Whiplash (2014) พล็อตสูตรสำเร็จ old-fashion ที่สดใหม่ด้วยความตึงเครียดกดดันกระทบจิตใจตัวละคร

Whiplash (2014)



‘แอนดรูว์ นีย์แมน’ (Miles Teller) นักเรียนกลองที่หวังอยากจะเป็นหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ของวงการดนตรีแจ๊ส เขาได้เข้าไปอยู่วงดนตรีของ ‘เฟลชเชอร์’ (J.K. Simmons) สุดยอดอาจารย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการสอนที่ตึงเครียดกดดัน ด้วยความสามารถและความทะเยอทะยานของนีย์แมนทำให้เขาได้รับโอกาสจากอาจารย์ให้เป็นตัวหลักของวงดนตรีประกวด แต่อย่างไรก็ตามความสามารถของนีย์แมนก็ยังไม่อยู่ในระดับที่เฟลชเชอร์พอใจ นักเรียนหนุ่มคนนี้จึงต้องเผชิญกับการเคี่ยวเข็ญผลักดันให้ไปไกลยิ่งกว่าที่เคยคิดฝัน

พอเห็นพล็อตเด็กหนุ่มทะเยอทะยานตามล่าความฝันแล้วเราก็จะรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่สิ่งที่ทำให้ Whiplash หลุดจากกรอบเดิม ๆ กลายเป็นความสดใหม่ก็คือการเล่าเรื่องได้เข้มข้นตึงเครียดและมุ่งเป้าไปที่ความทะเยอทะยานภายใต้แรงกดดันเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นหนังดราม่าแต่มันชวนให้เรารู้สึกลุ้นระทึกกดดันไม่แพ้หนังทริลเลอร์ด้วยซ้ำ



Whiplash ยังเป็นหนังประเภทเดินตามสูตรสำเร็จที่ว่า “เด็กเก่งมีความทะเยอทะยานกำลังประสบความสำเร็จแล้วเจออุปสรรคให้ดิ่งล สุดท้ายเจออะไรบางอย่างฉุดให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง” หรือจะบอกว่าเป็นแนว old-fashioned ที่ให้คนดูลุ้นเอาใจช่วยตัวเอกเอาชนะอุปสรรรคหรือขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งผมบอกได้เลยว่าสูตรสำเร็จพวกนี้ถ้าไม่มีการนำเสนอที่สดใหม่มันจะกลายเป็นงานที่ไม่น่าจดจำเลย

พอพูดถึงความเข้มข้นของตัวละครที่ทะเยอทะยานจะแย่งตำแหน่งมือกลองตัวจริงใน Whiplash มันก็ชวนให้นึกถึง Black Swan เวอชั่นไม่มีจิตหลอน หรือพูดถึงการฝึกฝนเพื่อเอาชนะข้อจำกัดของตัวเองมันก็ชวนนึกถึง The King’s Speech ที่พระเจ้าจอร์จต้องเจอการสอนในแบบที่ตัวเองรู้สึกขัดแย้ง ทั้งหมดนี้มันยิ่งทำให้เราพอตระหนักได้ว่า Whiplash คือเนื้อหาเดิม ๆ ที่เปลี่ยนตัวละครให้เป็นมือกลองแจ๊ส ส่วนที่เหลือก็คือการกำกับให้คนดูมีอารมณ์ร่วมตามไปกับหนัง



กระนั้น Whiplash ก็ยังพอมีความสดใหม่บางอย่างที่อยากจะชื่นชมนั่นก็คือการเล่นประเด็นการสอนเคี่ยวเข็ญเข้มข้นรุนแรงจนกระทบต่อจิตใจของตัวละคร ซึ่งหนังทำตรงจุดนี้ได้หนักแน่นถึงใจ แล้วยังไม่ได้ปล่อยผ่านไปง่าย ๆ แต่ยังมีวกกลับมาบอกเล่าในช่วงท้ายว่าทั้งหมดนั้นทำไปเพื่อให้คนเรามุมานะฝึกฝนเพื่อเอาชนะคำถากถางจนก้าวพ้นขีดจำกัดของตัวเอง ไม่ใช่มัวหลงระเริงกับคำว่า “ดีพอแล้ว” จนหยุดพัฒนาตัวเอง

ไคลแม็กซ์การแสดงโชว์ฉากจบนี่มันคือโคตรจุดพีคโซโล่อารมณ์คนดูให้ตรึงอยู่กับเสียงดนตรีและอารมณ์ของตัวละคร เป็นไคลแม็กซ์ที่บ้ามาก ๆ ความบ้าแบบนี้แหละที่ทำให้หนังจะถูกจดจำไปอีกนาน แล้วพอมองย้อนไปยังฉากก่อน ๆ หน้า เรายังรู้สึกว่าพายุแต่ละลูกที่โถมเข้าใส่มือกลองหนุ่มมันคือความพีคที่ค่อย ๆ ไต่ระดับสร้างความกดดันขึ้นมาจนตึงเครียดถึงขีดสุด



การแสดงของ ‘ไมล์ เทลเลอร์’ สามารถพาตัวเองให้หลุดกรอบคำว่า ‘นักแสดงไอดอล’ ลืมไปได้เลยว่าเขาเคยเป็นนักแสดงหนังวัยรุ่น ต่อจากนี้ถ้าจับงานดี ๆ เราก็เชื่อว่าเขาสามารถเล่นหนังดราม่าเข้มข้นได้สบาย ๆ ส่วน ‘เจ.เค. ซิมมอนส์’ นี่ผมแอบลุ้นเล็ก ๆ ให้ไปถึงรางวัลออสการ์การแสดงสมทบฝ่ายชาย ระเบิดอารมณ์ฉุนเฉียวได้สมบทบาทมาก ตะคอกเป็นตะคอก ก้าวร้าวรุนแรงดุดันจนอยากให้แกมีชื่อบนเวทีออสการ์จริง ๆ

อยากจะบอกว่าเดเมียน ชาเซลล์กำกับหนังได้ดีแล้ว แต่ก็กลัวว่าคำนี้จะเป็นภัยต่อการพัฒนาผลงานของเขา ฮ่าๆๆ พูดจากใจเลยว่าถ้ายังรักษามาตรฐานการกำกับหนังได้ระดับนี้อนาคตไกลแน่นอน จังหวะหนังเขาดีมาก ดีจนหลายฉากสามารถทำให้เราใจจดใจจ่อจนมองข้ามความประดิษฐ์จงใจดราม่าของหนัง แล้วเป็นผู้กำกับหนังฟอร์มเล็กที่รู้ตัวเองดีว่าควรจะโฟกัสไปที่ประเด็นไหนก็เล่นแต่ประเด็นนั้นไปจนสุดทาง ในที่นี้หมายถึงการโฟกัสไปที่เด็กหนุ่มทะเยอทะยานกับการฝึกที่ท้าทายสภาพจิตใจ

“There are no two words in the English language more harmful than good job.”

เกร็ดเล็กน้อย
• Whiplash เป็นหนังที่ 4 ของเทศกาล Sundance ที่สามารถชนะรางวัลใหญ่ Grand Jury Prize พ่วงด้วยรางวัลขวัญใจผู้ชม
• เดิมที ‘เดเมียน ชาเซลล์’ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ไม่มีทุนทำหนังใหญ่ เขาจึงถ่ายเป็นหนังสั้นส่งเข้าประกวด Sundance เมื่อปีที่ 2013 ผลคือหนังสั้นของเขาชนะรางวัล Short Film Jury Award ทีนี้เขาก็หาทุนทำหนังยาวได้สบาย
• 'ไมล์ เทลเลอร์' เล่นกลองมาตั้งแต่อายุ 15 จนถึงตอนนี้ก็เท่ากับเล่นมา 12 ปีแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือเขาแคสคนเล่นกลองเป็นจริง ๆ มาแสดงหนัง แล้วยังต้องมาฝึกเพิ่มเติมอีกอาทิตย์ละ 12 ชั่วโมง โดยกว่า 70% ของฉากตีกลองในหนังเนี่ยเป็นการเล่นสดของตัวเทลเลอร์เองครับ

Director: Damien Chazelle
Screenplay: Damien Chazelle


Genre: Drama, Music
9/10

หนังโปรดของข้าพเจ้า: https://www.facebook.com/MyFavouriteFilms
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่