานครเมื่อ 50-60 ปีก่อน เมื่อนั้นดุลทางอำนาจและเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศทั้งสอง แม้ไทยจะตั้งอยู่ในทำเลที่ได้เปรียบก็ตาม ถ้าประเทศไทยเราถอยหลังเข้าคลอง ประชาชนก็จะยิ่งลำบากในการทำมาหากิน เสียเปรียบในการแข่งขัน ต้องคอย "กินน้ำใต้ศอก" ประเทศอื่น หวังว่าซูเปอร์พาวเวอร์ทุกคนทุกฝ่ายของไทย จะไม่ทำให้ประเทศชาติเศร้าหมองไปกว่านี้


คติฝรั่งเขาว่า ถ้าเอาชนะมันไม่ได้ ก็เอามันมาเป็นพวก คุยกันแบบ Win Win ดีกว่าครับ

ก็ลองอ่านกันดูนะครับ ประเทศเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาย่ำอยู่กับที่ ตอนนี้ มาเลเซียก็แซงหน้าเราไปไกลแล้วนะ ไม่รู้ว่าเปิดอาเซียนแล้ว ประเทศเราจะเป็นศูนย์กลางอาเซียนได้หรือไม่

เครดิต : [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่