3 กษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพม่า

ประเทศไทยหากมีมหาราชแล้ว ก็จะนับมหาราชได้ 7 พระองค์ ซึ่งพระองค์มีพระราชกรณียกิจแตกต่างกันไปตามที่พระองค์ทรงวางไว้ แต่ประเทศพม่า ซึ่งถือว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนานยิ่งกว่า มีมหาราชเพียง 3 พระองค์ ทำไมประวัติศาสตร์พม่าให้การยอมรับกษัตริย์ 3 พระองค์เป็นมหาราช เรามาดูพระประวัติกันครับ

พระเจ้าอโนรธา



พระเจ้ามหาราชาสิริอนิรุทธเทวะ หรือ พระเจ้าอเนาวรธา (อโนรธา) ทรงมีพระนามเดิมว่า เมงซอว์ (มังช่อ) ทรงประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ หลังเดือน 1 ปี 376 ตามปฎิทินพม่า ตรงกับ 8 มีนาคม 1015 เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากุนช่อ กองพยู ซึ่งได้ทำการล้มล้างราชบัลลังก์จากพระเจ้ายองอู ซอรหัง ภายหลังเมื่อกยิ่นโซได้ล้มล้างราชบัลลังก์คืน พระราชบิดาทรงหนีไปผนวช แต่ต่อมากยิ่นโซสวรรคตระหว่างการล่าสัตว์ ทำให้สุกกะเตขึ้นครองบัลลังก์ มังช่อจึงถือโอกาสล้มบัลลังก์คืนมาให้พระราชบิดา แต่พระบิดาทรงผนวชแล้วจึงทรงปฏิเสธ จึงทรงขึ้นครองบัลลังก์สถาปนาราชวงศ์พุกามอย่างเป็นทางการ

หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงได้บำรุงบ้านเมือง ขยายอาณาจักรไปทั่วสารทิศ โดยเฉพาะการตีกรุงสะเทิมของพระเจ้ามนูหะ ได้นำพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาแทนที่ศาสนาเดิมของพระองค์ นั้นคือศาสนาอริ ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในพม่าจนถึงวันนี้

พระเจ้าอโนรธาสวรรคตเมื่อประมาณวันขึ้น 7 ค่ำ หลังเดือน 1 ปี 439 ประมาณ 23 มีนาคม 1078 ขณะทรงล่าสัตว์ บ้างว่าทรงถูกศัตรูซุ่มโจมตีแล้วนำพระศพไปทิ้งไว้ในที่ที่ไม่มีใครเห็น บ้างว่าทรงถูกผีนัตสิงเข้าร่างกระทิงป่าแล้วขวิดพระองค์ แล้วขโมยพระศพหายไป

พระเจ้าบุเรงนอง



พระเจ้าสิริศรีภวานสิตราบวรบัณฑิตสุรธรรมราชมหาธิบดี หรือ พระเจ้าเชษฐาธิราช (พระเจ้าบุเรงนอง) ทรงประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ หลังเดือน 11 ปี 877 ตรงกับ 16 มกราคม 1516 เป็นบุตรของมังจีชเวหรือมังเจสีหตูกับเชงเมียวมยัต ทรงมีพระนามเดิมว่า เยทุต ได้อภิเษกสมรสกับพระนางตะขิ่นจี และมีพระราชบุตรนามว่า นันทะ (พระเจ้านันทบุเรง)

ทรงได้ขยายอาณาจักรตองอูไปกว้างไกล ปราบกบฏชาวมอญ แล้วยังขยายอาณาจักรไปยังล้านนา,ล้านช้าง จนถึงอยุธยา และเกือบจะยึดยะไข่ได้แล้ว แต่ทรงสวรรคตไปก่อนเมื่อ วันศุกร์ คืนจันทร์เต็มเดือน เดือน 8 ปี 943 ตรงกับ 10 พฤศจิกายน 1581 จากพระอาการประชวรที่มีอย่างยาวนาน

พระเจ้าอลองพญา



พระบาทสมเด็จพระมหาโพธิสัตว์เจ้า หรือ พระเจ้าอลองพญา เดิมเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านมอกโชโบหรือหมู่บ้านคองบองหรือเมืองชเวโบในปัจจุบัน เสด็จพระราชสมภพเมื่อ 24 กันยายน 1714 (ขี้เกียจเขียนปฏิทินพม่าล่ะ) ที่หมู่บ้านมอกโชโบของพระราชบิดา พระนามเดิมคือ อองไจยะ เป็นบุตรชายคนรองของมินเนียวซอกับซอเนียนอู เวลาช่วงนั้นราชวงศ์ตองอูเข้าสู่ภาวะเสื่อมอย่างหนัก ทหารมอญได้ตีเมืองเข้าไปจับกุมกษัตริย์ตองอูได้และมอญขอร้องให้เจ้าเมือง,นายอำเภอ,ผู้ใหญ่บ้านในอาณาจักรตองอูยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี แต่อองไจยะต้องการจะต่อต้านอำนาจมอญอย่างสุดกำลัง

อองไจยะชักชวนนายบ้านในแถบลุ่มน้ำมู 46 หมู่บ้าน เข้าร่วมสงครามและมีคนจำนวนมากเข้าร่วมสู้ด้วย คืนพระจันทร์เต็มดวง 29 กุมภาพันธ์ 1752 อองไจยะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ใหม่ ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระมหาโพธิสัตว์เจ้า" (อลองพญา) หรือพระนามเต็มๆคือ "สิริภาวรา วิชัยนันทชาตะ มหาธรรมราชาธิราช อลุง มินธารคยี"

ทรงได้ทำการป้องกันหมู่บ้านโดยเริ่มจากการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านของพระองค์เป็นชเวโบ และขุดคูน้ำ หลุมและบ่อไว้ในป่านอกหมู่บ้าน รวมถึงสร้างกำแพงด้วย ต่อมาพระองค์สามารถขับไล่ทหารมอญ ทหารเงี้ยว รวมถึงทหารยุโรปด้วย และทำการยึดเมืองหลายเมือง เช่น ย่างกุ้ง สิเรียม และล้อมเมืองพะโคนาน 14 เดือน จึงสามารถตีเมืองได้สำเร็จในวันที่ 6 พฤษภาคม 1757 ทหารพม่าได้ทำลายเมือง เผาเมือง เข่นฆ่าผู้คนจำนวนมาก ที่เหลืออยู่ก็ถูกจับเป็นทาส ส่วนกษัตริย์มอญ พญาทาละ กษัตริย์มอญ หลบหนีได้ แต่ไม่นานก็ต้องออกมา ทรงได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้าอลองพญา และช่วยทำงานให้กับทางรัฐมาส่วนหนึ่ง ก่อนที่ชาวมอญจะก่อกบฎ แล้วถูกพระเจ้ามังระทรงสั่งประหารชีวิตต่อหน้าประชาชนในเวลาต่อมา เนื่องจากถูกสงสัยว่าพระองค์จะทำการก่อกบฎ

ทรงเสด็จสวรรคตในวันที่ 17 พฤษภาคม 1760 ด้วยอาการประชวร (บ้างว่าทรงถูกปีนใหญ่ลั่น) มีเพียงแค่เมงข่องเนาวธา หรือ มังฆ้องนรธา ที่สามารถคุมกองพลจำนวน 6,000 นายกับทหารม้า 500 คน เป็นทัพหลัง แม้ว่ามีกองทัพอยุธยาเข้าโจมตี แต่ก็สามารถป้องกันได้ตลอดทางจนพ้นเขตอยุธยา

----


อยากให้ชาวพันทิปช่วยกันพินิจพิเคราะห์ถึงพระมหากษัตริย์ถึงพระปรีชาสามารถ และข้อดีข้อเสียของแต่ล่ะพระองค์กันนะครับ ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่