ไปชม นิทรรศการงานศิลปะแนวสะท้อนสังคมมาไม่ผิดหวังค่ะ ชื่องาน Dramathais แถวสุขุมวิท 39

    เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมฟังเสวนาในงานเปิดตัวนิทรรศการDramathais



  
         ที่จัดขึ้น ณ แอดเลอร์ศุภโชค แกลอรี่ มาค่ะ  โดยแนวคิดของงานน่าสนใจ อีกทั้งชมฟรี  แถมชื่นชอบในตัวศิลปินเป็นพิเศษ 5555++ (แอบหัวเราะ) ด้วยแนวคิดที่ตั้ง แอดเลอร์ นิทรรศการครั้งนี้ จะสะท้อนสังคมในปัจจุบัน ผ่านปลายพู่กันของ สามศิลปินไทย คือ ปาล์ม-ปรียวิศว์  นิลจุลกะ, ซาโต้- ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร และ จอร์ช-ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล โดยผลงานของทั้งสามคน ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ยังไม่เริ่มงานพิธีเปิดอย่างเป็นทางการค่ะ ผลงานงามงดมากๆ
        โดยบรรยากาศในงานเปิดนิทรรศการครั้งนี้  เริ่มจากการตั้งวงเสวนาเล็กๆ ร่วมพูดคุยกันถึงที่มาของแนวคิด Dramathais (ดรามาไทส์) กับ    คุณเอิง-จงสุวัฒน์  อังคสุวรรณศิริ   ผู้อำนวยการ แอดเลอร์ ศุภโชค แกลอรี่ ศิลปินที่แสดงผลงานทั้ง  3 คน คือ และมีผู้กำกับละครโทรทัศน์จากค่ายเอ็กแซ็กท์ คือคุณอาร์ต-จาริวัฒน์ อุปการไชยพัฒน์  
        การเสวนาเต็มไปด้วยเรื่องของ แนวคิดของผลงานแต่ละชิ้นว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร ชอบค่ะ  ปกติเมื่อก่อนไปชมงานศิลปะ เราก็ได้แต่มองว่าสวยจัง อ่านชื่อภาพแนวคิดศิลปิน แล้วก็กลับ แต่มางานนี้เรารู้สึกได้ถึงการมองศิลปะที่เปลี่ยนไป
เราเข้าใจกว่าทุกครั้งที่ได้ชมงาน เข้าใจว่าศิลปินมองแบบไหนต้องการสื่อสารอะไรกับเรา ต้องการหะเราเห็นอะไร แต่ไม่ใช่การตีกรอบ ว่าต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น เราคิดได้หลากหลาย แต่แค่เข้าใจง่ายเท่านั้นเอง  ทั้งการวางคอนเซ็ปท์เสียดสีสังคมยุคใหม่อย่างดรามาไทส์  ก็ทำให้เราเข้าใจอะไรได้มากขึ้น  ศิลปินที่เสวนาก็ตีแผ่ความคิดของตนเองสะท้อนออกมาได้หลากหลาย อย่างพี่ปาล์มนักร้องนำขวัญใจวัยรุ่นจากวงอินสติงค์ (Instinct) เล่าถึงผลงานของตัวเองว่า


            “เมื่อก่อนมักจะเล่าเรื่องเสียดสีสังคมในเรื่องของเซ็กส์   แต่สำหรับงานชุดนี้เกิดจากการสอดส่องเรื่องราวที่เกิดขึ้นบน Social Media เป็นดราม่าบนสังคมออนไลน์ที่ขยายผลจนถึงสังคมปัจจุบัน  เรื่องราวที่ผมหยิบมาสื่อสารล้วนมาจากสิ่งที่ได้พบเจอในช่วงจังหวะเวลาที่คนทำงานกลางคืนอย่างอาชีพนักดนตรีอย่างผมมักมีโอกาสได้เจอบ่อยๆ รวมถึงข่าวสารที่ถูกตีแผ่ผ่านสื่ออยู่ทุกวัน  ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ฉากหน้าของเครื่องแบบที่แต่ละอาชีพสวมใส่  เช่น แพทย์กับพยาบาล กัปตันกับแอร์โฮสเตส ตำรวจกับส่วย หรือแม้แต่พระสงฆ์กับเรื่องผู้หญิง  ซึ่งผมมองว่าบางความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องปกติ  ในขณะที่บางความสัมพันธ์นั้นกลับสะท้อนให้เห็นถึงสังคมไทยที่กำลังป่วย”

  


          ส่วนผลงานของ จอร์ช-ธีรวัฒน์  นุชเจริญผล  ศิลปินที่คลุกคลีอยู่ในวงการจิตรกรรมฝาผนังซึ่งมักผสมผสานจิตรกรรมไทยเอาไว้ในผลงานเสมอ  โดยงานชุดนี้ได้หยิบเอาความเชื่อทางพุทธศาสนามาบอกเล่าถึงสังคมไทยในปัจจุบัน  จอร์ชเล่าว่า ‘กิน กาม และเกียรติ’ คือสามสิ่งที่เข้าครอบงำร่างกายและจิตใจ จนทำให้มนุษย์ขาดอิสรภาพไปโดยไม่รู้ตัว  “ผมเลือกหยิบเอาคำว่ากิเลสในตัวมนุษย์มาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ โดยใช้ภาพแนวจิตรกรรมฝาผนัง มาผสมผสานกับภาพแบบเหมือนจริง หรือ Realistic  ในบริบทของสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีความอยาก  ความต้องการในด้านวัตถุโดยไม่รู้ตัว เช่น ข้าวของเครื่องใช้ กระเป๋าแบรนด์เนม เสื้อผ้าเครื่องประดับ หรือแม้แต่การบริโภคอาหาร ถ้าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เข้าครอบงำมากๆ จะทำให้มนุษย์ขาดการไตร่ตรองที่ถูกต้อง กลายเป็นคนขาดศีลธรรม อยากได้อยากมี โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือตามมา”  ในขณะที่เรื่องราวในสังคมกำลังถูกตีแผ่และถ่ายทอดโดยศิลปินทั้งสองคน



         แต่กับ ซาโต้ ศิลปินมือรางวัลกลับเลือกที่จะสะบัดปลายพู่กันเล่าเรื่องราวความซับซ้อนในจิตใจของตน ให้ออกมาในรูปแบบแฟนตาซี “ผมเลือกเอาความรู้สึกภายในของตัวเองออกมาถ่ายทอด ซึ่งมีทั้งความเหงา อ้างว้าง และโดดเดี่ยวอยู่ภายในจิตใจ งานจึงออกมาในรูปแบบแฟนตาซี เหนือจริง แต่ในความเหนือจริงก็อ้างอิงจากโลกปัจจุบันด้วย ผมสะท้อนอารมณ์ออกมาในรูปร่างของมนุษย์หัวกระต่าย มีกล้ามเนื้อ มีสรีระเหมือนจริง ส่วนหัวกระต่ายเป็นตัวแทนของโลกแฟนตาซี ซึ่งผลงานในครั้งนี้มีความเป็นตัวเองมากขึ้น รวมทั้งมีความรู้สึกที่อินไปกับสังคมมากขึ้นด้วย ส่วนคุณอาร์ต อาร์ต-จาริวัฒน์ อุปการไชยพัฒน์   ที่มาบอกเล่าเรื่องราวในบทบาทของผู้ที่รับหน้าที่กำกับผู้อื่น  กับบทบาทความเป็นมนุษย์ในแบบดรามาไทส์ที่ถูกกำกับจากสังคม  โดยคุณอาร์ตได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการถูกกำกับ ประมาณว่า“ชีวิตของมนุษย์ ไม่ควรให้อะไรมากำหนด  ควรมีสติการใช้ชีวิตอยู่เสมอ สำหรับคำพูดที่ว่า ละครสะท้อนสังคมนั้น ก็มีส่วนจริง แท้จริงแล้วในสังคมมีความดราม่ายิ่งกว่าในละครมากนัก  ละครเองก็เลือกสรรส่วนที่สำคัญมาถ่ายทอด เช่นเดียวกับศิลปินที่คัดสรรเรื่องราวสำคัญในชีวิตมาถ่ายทอดสำหรับนิทรรศการศิลปะในครั้งนี้” นับว่าเป็นช่วงเสวนาที่เข้มข้นสนุกสนานมากค่ะ  ตอนฟังๆอาจจะงง แต่พอเห็นผลงานภาพวาดของทั้งสามท่านเราก็ร้อง อ๋อ ทันทีค่ะ  ช่วงเย็นมี ปาร์ตี้ต่อด้วยมี พี่จีน-กษิดิษ มาเป็นดีเจ แต่เราไม่ได้อยู่ ฟังแค่ช่วงเสวนาแล้วก็กลับ
         จริงๆส่วนตัวเราคิดว่า การชมงานศิลปะ คล้ายๆการอ่านหนังสือ เรามองภาพแล้วเราก็คิดตาม แต่มันสนุกตรงที่ เราจินตนาการเองได้ว่า ตอนจบมันจะเป็นยังๆไงไม่มีเฉลยไม่มีถูกผิด ศิลปินเองก็คงอยากให้เป็นอย่างนั้นต้องการสื่อสารให้คนคิดหลายๆแบบ  เป็นงานศิลปะงานแรกที่เรารู้สึกว่าโอเคมากๆ ถ้าหากใครสนใจจะไปชมนิทรรศการนี้ยังจัดอยู่นะคะ ถึง 30 พฤศจิกายน  2557   ณ แอดเลอร์ ศุภโชค แกลอรี่ สุขุมวิท 39 ได้ข่าวว่าถูกจองไปเกือบหมดแล้วแต่ยังเปิดให้ชมผลงงานรู้สึกว่าไม่ผิดหวังจริงๆค่ะ เยี่ยมยิ้มยิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่