คณะสถาปัตย์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับ การเคหะแห่งชาติ จัดอบรม เรื่อง การพัฒนาเมืองใหม่ ด้วยหลักการ “การเติบโตอย่างชาญฉลาด”



คณะสถาปัตยกรรมและผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ร่วมมือกับ การเคหะแห่งชาติ

ภายใต้ “โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนักพัฒนาเมือง” จัดบรรยายเรื่อง “การพัฒนาเมืองใหม่”

วิทยากรรับเชิญ คือ อาจารย์สำราญ มีสมจิตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารและพัฒนาเมือง

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และคณะทำงานสมาคมการผังเมืองไทย

และคณะทำงานSmart Growth Thailand  เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “การพัฒนาเมืองใหม่”

ด้วยหลักการ “การเติบโตอย่างชาญฉลาด”  (Smart Growth Principles) และ แนวความคิด “การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน” (TOD/TOC Concept)

โดยมีผู้นำชุมชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรของ อบต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าร่วมอบรมฯ

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 57 ณ ห้องประชุม BB202 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ


บทความโดย อาจารย์ สำราญ มีสมจิตร

อีเมล์ : samrahnm@yahoo.com



ในภาพ วิทยากร อ.สำราญ มีสมจิตร และผู้นำชุมชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บุคลากรของ อบต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและการผังเมือง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าร่วมอบรมฯ





เนื้อหาบรรยายประกอบด้วย

(1) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองใหม่

(2) แนวคิดและหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองใหม่

(3) แนวคิดการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Principles) และแนวความคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD/TOC)

(4) ระเบียบ กฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองใหม่

(5) การพัฒนาเมืองใหม่ยุคโลกาภิวัตน์


การพัฒนาเมืองใหม่ยุคโลกาภิวัตน์ คือ การพัฒนาย่านอยู่อาศัยที่ปรับตัวได้ดีต่อปัญหาเมืองร้อนและโลกร้อน



หลังจากที่ประเทศไทยได้พัฒนาเมืองมาระยะหนึ่งตลอดช่วง 100 ปีมานี้ ปรากฏว่าพื้นที่เมืองส่วนใหญ่เติบโตขึ้นแบบกระจัดกระจาย (Sprawl Community)

ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบไร้ทิศทางและรุกล้ำระบบนิเวศโดยรอบเมืองออกไปเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาทุกด้านทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ระยะเวลาเดินทางกับค่าครองชีพพลเมืองที่แพงขึ้นทุกที

จากการต้องเดินทางไกลมากขึ้นจากย่านที่พักอาศัยไปยังย่านอื่นๆ ของเมือง และแม้บางเมืองมีการเติบโตแบบเขตย่าน (Zoning)

แต่ก็ยังเป็นเขตย่านในแนวราบที่แผ่ขยายไปตามถนนสายหลักของเมือง (Ribbon-Strip Development) ทำให้รัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น

และหน่วยงานเกี่ยวข้องต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (Infrastructure) แผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ

ซึ่งไม่เท่าทันกับปัญหาร้อยแปดที่เกิดแบบสั่งสมและขัดแย้งส่งผลกระทบระหว่างกันของการใช้ประโยชน์แต่ละประเภท

ด้วยเหตุนี้ “วิทยาการปรับปรุงเมืองสมัยใหม่” (New Urbanism) จึงให้ความสำคัญกับการบูรณะย่านเมืองเก่าที่เสื่อมโทรม ไร้ระเบียบ

และการวางผังเมืองพื้นที่เมืองใหม่เชิงยุทธศาสตร์ด้วยหลักการการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Principles)

ที่มีเกณฑ์หลักและแนวทางการพัฒนาเมือง 10 ประการมาประยุกต์ใช้ในบริบทพื้นที่เมืองของไทย ประกอบด้วย

(1) หลักของการใช้ที่ดินแบบผสมผสาน (Mix Use)

(2) หลักของการสนับสนุนการออกแบบอาคารให้เกาะกลุ่มกันและใช้ประโยชน์อาคารด้วยการออกแบบ “อาคารกระชับ” (Compact Building Design)

(3) หลักของการสร้างโอกาสและทางเลือกของที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรทุกระดับรายได้

(4) หลักของการสนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างย่านและชุมชนด้วยการเดิน

(5) หลักของการสร้างเสริมชุมชนให้เป็นสถานที่พิเศษ (distinctive) และมีแรงดึงดูด (attractive) ด้วยความผูกพันกับสถานที่อย่างเข้มแข็ง

(6) หลักของการรักษาที่โล่ง พื้นที่การเกษตร พื้นที่ธรรมชาติที่งดงาม พื้นที่อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ และพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

(7) หลักของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและมุ่งการพัฒนาไปยังชุมชนที่มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอยู่แล้ว

(8) หลักของการจัดหาการเดินทางและการคมนาคมขนส่งที่หลากหลายทางเลือกในการสัญจร

(9) หลักของการสร้างระบบการตัดสินใจในการพัฒนาชุมชนที่คาดการณ์ได้ ชัดเจน ยุติธรรม และมีประสิทธิภาพด้านต้นทุน และ

(10) หลักของการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและส่งเสริมประสานร่วมมือกันระหว่างชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย




ในหลักการ 10 ประการข้างต้นนี้ จะมุ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการวางแผนและออกแบบชุมชนเมืองภายใต้บริบทความเป็นเมืองของไทย

โดยมุ่งเน้นไปที่การวางแผนและพัฒนาพื้นที่ที่เป็น พื้นที่รอบสถานีขนส่ง (Transit-Oriented Development: TOD) เพื่อจัดระเบียบเมืองใหม่

โดยเฉพาะการวางผังระบบโครงข่ายเชื่อมโยงการสัญจรของพลเมืองแบบการสัญจรหลากทางเลือก พร้อมทั้งวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน

แบบเข้มข้นในแนวดิ่งด้วยการพัฒนาพื้นที่โดยรอบฯ  ให้เป็น “เมืองกระชับ”  (Compact City) บนการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน

ทั้งผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผสมผสานการใช้ประโยชน์อาคาร และผสมผสานชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิด

การพึ่งพาแรงงานและเศรษฐกิจชุมชนเมืองระหว่างกัน ประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดจะทำให้ระยะทางการสัญจรในชีวิตประจำวันสั้นที่สุด

(เพราะอยู่ในรัศมีของระยะการเดิน/ปั่นจักรยาน และระยะการเชื่อมต่อกับระบบสถานีขนส่งมวลชนที่สะดวกคล่องตัวอย่างมีประสิทธิภาพ)

ดังนั้น การพัฒนาเชิงกลยุทธ์ TOD นี้จึงเป็นนวัตกรรมทางการผังเมืองเชิงรุกที่แก้ปัญหาของเมืองได้ทุกมิติอย่างรอบด้าน

เท่าทันกับปัญหาความสิ้นเปลืองพลังงาน ค่าครองชีพที่รัดตัว ที่ดินที่มีราคาแพง ภาวะเมืองร้อนและโลกร้อน โดยกลยุทธ์ TOD

ทำให้เกิดการอยู่อาศัยและการมีแหล่งงานอยู่เป็นโซนนิ่งแนวดิ่งภายในกลุ่มอาคารสูงในย่าน TOD จึงเสริมคุณค่าของพื้นที่เมืองและ

เพิ่มคุณภาพชีวิตพลเมืองให้เกิดความน่าอยู่ น่าเที่ยว และเกิดประสิทธิภาพในทุกทางได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม



ทั้งหมดนี้ จึงเป็นระบบและกระบวนการสร้างและพัฒนาพื้นที่เมืองให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่และมีคุณภาพสูงในการใช้ชีวิตประจำวันในเมือง

จนสามารถกลายเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ตอบสนองความต้องการ ฝ่าขีดจำกัดนานาประการ และแก้ปัญหาเมืองแบบรอบด้านได้อย่างมีแบบแผน

มีทิศทาง และมีคุ้มค่าสูงในทุกมิติ โดยกลายเป็น “ชุมชนโดยรอบสถานีขนส่งมวลชน” (Transit-Oriented Community) ที่มีพัฒนาการเชิงบวก

แตกต่างอย่างสูงกับชุมชนเมืองย่านอื่นๆ นั่นเอง

ทั้งนี้ เท่ากับจะทำให้เกิดการบูรณะเมืองขึ้นใหม่ในย่านเมืองเก่า และเกิดการวางผังพื้นที่แบบเมืองกระชับในย่านใหม่ๆ นอกเมืองแบบไม่กระจัดกระจายอีกต่อไป

นั่นคือ การมุ่งไปที่การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ที่ดินโดยรอบสถานีขนส่งที่วางตัวเรียงกันเป็นระบบโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพ

อันหมายถึงสถานีขนส่งคน (ไม่ใช่สถานีขนส่งสินค้า) ซึ่งได้แก่ พื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย

ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในภาคมหานครกรุงเทพ (BMR) ที่มีแผนจะแล้วเสร็จครบ 10 สาย ในปี พ.ศ.2562 หรืออีก 5 ปีข้างหน้านี้


โดยที่พื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายของภาคมหานคร (BMR) จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2562

หรืออีก 5 ปีข้างหน้านี้ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญและเร่งวางแผนและผัง TOD เพื่อเปลี่ยนสภาพเมืองให้เป็นแบบกระชับ

ไม่เติบโตแบบกระจัดกระจายอีกต่อไป


กลยุทธ์การพัฒนาเมืองแบบ TOD จะทำให้เกิดการอยู่อาศัยและการมีแหล่งงานอยู่เป็นโซนนิ่งแนวดิ่งทั้งระหว่างและภายในกลุ่มอาคารสูง

หลังการปรับปรุงเมืองจึงได้ย่านพื้นที่เมืองที่เพิ่มคุณภาพชีวิตพลเมืองให้เกิดความน่าอยู่ น่าเที่ยว และเกิดประสิทธิภาพ

ในการใช้ชีวิตประจำวันในเมืองมากขึ้นกว่าที่เป็นมา กลายเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ตอบสนองความต้องการ ฝ่าขีดจำกัดนานาประการ

และแก้ปัญหาเมืองแบบรอบด้านได้อย่างมีแบบแผน มีทิศทาง และคุ้มค่าสูงในทุกมิติ โดยกลายเป็น “ชุมชนโดยรอบสถานีขนส่งมวลชน”

(Transit-Oriented Community) ที่มีพัฒนาการเชิงบวกแตกต่างอย่างสูงกับชุมชนเมืองย่านอื่นๆ



ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด) เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ http://www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้ (เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลก เค้าไปถึงไหนกันแล้ว http://www.oknation.net/blog/smartgrowth
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่