การตีหงสาวดีของพระเจ้าอลองพญา

สมัยก่อนนั้น อาณาจักรหงสาวดีมีอยู่ช้านานในนามของอาณาจักรสะเทิม ซึ่งได้ครองเขตพม่าตอนล่างมาโดยตลอดนับตั้งแต่บริเวณเมืองพะโคจรดเมืองตะนาวศรี หัวเมืองมอญมีความเจริญรุ่งเรืองในหลายๆด้านทั้งด้านการทหาร การปกครอง วัฒนธรรม และที่สำคัญคือด้านศาสนา นอกจากเมืองสะเทิมในพม่าแล้ว มีหลักฐานปรากฏด้วยว่าชาวมอญได้ตั้งอาณาจักรขึ้นระหว่างอาณาจักรสะเทิมกับอาณาจักรขอมในชื่อว่า "ทวารวดี"

ต่อมาพระเจ้าอโนรธามังช่อ ทรงยึดอาณาจักรสะเทิมผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพุกาม โดยได้จับกุมพระเจ้ามนูหะ กษัตริย์องค์สุดท้ายของสะเทิมมาเป็นเชลยศักดิ์ และเลี้ยงดูอย่างดี รวมถึงได้นำพระพุทธศาสนาของมอญเข้ามาเผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพม่าตั้งแต่นั้น

ภายหลังจากที่อาณาจักรพุกามล่มสลายโดยการบุกรุกของชาวมองโกล มะกะโท ชาวไทใหญ่-มอญ (พระบิดาเป็นชาวไทใหญ่ ส่วนพระมารดาเป็นชาวมอญ) ผู้อาศัยในกรุงสุโขทัยได้กลับมาเมาะตะมะและวางแผนสังหารอเลย์มา เจ้าเมืองชาวพม่า จากนั้นจึงได้ขึ้นครองบัลลังก์และสถาปนาอาณาจักรรามัญขึ้น

ต่อมาพญาอู่ได้ย้ายราชธานีไปยังพะโค เมื่อถึงยุคของพระเจ้าราชาธิราช ได้มีการทำสงครามขึ้นเป็นเวลานาน 40 ปี กับอาณาจักรอังวะ ก่อนที่จะจบลงด้วยการที่พระเจ้าสีหตู พระโอรสองค์รองของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้อภิเษกสมรสกับพระนางเชงสอบู อย่างไรก็ตาม สงครามนี้ พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ทรงสูญเสียมังรายกะยอชวา พระโอรสองค์โตไป

หลังจากนั้น เมื่อพระเจ้าเมงจีโยได้สถาปนาราชวงศ์ตองอูขึ้นในปี 1510 ได้ทรงพยายามยึดครองกรุงหงสาวดี แต่กลับเสด็จสวรรคตเสียก่อน หลังจากนั้น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้ยกทัพตีอาณาจักรหงสาวดี พระเจ้าสการะวุตพีผู้ครองอาณาจักรหงสาวดีในตอนนั้นทรงพยายามขอร้องพระเจ้าแปรและเหล่าเจ้าฟ้าไทใหญ่ให้มาช่วยพระองค์ ทว่ากลับโดนปฏิเสธไป พระองค์จึงหนีไปที่มาอูเบงและสวรรคตที่นั้น ไม่กี่ปีต่อมาพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ทรงสามารถตีเมืองได้ อย่างไรก็ตาม ในปลายรัชกาลเกิดกบฏมอญขึ้น ขณะที่พระองค์ได้ให้มหาอุปราชาบุเรงนองปราบปรามนั้น ทรงถูกสมิงทอลอบปลงพระชนม์ที่ปันตาเนาว์ แต่ต่อมาถูกพระเจ้าบุเรงนองปราบปรามและประหารชีวิตในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม หลังยุคนยองยาน อาณาจักรตองอูเกิดความเสื่อมสลาย มีการทำสงครามทั้งกับหัวเมืองไทใหญ่,มณีปุระ และสงครามภายใน ต่อมาหลังจากนั้น เจ้าฟ้าพุกาม ได้พยายามล้มล้างพระเจ้าพระเจ้าทนินกันเวแต่ไม่สำเร็จ จึงหนีไปทางตะวันออกของเมืองพะโค เวลาต่อมา พระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี พระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อมาจากพระองค์

ต่อมา เมืองซาอ่อง ขุนนางชาวพม่า ผู้ครองเมืองพะโคได้ก่อกบฏต่อพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี และขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเมืองพะโค แต่ชาวมอญซึ่งไม่พอใจพม่าอยู่แล้ว ได้ก่อกบฏ โดยร่วมมือกับทหารฝรั่งเศสก่อกบฏขึ้นที่พะโคและจับพระเจ้าพะโคประหารชีวิต พระองค์จึงให้พระปิตุลา เมงแยอ่องเนียง ขึ้นเป็นเจ้าเมืองพะโคแทน แต่กบฏมอญยังไม่พอใจกับพม่า กลับสังหารเมงแยอ่องเนียงและขุนนางพม่าเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงกริ้วมากจึงมีพระราชโองการให้สังหารหมู่ชาวมอญในพะโค ชาวกะเวฉาน (ชาวไทใหญ่ที่บรรพบุรุษถูกกวานต้อนมายังพะโคในยุคพระเจ้าบุเรงนอง) ได้ก่อกบฏขึ้นในพะโคและประกาศสถาปนาอาณาจักรหงสาวดี

กบฏได้ให้ภิกษุสมิงทอพุทธเกศ ผู้เป็นราชบุตรของเจ้าฟ้าพุกาม ซึ่งได้เติบโตท่ามกลางเหล่าเจ้าฟ้าไทใหญ่และชาวกะเหรี่ยง และยังพูดภาษามอญได้ ลาสิกขาและขึ้นเป็นพระเจ้าผู้ครองอาณาจักรหงสาวดียุคหลัง โดยการสนับสนุนของกบฏมอญและกองทัพฝรั่งเศสให้จัดตั้งอาณาจักรหงสาวดียุคหลังในบริเวณพม่าตอนล่างซึ่งเคยเป็นถิ่นฐานของชาวมอญมาแต่กาลนาน

เวลานั้นพระเจ้าสมิงทอพุทธเกศได้ทรงผูกไมตรีกับอาณาจักรเชียงใหม่และทรงเสกสมรสกับพระธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่ แต่ด้วยความที่พระองค์เคยใช้ชีวิตในสมณเพศและรู้สึกเบื่อหน่ายในความเป็นพระมหากษัตริย์มอญ พระองค์จึงสละราชสมบัติให้พระยาทะลาและทรงเสด็จประทับที่เชียงใหม่

อ่องซา หรือพระยาทะลา ชาวมอญเชียงใหม่ ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรหงสาวดียุคหลังในปี 1747 และได้ให้พระมหาอุปราชาแห่งพะโคพร้อมด้วยทหารโปรตุเกสและทหารดัตช์เข้าล้อมเมืองสะกายและอังวะ ด้วยความอ่อนแอของราชวงศ์ตองอู เมืองอังวะจึงถูกตีแตกได้ในปี 1752 และคุมตัวอดีตกษัตริย์มหาธรรมราชาธิบดีและบรรดาพระญาติ (ยกเว้นพระราชโอรส 2 พระองค์ที่หนีไปยังกรุงศรีอยุธยาได้) เป็นเชลยศักดิ์ ก่อนที่จะถูกสำเร็จโทษในอีก 2 ปี ต่อมาเนื่องจากถูกสงสัยว่าจะทำการก่อกบฏ

เมื่อพระยาทะลากลับมาที่พะโค พระองค์กลับให้พระมหาอุปราชาและทะลาบาน แม่ทัพสูงสุด ไปดูแลเมืองอังวะ และให้เหล่าขุนนาง เจ้าเมือง ผู้ใหญ่บ้านชาวพม่ามาทำพิธีสาบานและยอมรับพระองค์ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างสาบานและให้การยอมรับพระองค์

ทว่า หัวหน้าหมู่บ้านมอกโชโบชื่อ อ่องไจยะ ได้ต่อต้านการปกครองของมอญและยังชักชวนหมู่บ้านใกล้เคียงให้ต่อต้านมอญด้วย ขุนนางหงสาวดีคนหนึ่งได้ส่งกองกำลัง 55 คนมาให้อ่องไจยะทำพิธีสาบาน เขาออกมาพร้อมกับพรรคพวกประมาณ 20 คน และทำการขับไล่กองกำลังนั้นออกไป และหนำซ้ำยังซุ่มโจมตีจนเกิดความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่

อ่องไจยะได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พม่า ทรงพระนามว่าพระเจ้าอลองพญา สถาปนาราชวงศ์คองบองต่อจากราชวงศ์ตองอู และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านมอกโชโบเป็นเมืองชเวโบ และจัดการสร้างหลุมพราง,คูเมืองไว้รอบๆเมือง

พระมหาอุปราชาแห่งพะโคคิดว่านั้นเป็นเพียงหัวหน้าหมู่บ้านเล็กๆ แต่เป็นการตัดสินใจที่ผิดที่สุด ทรงตัดสินพระทัยกลับเมืองพะโคด้วยกองกำลัง 20,000 คนและกองเรืออีกนับไม่ถ้วน เหตุที่ต้องนำทหารกลับมาพะโคเพราะกรุงศรีอยุธยาสามารถผนวกตะนาวศรีส่วนบนได้ ทำให้ต้องมีการปรับกองกำลังทหาร ซึ่งทำให้ทะลาบาน แม่ทัพผู้ดูแลเมืองอังวะต้องพ่ายแพ้ และมีการสับเปลี่ยนแม่ทัพใหม่ เป็นตองอู งเวกุนมู แต่ไม่ได้ช่วยอะไรแม้แต่น้อย หลังจากนั้นเอง พระเจ้าอลองพญาได้นำกองกำลังของพระองค์ขับไล่ทหารมอญและไทใหญ่ออกไปได้ ในเวลาต่อมา เจ้าฟ้ามังลอกยังได้ยึดเมืองอังวะได้สำเร็จในเวลาต่อมา ยังให้แม่ทัพและทหารส่วนหนึ่งต้องหลบหนีออกไป

แม้ว่าพระยาทะลาจะส่งกองทัพไปจัดการเท่าใดก็ไม่สามารถต้านทานกองทัพของพระเจ้าอลองพญาและพระราชโอรสได้ เวลาต่อมาพระองค์จึงตัดสินใจตีเมืองแปร แต่ทว่าช่วงเวลานั้นพระองค์ได้ประหารอดีตกษัตริย์มหาธรรมราชาธิบดีไปแล้ว ทำให้พระเจ้าอลองพญาได้รับการยอมรับในความเป็นกษัตริย์มากขึ้น และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นด้วย ทหารมอญได้ตีเมืองแปรในเดือนมกราคม 1755 แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้อย่างหนัก หลังจากนั้น พระเจ้าอลองพญาได้ยกทัพไปทางแม่น้ำอิรวดีและสามารถขับไล่ทหารมอญได้ที่เมืองดากอง ซึ่งเวลาต่อมาพระองค์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นย่างกุ้ง

พระเจ้าอลองพญาได้ดำเนินการตีหัวเมืองพม่าใต้มาจนถึงเมืองพะโค และทำการล้อมเมืองจนประชาชนอดอยากปากแห้ง พระยาทะลาได้พยายามส่งพระราชธิดาไปเพื่อสงบศึก แต่ทะลาบาน ผู้ซึ่งได้หมั้นหมายกับเจ้าหญิงองค์นี้โกรธแค้นและประกาศจะทำสงครามกับพม่าเอง แต่ทว่า เหล่าสภาขุนนางและอุปราชต่างสนับสนุนข้อคิดข้อนี้ คืนนั้นเอง ทะลาบานกับครอบครัวจึงได้หนีไปที่สิตทอว์ เจ้าหญิงเองได้ถูกนำตัวไปพร้อมกับพระมหาอุปราชาและล้อมรอบโดยนางกำนัลร้อยคน

เจ้าหญิงถูกประทับในพระตำหนัก ส่วนพระมหาอุปราชาถูกนำไปเป็นตัวประกัน การศึกจึงสงบชั่วคราว แต่ว่าพระเจ้าอลองพญานำสายลับและทหารเข้าเมือง แต่ถูกจับได้และถูกประหาร การศึกจึงปะทุอีกครั้ง

ปี 1757 พระเจ้าอลองพญาได้ตีเมืองพะโคสำเร็จ ทหารนับพันถูกฆ่าตาย ชาวเมืองนับหมื่นถูกจับเป็นเชลย ประตูเมืองทุกประตูที่สร้างโดยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองถูกทำลายย่อยยับ

หลังจากนั้น พระเจ้าอลองพญาทรงสามารถจับตัวทะลาบานได้ แต่กลับหนีไปได้ในเวลาไม่นาน พระองค์จึงจับครอบครัวและบริวารเป็นตัวประกัน เขาจึงยอมออกมาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าอลองพญา ทรงชื่นชมทะลาบานและรับสั่งปล่อยตัวเขา เขาได้รับใช้พระองค์ไปตลอดรัชสมัย

ส่วนพระยาทะลา ถูกกักขังไว้ในพระตำหนักนาน 17 ปี ก่อนที่พระเจ้ามังระจะรับสั่งประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณชนหลังเกิดเหตุการณ์กบฏมอญในปี 1773 เนื่องจากเข้าใจว่าพระองค์ซ่องสุมกำลังเตรียมล้างแค้น

และประวัติศาสตร์ชาติมอญก็จบลงเพียงเท่านั้น ทุกวันนี้ชาวมอญยังไร้แผ่นดินอยู่ ได้แต่อนุรักษ์และสำนึกความเป็นมอญอยู่เท่านั้น



แผนที่การตีเมืองของพระเจ้าอลองพญา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่