(((((((((( เทพแห่งวิศวกรรมศาสตร์ คือ "พระวิษณุกรรม" มีชายาชื่อว่าอะไร? ))))))))))

มีตำนานหนึ่งเล่าว่า พระวิศวกรรมา (หรือ พระวิษณุกรรม) "เคยได้" พระสุรัสวดี เป็นชายา

พระวิศวกรรมา เป็น เทพแห่งวิศวกรรมศาสตร์ พระสุรัสวดี เป็น เทวีแห่งอักษรศาสตร์

ด้วยเหตุบุพเพสันนิวาสนี้กระมัง ที่ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาในชาติปัจจุบันของพระวิศวกรรมากับพระสุรัสวดี...คือ หนุ่มวิศวฯ กับสาวอักษรฯ...มักได้เป็นเนื้อคู่ตุนาหงันกัน...หลายคู่เลยทีเดียว!

- - - - -

ชายาของพระวิศวกรรมาอีกท่านหนึ่ง ชื่อ "นางฆฤตาจี" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ๑ ใน ๑๑ นางฟ้าเหล่าที่สวยที่สุดบนสวรรค์

พระวิศวกรรมากับนางฆฤตาจี มีธิดาด้วยกัน ชื่อว่า "นางสัญชญา" ซึ่งต่อมานางสัญชญาได้เป็นชายาของพระอาทิตย์

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งนางสัญชญาบ่นให้พระวิศวกรรมาผู้เป็นพ่อฟังว่า พระอาทิตย์สามีของตนนั้นช่าง "ร้อนแรง" เหลือเกิน เข้าใกล้ไม่ค่อยได้ พระวิศวกรรมาสงสารลูกสาว จึงช่วยเหลือ โดยไปขูดผิวพระอาทิตย์ออกเสียบางส่วน ทำให้ความร้อนแรงนั้นทุเลาลงไปบ้าง และผิวพระอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้าที่ขูดออกมาได้นั้น พระวิศวกรรมาได้นำไปรังสรรค์-ปั้น-แต่ง แล้วถวายให้เป็นอาวุธทรงอานุภาพและมีประกายแวววาว แก่เทพองค์สำคัญของสวรรค์ชั้นฟ้า ได้แก่

"ตรีศูล" (สามง่าม) ของพระอิศวร

"จักราวุธ" (กงจักร) ของพระนารายณ์

"วชิราวุธ" (สายฟ้า) ของพระอินทร์

"คทาวุธ" (กระบอง) ของท้าวกุเวร

"โตมราวุธ" (หอก) ของพระขันทกุมาร

ฯลฯ

- - - - -

นอกจากนี้แล้ว พระวิศวกรรมา เป็นผู้ปั้น "นางติโลตตมา" (ติ-โลด-ตะ-มา) นางฟ้าที่สวยที่สุดนางหนึ่งบนสวรรค์...สวยจนทำให้พระอินทร์ผู้ปรารถนาเห็นนางติโลตตมาอย่างจุใจ กลายเป็น “ท้าวสหัสนัยน์” มีดวงตา ๑,๐๐๐ ดวง และทำให้พระพรหมผู้ปรารถนาเห็นนางติโลตตมาจากทุกด้าน กลายเป็น “ท้าวจตุรพักตร์” มี ๔ หน้า

- - - - -

ผลงานเด่นอีกผลงานหนึ่งที่ใคร่อยากนำเสนอในที่นี้ ก็คือ “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรฯ มหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” หมายถึง กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดานั้น พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้าง (ตามพระบัญชาของพระอินทร์) นั่นเอง

- - - - -

ชาวไทยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการสืบทอดประเพณีบางอย่างมาจากอินเดีย ซึ่งนับถือว่า พระวิศวกรรมาเป็นเทพแห่งช่าง เป็นผู้สรรค์สร้าง หรือ เป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดการสรรค์สร้างประดิษฐกรรมต่างๆ ในโลก เราจึงบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศ “ENGINEERING” ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งช่าง ใช้ในภาษาไทย ว่า “วิศวกรรมศาสตร์” หมายถึง “ศาสตร์แห่งพระวิศวกรรม” หรือ “ศาสตร์ที่มีพระวิศวกรรมา (เทวดาแห่งช่าง) เป็นครู”

- - - - -

เรื่องข้างบนนี้ ตัดมาบางส่วน จากบทความฉบับเต็ม เรื่อง "พระวิษณุกรรม...วิศวกรแห่งจักรวาล" ในหนังสือที่ระลึก 100 ปี วิศวฯ จุฬาฯ

สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF (มีทั้งหมด 4 หน้า) เก็บไว้อ่านได้ที่ www.mediafire.com/download/c2vqh5c0gc8lkg9/พระวิษณุกรรม_วิศวกรแห่งจักรวาล.pdf
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่