พัฒนาการเด็ก อายุ 1-12 เดือน

ครั้งที่แล้วได้ตั้งกระทู้หัวข้อ "พัฒนาการของเด็กวัย 8 เดือน ถึง 36 เดือน (3 ขวบ)" ไป
ลิงค์: http://ppantip.com/topic/32231037

ครั้งนี้เลยย้อนกลับมาตั้งเพิ่มเติมสำหรับ เด็กเล็กไม่เกิน 1 ขวบด้วยเลยครับ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ ไม่มากก็น้อย ถ้าข้อมูลผิดพลาดประการใด โปรดอภัยและชี้แนะได้ครับ
ปล. เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันนะครับ พัฒนาช้าเร็วก็ต่างกันครับ

พัฒนาการเด็ก อายุ 1-12 เดือน

พัฒนาการของเด็กวัย 1 เดือน

•    ยกศีรษะได้ชั่วครู่(นอนคว่ำ)
•    สบตา
•    จ้องหน้าแม่

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– กินนมแม่อย่างเดียว
– ยิ้มแย้ม มองสบตา เล่นพูดคุยกับลูก
– เอียงหน้าไปมาช้าๆ ให้ลูกมองตาม
– อุ้มบ่อยๆ อุ้มพาดบ่าบ้าง

พัฒนาการของเด็กวัย 2 เดือน

•    ชันคอในท่าคว่ำ
•    รู้จักยิ้มตอบ
•    คุยอ้อแอ้ ทำเสียงอือ อา อยู่ในคอ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– กินนมแม่อย่างเดียว
– เล่นกับลูกโดยแขวนของสีสด ห่างจากหน้าลูกประมาณ 1 ศอกให้ลูกมองตาม
– พูดคุยทำเสียงต่างๆ และร้องเพลง
– ให้ลูกนอนคว่ำในที่นอนที่ไม่นุ่มเกินไป

พัฒนาการของเด็กวัย 3 เดือน

•    ชันคอได้ตรงเมื่ออุ้มนั่ง
•    ยกศีรษะได้ 45 องศา
•    เริ่มพลิกคว่ำ
•    ส่งเสียงโต้ตอบ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– กินนมแม่อย่างเดียว
– อุ้มท่านั่ง พูดคุยทำเสียงโต้ตอบกับเด็ก
– ให้ลูกนอนเปล หรืออู่ ที่ไม่มืดทึบ
*ถ้าลูกอายุ 3 เดือน แล้วลูกไม่สบตา หรือ ยิ้มตอบ ไม่ชูคอในท่านอนคว่ำ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

พัฒนาการของเด็กวัย 4 เดือน

•    เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้หัวเราะเอิ๊กอ๊าก เสียงดัง
•    มองตามสิ่งของหรือคนที่เคลื่อนไหวในระยะห่าง 6 นิ้ว
•    เริ่มไขว่คว้า
•    ยกศีรษะได้เต็มที่ ชูคอตั้งขึ้นในท่าคว่ำ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– กินนมแม่อย่างเดียว
– จัดที่ที่ปลอดภัยให้เด็กหัดคว่ำ คืบ
– เล่นกับลูกโดยชูของเล่นให้ลูกไขว่คว้า
– ชมเชย ให้กำลังใจลูก เมื่อลูกทำได้

พัฒนาการของเด็กวัย 5 เดือน

•    นอนคว่ำใช้แขนยันยกหน้าอกขึ้นได้
•    พลิกคว่ำ พลิกหงาย
•    ไม่ตื่นกลางดึก
•    เอื้อมมือคว้า
•    คืบ

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– หาของเล่นสีสดชิ้นใหญ่ที่ปลอดภัยให้หยิบ จับ และให้คืบไปหา
– พ่อแม่ช่วยกันพูดคุย โต้ตอบ ยิ้มเล่นกับเด็ก
– พูดถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่กับเด็ก เช่น อาบน้ำ กินข้าว

พัฒนาการของเด็กวัย 6 เดือน

•    คว้าของมือเดียว
•    หันหาเสียงเรียกชื่อ
•    ส่งเสียงต่างๆ โต้ตอบ
•    ยันตัวลุกขึ้นนั่ง(แต่นั่งได้ไม่นานหรือต้องมีที่พิงหลัง)
•    ฟันซี่แรกเริ่มโผล่พ้นเหงือก

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– เวลาพูดให้เรียกชื่อเด็ก
– เล่นโยกเยกกับเด็ก
– หาของให้จับ
* ถ้าลูกอายุ 6 เดือน แล้วไม่มองตาม หรือ ไม่หันตามเสียง หรือ ไม่สนใจคนมาเล่นด้วย ไม่ พลิกคว่ำหงาย ควรปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

พัฒนาการของเด็กวัย 7 เดือน

•    นั่งทรงตัวได้เอง
•    เปลี่ยนสลับมือถือของได้
•    หยิบอาหารใส่ปาก

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– อุ้มน้อยลง ให้เด็กได้คืบและนั่งเล่นเอง โดยมีคุณแม่คอยระวังอยู่ข้างหลัง
– ให้เล่นสิ่งที่มีสี และขนาดต่างกัน เช่น ลักษณะผิวเรียบ – หยาบ อ่อน – แข็ง
– ให้หยิบจับสิ่งของ เข้า – ออก จากถ้วย หรือกล่อง

พัฒนาการของเด็กวัย 8 เดือน

•    มองตามของที่ตก
•    แปลกหน้าคน

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– กลิ้งของเล่นให้เด็กมองตาม
– พูดและทำท่าทางเล่นกับเด็ก เช่น จ๊ะเอ๋ จับปูดำ แมงมุม จ้ำจี้ ตบมือ

พัฒนาการของเด็กวัย 9 เดือน

•    คลานเก่ง
•    เข้าใจเสียงห้าม
•    เล่นจ๊ะเอ๋ ตบมือ
•    ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบของชิ้นเล็ก

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– หัดให้เกาะยืน เกาะเดิน
– หัดให้เด็กใช้นิ้วหยิบ จับของกินชิ้นเล็กเข้าปาก เช่น ข้าวสุก มะละกอหั่น มันต้มหั่น ฟักทอง ต้ม
– ห้ามใช้ถั่ว หรือของที่จะสำลักได้

พัฒนาการของเด็กวัย 10 เดือน

•    เหนี่ยวตัว ตั้งไข่ ลุกขึ้น เกาะยืน เกาะเดิน
•    ส่งเสียงต่างๆ “หม่ำ หม่ำ”, “จ๊ะ จ๋า”

วิธีการที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการตามวัย
– จัดที่ให้เด็กคลาน และเกาะเดินอย่างปลอดภัย
– เรียกเด็ก และชูของเล่นให้เด็กสนใจเพื่อลุกขึ้นจับ

พัฒนาการของเด็กวัย 11 เดือน

•    ตบมือ
•    โบกมือบ๊ายบาย
•    พูดคำแรก

พัฒนาการของเด็กวัย 12 เดือน

•    ก้าวเดินได้เอง

* ถ้าลูกอายุ 1 ปี ยังไม่เกาะเดิน ไม่สามารถใช้นิ้วมือหยิบของกินเข้าปาก ไม่เลียนแบบท่าทาง และเสียงพูด ควรปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
บันทึกพัฒนาการเด็กต่อไปนี้ แสดงความสามารถตามวัยของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนอาจมี พัฒนาการเร็ว – ช้า แตกต่างกัน ถ้าถึงอายุที่ควรทำได้แล้วเด็กทำไม่ได้ ควรให้โอกาสฝึกก่อน ใน 1 เดือน ถ้าไม่มีความก้าวหน้า ควรปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ที่มาข้อมูล: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่