ลิฟท์อวกาศ โครงการแห่งอนาคตโลกจะไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันอีกต่อไป

อีกหน่อยคงไม่ต้องใช้กระสวยอวกาศส่งอุปกรณ์ และสัมภาระไปยังสถานีอวกาศแล้ว เพราะนาซาจะสร้าง "ลิฟต์อวกาศ" ไว้ชักรอกส่งของแทน

แนวคิดสร้างลิฟต์อวกาศมีมานานแล้ว แต่ยังดูเหมือนเป็นฝันกลางวันอยู่ วิศวกรหลายคนสงสัยว่า มันจะเป็นไปได้แค่ไหน ถ้าจะสร้างลิฟต์ขึ้นไปบนฟ้าสูงเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตรโดยใช้พลังงานจากลำแสงเลเซอร์ยิงขึ้นไป

การประชุมลิฟต์อวกาศ 2008 ที่สหรัฐเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเทคโนโลยีลิฟต์อวกาศมาร่วมแสดงความคิดเห็นกัน และได้คำตอบที่ฟังแล้วถึงกับอึ้ง ทึ่ง เสียว

แบรนด์ลีย์ เอ็ดเวิร์ด ประธานบริษัทแบล็ค ไลน์ แอสเซนชั่น เป็นคนรุ่นบุกเบิกคนหนึ่งที่หนุนให้สหรัฐสร้างลิฟต์อวกาศ เขาบอกว่า สร้างลิฟต์อวกาศไม่น่าจะใช้เวลาเกิน 50 ปี เผลอๆ อาจใช้เวลาแค่ 12-15 ปีเท่านั้น แต่ที่สำคัญต้องมีเงินอย่างน้อย 7,000-10,000 ล้านดอลลาร์

อีกฟากที่ไม่เชื่อว่าเป็นไปได้คือ ทอม นูเกนต์ ผู้จัดการโครงการบริษัทเลเซอร์โมทีฟ โดยมองว่ายังติดปัญหาด้านเทคนิคและความปลอดภัยอยู่

ฝ่ายญี่ปุ่น เจ้าแห่งเทคโนโลยีขออยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ขณะเดียวกัน ลูกพระอาทิตย์อุทัยทำพิมพ์เขียวเทคโนโลยีรอไว้แล้ว โดยเสนอให้สร้างลิฟต์อวกาศ และโรงไฟฟ้าอวกาศพลังแสงอาทิตย์ภายในปี 2573 ส่วนนาซาเองคาดการณ์ว่า ลิฟต์อวกาศจะเป็นจริงได้คงอีกสัก 200 ปี หรือนานกว่านั้น

อีกคนหนึ่งชื่อ เท็ด ซีมอน ประธานสเปซ ลีเอเวเตอร์ บล็อค พูดตัดบทไปเลยว่า ถ้าจะสร้างลิฟต์อวกาศต้องระดมพันธมิตรธุรกิจอเมริกันมาร่วมด้วยช่วยกัน โดยรัฐบาลจัดหางบประมาณมาสนับสนุน อีกทางเลือกหนึ่งคือ ให้รัฐบาลหลายชาติร่วมโครงการ เช่น ดูไบ และอินเดีย น่าจะพร้อมที่สุด

การสร้างลิฟต์อวกาศต้องอาศัยเทคโนโลยี 2 เทคโนโลยีด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนาวัสดุน้ำหนักเบาหวิว แต่แข็งแกร่งรับน้ำหนักได้มหาศาล เทคโนโลยีที่สองคือ ระบบยิงลำแสงเลเซอร์

อย่างที่รู้กันดีว่า ลิฟต์ที่ใช้ขนคนขึ้นลงตึกสูงใช้สายสลิงคอยชักรอก ลิฟต์อวกาศก็เช่นกัน ต้องใช้วัสดุชักรอกเหมือนกับสลิง อาจทำจากวัสดุสังเคราะห์ที่ขึงจากพื้นขึ้นไปบนฟ้าสูงราว 1 แสนกิโลเมตร วัสดุที่เป็นตัวเลือกสำคัญคือ ท่อคาร์บอนนาโน

สายสลิงพิเศษอาจขนขึ้นไปบนฟ้าด้วยจรวด หลังจากผูกกับทุ่นอวกาศแล้ว สลิงจะถูกปล่อยลงมายึดกับแท่นบนพื้นโลก อาจเป็นแท่นลอยน้ำกลางมหาสมุทรสักแห่งที่สภาพอากาศไม่ผันผวน

สายสลิงที่ทำจากคาร์บอนนาโนรับหน้าที่เป็นเหมือนกับ "รางรถไฟ" ให้หุ่นยนต์ปีนขึ้นลงระหว่งภาคพื้นกับสถานีอวกาศ ฝ่ายสนับสนุนสร้างลิฟต์มั่นใจว่า ต้นทุนสำหรับขนส่งสัมภาระด้วยหุ่นยนต์ตกราว 100 ดอลลาร์ต่อน้ำหนัก 45 กรัม ห่างกันลิบลับเมื่อเทียบกับการส่งของด้วยกระสวยอวกาศด้วยขนาดน้ำหนักเท่ากัน แต่เสียค่าใช้จ่ายถึง 2,000-60,000 ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับส่งอะไร และไกลแค่ไหน

เรื่องที่ต้องคิดกันต่อมาคือ เจ้าหุ่นยนต์ส่งของควรใช้พลังงานรูปแบบใดสำหรับวิ่งรอกขึ้นลง ระยะทางไกลขนาดนั้นเลิกคิดได้เลยว่าจะมีปั๊มน้ำมันแวะให้เติมกลางทาง หนทางที่คิดกันคือ ระบบป้อนกระแสไฟฟ้าไร้สายทางไกล โดยใช้ระบบเลเซอร์ยิงลำแสงไฟฟ้าให้หุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง บางทีอาจใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศคงช่วยอีกแรง

ถ้าทำลิฟต์อวกาศสำเร็จแล้วจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง อันดับแรกคือ ใช้สร้างระบบพลังงานแสงอาทิตย์อวกาศเพื่อป้อนไฟฟ้ามายังโลก ประโยชน์อีกอย่าง ใช้ส่งคนและสิ่งของไปยังโรงแรมอวกาศ เพื่อเดินทางต่อไปดวงจันทร์ และดาวอังคาร และอาจใช้กำจัดขยะกัมมันตรังสีที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทิ้งที่ไหนแล้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่