ขอทราบผลกระทบของการที่ BTS อนุมัติขายหุ้น 2แสนล้านหุ้นให้ NPARK ด้วยครับ

ขอทราบผลกระทบของการที่ BTS อนุมัติขายหุ้น 2แสนล้านหุ้นให้ NPARK ด้วยครับ
อ่านแล้วไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลกระทบเชิงบวกหรือลบอย่างไรกับหุ้นทั้ง 2 ตัว (BTS, NPARK) และผลประโยชน์จากการกระทำเช่นนี้คืออะไรครับ
รบกวนสอบถามผู้รู้ด้วยครับ

ตามรายละเอียดข่าวนี้เลย

บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 7/2557 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ได้มีมติที่สำคัญโดยได้อนุมัติในหลักการให้บริษัทฯ พิจารณาจำหน่ายหุ้นทั้งหมดในสองบริษัทย่อยของบริษัทฯ ในสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท บีทีเอส แอสเสทส์ จำกัด (“บจ. บีทีเอส แอสเสทส์") และบริษัท ก้ามกุ้ง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (“บจ. ก้ามกุ้ง พร็อพเพอร์ตี้") ให้แก่บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (“NPARK") ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

เพื่อแลกกับค่าตอบแทนซึ่งจะประกอบด้วย (1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิของ NPARK และ/หรือ (2) เงินสดอีกจำนวนหนึ่งหากมีความเหมาะสม ซึ่งการกำหนดค่าตอบแทนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกันของคู่สัญญาต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเข้าตรวจสอบวิเคราะห์สถานะกิจการ (Due Diligence) ของ NPARK และบริษัทย่อยของ NPARK และนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ พิจารณาและอนุมัติการเข้าทำรายการอีกครั้งหนึ่ง

โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ ในวันนี้ (วันที่ 6 ตุลาคม 2557) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติในหลักการให้บริษัทฯพิจารณาจำหน่ายหุ้นทั้งหมดในบริษัทย่อยสองแห่งในสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บจ. บีทีเอส แอสเสทส์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ โรงแรมสูง 33 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสาทร ติดกับสถานีรถไฟฟ้ บีทีเอสสุรศักดิ์ และเจ้าของที่ดินบริเวณถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้ บีทีเอส หมอชิต และบจ. ก้ามกุ้ง พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณถนนพญาไท ติดกับสถานีรถไฟฟ้ บีทีเอส พญาไท โดยทั้งสองบริษัทย่อยถือครองอาคารและที่ดินรวมกันประมาณ 18 ไร่ มีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 8,000 - 10,000 ล้านบาท

โดยจะพิจารณาขายให้แก่ NPARK ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแลกกับค่าตอบแทนในรูปของหุ้นสามัญที่ออกใหม่ของ NPARK ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ในจำนวนไม่เกิน 213,000,000,000 หุ้น (คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 37.06 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ NPARK หลังจากเสร็จสิ้นการเข้าทำธุรกรรม

ทั้งนี้ ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่กำลังเสนอขายให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของ NPARK ได้มีการจองซื้อทั้งหมดเต็มจำนวน) ในราคาเสนอขายหุ้นละ 0.047 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของ NPARK ซึ่งออกให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement)(“ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ") ในอัตราส่วน 2 หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกให้แก่บริษัทฯ ต่อ 1 หน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิฯ โดยไม่คิดมูลค่า โดยใบสำคัญแสดงสิทธิฯ 1 หน่วย มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ NPARK ได้ 1 หุ้น ในราคาใช้สิทธิที่ 0.047 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ นี้ จะต้องออกให้แก่บริษัทฯ ก่อนการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญที่จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ NPARK ตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งออกและเสนอขายตามมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ NPARK ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 (“ใบสำคัญแสดงสิทธิ RO") และใบสำคัญแสดงสิทธิฯ นี้ จะไม่มีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยนอกเหนือจากเรื่องวันออกใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ราคาการใช้สิทธิ และสถานะการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ นี้ จะมีเงื่อนไขและ ข้อกำหนดสิทธิเช่นเดียวกันกับใบสำคัญแสดงสิทธิ RO นอกจากนี้แล้ว บริษัทฯ อาจจะรับค่าตอบแทนจากการจำหน่ายหุ้นในบริษัทย่อยอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินสด หากมีความเหมาะสม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกัน

ทั้งนี้ การตัดสินใจเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวข้างต้นของบริษัทฯ ยังไม่แน่นอน ซึ่งการตัดสินใจเข้าทำธุรกรรมจะต้องได้รับมติอนุมัติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้เข้าทำการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการ (Due Diligence) ของ NPARK และบริษัทย่อยของ NPARK และการพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไขของการเข้าทำธุรกรรม รวมทั้งราคาซื้อขายหุ้นในบจ. บีทีเอส แอสเสทส์ และบจ. ก้ามกุ้ง พร็อพเพอร์ตี้ ว่ามีความเหมาะสมและเป็นที่พึงพอใจแก่บริษัทฯ หรือไม่ ตลอดจนการคำนึงถึงผลสำเร็จของการจองซื้อหุ้นในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ NPARK ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ NPARK ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 และเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ มีมติอนุมัติการเข้าทำธุรกรรมแล้ว บริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขนาดรายการดังกล่าวจะยังไม่เข้าลักษณะเป็นรายการประเภทที่ 1 ตามประกาศว่าด้วยการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ จึงไม่ต้องขออนุมัติการเข้าทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทฯ (แล้วแต่กรณี) จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ แต่อย่างใด นอกจากการได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ในการเข้าทำธุรกรรมแล้วความสำเร็จของการเข้าทำธุรกรรมยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญ

อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--

ที่มา http://www.ryt9.com/s/iq10/2000978

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่