$$... เจาะลึกความเป็นมา Occupy Central ที่ฮ่องกง …$$

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่สำนักข่าวทั่วโลกให้ความสนใจที่สุด เห็นจะเป็นการชุมนุมของม็อบที่ฮ่องกง ที่ถูกตั้งชื่อว่า Occupy Central เลียนแบบ Occupy Wallstreet ที่นิวยอร์ค แต่กลับมีประสิทธิภาพมากกว่ามากทีเดียว กระทู้นี้ ขอเล่าให้ทุกท่านเข้าใจภาพรวมของปัญหา และเรามาดูว่า ในวิกฤตครั้งนี้ มีอะไรน่ากลัวไหม เชิญรับชมกันครับ

Q : การชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกงครั้งนี้ เริ่มจากอะไร?
A : มันเริ่มมาจากการเรียกร้องให้รัฐบาลกลางของจีนหยุดแทรกแซงการเลือกตั้งผู้ว่าฯฮ่องกงที่จะมีขึ้นในปี 2560 ครับ ทั้งๆที่ รัฐสภาจีนประกาศออกมาก่อนหน้านี้ว่า คนฮ่องกงสามารถเลือกผู้นำของตนเองแบบ “1 คน 1 เสียง” ได้ในปี 2560 แต่กลายเป็นว่า มีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ ผู้สมัครจะต้องผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการที่สนับสนุนปักกิ่งเสียก่อน ส่งผลให้คนฮ่องกงจำนวนมากออกมาประณามว่า เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม และเริ่มมีคนออกมาชุมนุมกันกลางถนนตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

หลายคนอาจจะมีคำถามต่อว่า เฮ้ย!! อีกตั้งหลายปี ทำไมมาชุมนุมกันตอนนี้

ลองดูภาพด้านล่างนะครับ สาเหตุเป็นเพราะ มติจากสภาประชาชนจีนเมื่อสิ้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ขั้นตอนการคัดเลือก “ผู้ว่าการฮ่องกง” จะเห็นว่า เลือกให้ตายยังไง รัฐบาลที่ปักกิ่งก็จะคัดเลือกให้เหลือ 23 คน โดยประชาชนฮ่องกง ก็ต้องเลือกเอาจาก 2-3 คนนี้ละ


Q : เรื่องแค่นี้ ออกมาชุมนุมกันตั้งเยอะเลยเรอะ?
A : จริงๆแล้ว เรื่องนี้ จะว่าไปก็เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย (คล้ายนิรโทษกรรมเหมาเข่งบ้านเรานั้นล่ะ) เพราะความไม่พอใจของกลุ่มคนบางกลุ่มต่อจีนนั้นมีมาค่อนข้างยาวนานทีเดียว

ต้องเล่าความหลังของฮ่องกงหน่อย จะได้เข้าใจเขามากขึ้น

ฮ่องกงที่เรารู้จักในปัจจุบันถือกำเนิดขึ้นในสมัยที่ราชวงศ์ชิงของจีน ซึ่งแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งแรกเมื่อปี 1842 จึงเป็นเหตุให้อังกฤษเข้ายึดครองเกาะฮ่องกง ตอนนั้น อังกฤษขอเช่าฮ่องกงจากจีน เป็นเวลา 99 ปี โดยกำหนดวันหมดสัญญาไว้วันที่ 30 มิถุนายน 1997 ที่ผ่านมา แล้วก็คืนให้แก่จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ไปเรียบร้อย และในปีเดียวกันนั้น วันที่ 26 กันยายน ผู้นำทั้งสองจึงเปิดเจรจาอีกครั้งและลงนามในสัญญา โดยมีสาระสำคัญว่า อังกฤษจะยอมส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน และจีนได้ให้สัญญาว่าจะยอมให้ฮ่องกง อยู่ในฐานะ "เขตปกครองตนเอง" ภายใน 50 ปี (จนไปถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2590) หลังจากนั้น ฮ่องกงจะเปลี่ยนไปปกครองแบบเมืองอื่น ๆ ของจีน
ในตอนนั้น อังกฤษ มีความพยายามในการต่อสัญญาเช่าเกาะฮ่องกงต่อจากจีน แต่ ติ้ง เสี่ยว ผิง ยืนยันเด็ดขาดว่า “No” และฮ่องกงต้องกลับคืนสู่แผ่นดินจีนตามกำหนดเวลา โดยผ่อนผันไม่ได้แม้แต่วันเดียว

ปัจจุบันจีนได้มอบหมายให้ นายตงจิ้นหวา ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฮ่องกง และจีนได้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้รัฐบาลปักกิ่งรับผิดชอบด้านกิจการต่างประเทศ การทหาร และความมั่งคงเท่านั้น ส่วนการบริหารยังคงให้อิสระแก่ชาวฮ่องกงเหมือนเดิม
สรุปคือ ตอนนี้ ฮ่องกง เป็นของจีน 100% นะครับ แต่ก็ให้สิทธิฮ่องกงในการบริหารตัวเองต่อไปโดยไม่ได้แทรกแซงอะไรเพิ่มเติมมาตลอด แต่คนฮ่องกงบางส่วนเอง กลับไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีน

Q : การกลับคืนสู่อ้อมออกของจีน ทำให้ฮ่องกงเสียอะไร?
A : ก่อนจะดูว่าฮ่องกงเสียอะไร ขอให้ไปดูก่อนว่า อังกฤษ เสียอะไร จากการไม่ได้เช่าเกาะต่อ
คุณรู้หรือไม่ ฮ่องกง (เขตปกครองพิเศษของจีน) เป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย และถือการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก เป็นแหล่งช็อปปิ้งที่สำคัญระดับโลก และเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค นั้นหมายความว่า ความมั่งคั่ง เงินที่สะพัดทั่วทั้งเกาะ นั้นล่ะครับ คือเค้กชิ้นใหญ่ที่จีนแย่งกับอังกฤษ
รูปนี้ ตลาดหุ้น Hang Seng ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก มีขนาดใหญ่กว่า Market Cap ของ SET Index ถึง 4 เท่าทีเดียว


Q : งั้นแสดงว่า อังกฤษ อาจอยู่เบื้องหลัง?
A : ตอบไม่ได้ครับ แต่หลายฝ่ายก็เดาว่าอย่างนั้น เพราะฮ่องกงนั้น เศรษฐกิจดีไม่มีปัญหา และผู้นำในการชุมนุมก็เป็นแค่เยาวชนอายุแค่ 15 ปี ที่ชุมนุมเรียกร้องมาแล้วเมื่อ 2 ปี จนกระทั่งตอนนี้อายุก็แค่ 17 ปี แถมเป็นม๊อบไฮโซด้วยนะ ใช้สัญลักษณ์การชุมนุมคือ เปิด Flash ไฟบนหน้าจอมือถือ Smartphone ตัวเองอีกต่างหาก หุหุ ดังนั้น ปัญหามันไม่ใช่เรื่องปากท้องอะไรซักกะหน่อย ... แต่อย่างว่านะครับ มนุษย์เรา เมื่อความต้องการขั้นพื้นฐานมันครบหมด เราก็ขยับความต้องการขึ้นไป นั้นคือสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการ ... คำว่า “อิสระภาพอย่างแท้จริง” นั้นเอง เพราะหากดูจากขั้นตอนการเลือกตั้งแล้ว เหมือนจีนจะไม่ให้อิสระภาพแบบประชาธิปไตยแก่ผู้ชุมนุมซักเท่าไหร่


Q : แล้วทำไม จีนไม่ยอมให้อิสระกับฮ่องกงไปละครับ เขาจะได้กลับบ้านกันไป
A : ง่ายอย่างนั้นก็ดีสินะ ย้อนไปดูประวัติศาสตร์จีนครับ
ระหว่างที่จีนกำลังอยู่ในกระบวนการสร้างชาติด้วยพรรคคอมมิวนิสต์นั้น ดินแดนที่อยู่บริเวณชายขอบรอบนอกของจีนกลับมีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่เป็นอิสระไปจากจีน ได้แก่ มองโกเลีย ซินเจียง ทิเบต และ ไต้หวัน และกลับคืนสู่การปกครองของจีนหลัง ค.ศ. 1945 แล้ว แต่ด้วยความที่ดินแดนเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างชาติของจีนในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดังนั้นทัศคติของคนในดินแดนเหล่านี้ ที่ไม่ได้มีความคิดแบบจีนแผ่นดินใหญ่ จึงทิ้งปมปัญหาให้กับจีนในการสร้างความเป็นเอกภาพแห่งชาติเรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน

อย่างมองโกเลีย ก่อนหน้านี้ก็ไปเข้ากับโซเวียต ก่อนได้รับการสถาปนาเป็นเขตปกครองตนเองเมื่อ ค.ศ. 1947 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงสถานะดังกล่าวภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงตอนนี้ ดังนั้น มันก็มีทั้งคนที่อยาดอยู่กับรัสเซียตอนนี้ ละคนที่รับได้กับการอยู่กับจีน

ส่วนซินเจียงเนี่ย ยิ่งชอบรัสเซียมากกว่าอีก มีทั้งสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างซินเจียงกับไซบีเรีย การทำสัญญาการค้า และการลดภาษีอากรทำให้สินค้าจากซินเจียงไปยังโซเวียตในสมัยนั้น จนจีนไม่ไหว ส่งทหารเข้ามาควบคุมซินเจียงในปี. 1946 และเมื่อถึงเดือนธันวาคม 1949 ซินเจียงก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากนั้นอีก 6 ปี ก็ได้มีสถานะเป็นเขตปกครองตนเองของสาธารณรัฐประชาชนจีนจนถึงปัจจุบัน
มองในมุมนี้ ก็เห็นกันนะครับ ถ้าจีนยอมอ่อนให้ขอต่อรองของผู้ชุมนุมฮ่องกงหนึ่งก้าว มันอาจจะแปลว่า เขตปกครองตนเองในดินแดนอื่น อาจเลียนแบบ และเริ่มเรียกร้องในสิ่งที่โหยหามานานก็เป็นได้ เป็นแบบนี้ จีนไม่มีทางยอมแน่นอน 100% ผมมั่นใจ


Q : จีนนี่ มีปัญหาเยอะเหมือนกันเนอะ?
A : ไม่ใช่เฉพาะปัญหาเรื่องดินแดนครับ จริงๆ กลุ่มชนชั้นนำในจีนก็มีทั้งฝ่ายซ้ายและขวา ฝ่ายขวาต้องการความก้าวหน้า ให้จีนได้มีอิสรภาพทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองควบคู่กันไป เลยคิดเปิดประเทศทำการค้าอย่างที่เห็น ส่วนฝ่ายซ้ายต้องการอนุรักษ์ของเก่าไว้ ไม่ต้องการถูกทุนนิยมกลืน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ สี จิ้งผิง ท่านผู้นำ ตัวแทนฝ่ายขวา ที่ต้องพิสูจน์ คือ มีการปราบคอร์รัปชั่นทั้งแผ่นดินจีน เพื่อแสดงให้เห็นว่า แนวคิดฝ่ายซ้ายนั้น มันจูงใจให้ผู้มีอำนาจโกง และแสวงหาประโยชน์เข้าตัวเอง (มากเกินไป)

ทำแบบนี้ มันก็ไปกระเทือนถึงกลุ่มของป๋อ ซีไหล ที่เพิ่งถูกขับออกจากเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งนครฉงชิ่ง และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปีที่แล้วขอหารับสินบน โดยว่ากันว่า คดีนี้เกิดจากการแย่งชิงเก้าอี้กันในพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างที่บอก

รับทั้งศึกใน ศึกนอกนะครับ ไม่ง่ายๆ


Q : กลับมาที่ม็อบ งั้นก็เอาทหารเข้าไปปราบม็อบเลยดิ ไวดี
A : จะปราบม๊อบ มีแค่ตำรวจครับ ฮ่องกงไม่มีทหาร โฮะๆ แต่ถึงมี ก็เชื่อว่า จีนไม่กล้าทำแน่นอนอีกเช่นกัน สาเหตุเป็นเพราะ พี่จีนน่าจะได้เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ไทยกันไปบ้างแล้วว่า หากผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางมิชอบขึ้นมา ประชาชนจะลุกฮือขึ้นมามากเพียงไร เผลอๆ ทั้ง มองโกเลีย ซินเจียง ทิเบต และ ไต้หวัน อาจจะร่วมด้วย ยิ่งไปกันใหญ่นะครัชชช ดังนั้น ทางแก้ปัญหานี้ จึงแก้ด้วยวิธีการจัด “ม็อบชนม็อบ” 555+ (ฝ่ายต่อต้านการชุมนุม VS. ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ)


Q : เอา คห.ส่วนตัวของเฮีย ... เฮียเชื่อว่ามีคนอยู่เบื้องหลังม็อบไหม?
A : ม็อบทุกม็อบ ผมว่ามีคนอยู่เบื้องหลังหมดละคับ อย่างประท้วงที่ฮ่องกงคราวนี้ ก็มีการเอาธงอังกฤษไปโบกสะบัดในพื้นที่การชุมนุม มีการเรียกร้องให้ต่อต้านรัฐบาลจีน และมีบางกลุ่มเรียกร้องให้อังกฤษกลับมาปกครองฮ่องกงอีกครั้งหนึ่ง (อ้าว เฮ้ยยยย ไหนบอกอยากได้ประชาธิปไตย)


Q : แล้วเหตุการณ์มันจะจบลงยังไง?
A : ผมเชื่อว่าทุกเหตุการณ์ จะจบได้ก็เมื่อผู้มีอำนาจตกลงกัน ถ้าไม่ยอมต้องลงกัน ปล่อยให้นองเลือด ระวังอเมริกาจะเข้ามายุ่งนะเออ... เชื่อว่า ชุมนุมยิ่งนานไป ยิ่งไม่เป็นผลดีกับทั้งฮ่องกงและจีนเอง ในด้านฮ่องกงนั้น ถนนย่านธุรกิจเงียบลงทันที มีเศรษฐกิจประเทศเป็นเดิมพัน ส่วนจีนเอง ถ้าปล่อยไว้นาน ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการความขัดแย้ง ดังนั้น เชื่อว่าน่าจะมีการตั้งโต๊ะเจรจา และยอมถอยคนละก้าว และจะก้าวแบบไหน ผมก็มองไม่ออกครับ เกินปัญญา

Q : ในแง่การลงทุนละ จะกระทบกับไทยเราไหม?
A : น่าจะกระทบกับผู้มีฐานะที่อยากไปซื้อกระเป๋า Brand name ดังๆในฮ่องกงมากกว่าคับ ส่วนในแง่เศรษฐกิจไทย อาจจะกระทบไม่เยอะอะไร แต่ในแง่ของ Sentiment ระยะสั้นนั้น ไม่มีใครเดาได้หรอกครับ อยู่ดีๆเกิดถนนนองเลือด Hang Seng ลบไปวันเดียว 5%-10% เมื่อนั้น ผมว่า มันก็อาจจะลากให้หุ้นทั้งภูมิภาคแดงกันหมดก็ได้ แต่ผมก็เชื่อว่า เวลานั้น คือเวลาที่เราได้ซื้อของถูกลง ดีซะอีก



ไปดูตลาดหุ้น Hang Seng ปิดเมื่อวันศุกร์ กลับบวกซะอีก แต่ถ้านับจากจุดสูงสุด นี่ก็ร่วงมาแล้วเกือบๆ 9% ในขณะที่ PE Ratio ก็หย่อนลงมาที่ 10.06 เท่า Dividend Yield เฉลี่ย 3.57% ใครสนใจของถูก ก็จ้องกันไว้นะครับ



------------------------------
โชคดีในการลงทุนครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่