<Whiplash> จะสุดตรงไหน อยู่ที่ใครกำหนด(ไม่สปอย)



''There are no two words in the English language more harmful than good job.''

- Whiplash (2014)

“นี่มัน Hell’s Kitchen เวอร์ชั่นตีกลองนี่หว่า”  ความคิดนี้มันขึ้นมาในหัวของผมทันทีหลังจากได้รับชม ตัวอย่างหนังเรื่อง Whiplash เพราะอารมณ์ ท่วงท่า วาจาการพูดของตัวละครผู้เป็นคนคุมวงมันช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเชฟแรมซี่เสียเหลือเกิน ความดุเดือด พลุ่งพล่าน ความหยาบโลนในคำพูดของเขาที่แสดงออกมาในตัวอย่างหนังสามารถสร้างแรงกระตุ้นต่อมือกลองตัวดำเนินเรื่องหลักอย่าง Andrew รึเปล่านั้น ผมมิอาจรู้ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนนั่นก็คือมันสร้างแรงกระตุ้นมหาศาลต่อการเข้าไปรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อผมเสียแล้ว  


สำหรับผมแล้ว Whiplash เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องได้อย่างมีชั้นเชิง เส้นเรื่องของ Whiplash นั้นเปรียบเสมือนเกลียวคลื่นในมหาสมุทร และคนดูอย่างเราก็คงไม่ต่างไปจากสิ่งของที่ลอยไหลไปตามเกลียวคลื่น ขณะที่คุณลอยไปตามคลื่นนั้นคุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ท้องคลื่นจะพาคุณดำดิ่งไปได้ลึกเพียงใดและในขณะเดียวกัน คุณก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าเลยสันคลื่นนั้นจะพาคุณขึ้นไปได้สูงแค่ไหน คุณไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ที่คุณทำได้มีสิ่งเดียวคือปล่อยตัวลอยไปตามมันและรับรู้ถึงความรู้สึกเกลียวคลื่นกระทบร่างกาย ณ ขณะนั้น   ที่ผมพูดไปนั้นไม่ใช่สิ่งที่เหลือเชื่อแต่อย่างใด เพราะ Whiplash มีการเดินเรื่องที่หนักสลับกับเบา  เมื่อถึงช่วงเวลาที่อารมณ์หนังเริ่มนิ่งและผ่านไปซักพัก ความเข้มข้นและความดุเดือดก็จะพลุ่งพล่านขึ้นมาอีกครั้งราวกลับ เสียงรัวไม้กลอง บรรเลงตอนช่วงโหมโรงก่อนเริ่มเพลง  ถ้าจะพูดให้ชัดเจน Whiplash คือภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องโดยใช้วิธีการเดียวกันกับการบรรเลงเพลงในโรงละครที่ มีทั้งเสียงสูงสลับกับเสียงต่ำ  และจบด้วยจุดที่เรียกได้ว่าสูงที่สุด และแน่นอนที่สุดว่ามันตามมาพร้อมเสียงปรบมือของผู้รับชม

ตามเนื้อเรื่องแล้ว Whiplash ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลักสองตัว Andrew นักดนตรีหนุ่มวัยสิบเก้าปี เขาเป็นคนมีความทะเยอทะยานสูง และเกลียดความพ่ายแพ้เป็นที่สุด กับ Fletcher คนคุมวงจอมเผด็จการ ผู้ที่มีความเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดที่มนุษย์เราทำไม่ได้ หากแต่เราจำกัดความสามารถของตัวเราเองจากคำพูดที่แสนจะดูดีและให้กำลังใจอย่างคำว่า “ทำได้ดีแล้ว” การก้าวผ่านขีดจำกัดของตนเองมันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ถ้าคุณคาดหวังจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และมีคนมากมายเหลือเกินที่อ่อนแอเกินกว่าที่จะรับมือกับมันได้    อย่างที่รู้กันว่าคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของพวกเขาไม่ใช่ใครอื่นหากแต่เป็นตัวพวกเขานั่นเอง ปัจจัยหลักของความพ่ายแพ้ส่วนใหญ่มาจากความอ่อนแอ ทั้งทางร่างกาย และ ที่สำคัญคือทางจิตใจ เมื่อใดก็ตามที่ความท้อแท้เริ่มครอบงำจิตใจ เมื่อนั้นเขาจะหยุดเดิน หลังจากนั้นเขาจะยิ้มและพูดปลอบใจตัวเองว่า “ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว”



กระบวนการการเอาชนะตนเองเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองนับเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติ(Natural Selection)อย่างหนึ่งซึ่งสามารถคัดพวกที่ไม่พร้อมและอ่อนแอออกจากวงจรและคงเหลือไว้แต่ผู้ที่พร้อมจะรับมันไว้ นั่นก็คือ“ความยิ่งใหญ่”  นั่นเอง  มีคำกล่าวที่ว่าในโลกนี้มีนักดนตรีที่มีฝีมือยอดเยี่ยมอยู่มากมายแต่นักดนตรีที่ยิ่งใหญ่นั้นมีเพียงหยิบมือ และพวกเขาเหล่านั้นจะไม่มีวันถูกลืมเลือน  กว่าจะมาถึงจุดนี้พวกเขาได้ผ่านอะไรมาบ้าง พวกเขาต้องเสียสละอะไรบ้างในชีวิตของเขา  Whiplashได้ตีแผ่จุดนี้ออกมาให้เราเห็นถึงเบื้องหลังแห่งความสำเร็จของคนเหล่านี้ได้อย่างสวยงามและน่าเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน

- Whiplash (2014)

Credit: บทความผ่านแผ่นฟิล์ม


ติดตามผลงานอื่นๆได้ทางช่องทางนี้ครับ

https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1/680159158772066?ref=hl
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่