ภาพจีนโบราณ

ภาพ มีชื่อว่า “เหรินอู้อี้ว์หลง(人物御龙)” หรือ “คนขี่มังกร” ที่นำมาให้ชมนี้
เป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับในแวดวงศิลปะจีนว่าเป็นหนึ่งในภาพทรงคุณค่าและอาจเรียกได้ว่าเป็นจิตรกรรมชิ้นแรกๆ
ในประวัติศาสตร์ชาติจีนที่ถูกค้นพบผลงานชิ้นนี้ ถูกขุดพบภายในสุสานของรัฐฉู่ ในเมืองฉังซา มณฑลหูหนาน เมื่อปี 1973
แม้จะไม่อาจทราบได้ว่าเป็นภาพของจิตรกรคนใด แต่จากรูปแบบ ลักษณะ และวิธีการสร้างงาน คล้ายคลึงกับภาพ “หลงเฟิ่งซื่อหนี่ว์(龙凤仕女)” หรือ “มังกร หงส์ และหญิงสาว” ซึ่งถูกค้นพบก่อนหน้านั้นในปี 1949 ที่บริเวณใกล้เคียงกัน ทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าทั้งสองภาพเป็นภาพชุดเดียวกัน และน่าจะวาดขึ้นในสมัยจั้นกั๋ว(403 – 221 ปีก่อนคริสตกาล) ปัจจุบันทั้งสองภาพถูกเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์หูหนาน ประเทศจีน

ภาพ คนขี่มังกร อาจเรียกได้ว่าเป็นจิตรกรรมชิ้นแรกๆ ในประวัติศาสตร์ชาติจีนที่ถูกค้นพบ โดยรูปแบบเป็นการวาดภาพลงบนผืนผ้าไหม รายละเอียดของภาพประกอบด้วยบุคคลซึ่งเป็นชายไว้หนวด สวมใส่อาภรณ์ยาว เหน็บกระบี่ที่เอว ในมือถือเชือกบังเหียน ยืนหยัดอยู่บนเรือมังกรขนาดใหญ่ ศีรษะมังกรแหงนเงยสูง ขณะที่ร่างมังกรกลายเป็นนาวา ปลายหางมีนกกระสาเกาะอยู่ เหนือบุคคลขึ้นไปยังมีผ้าคลุมอีกหนึ่งผืน ซึ่งหากสังเกตโดยละเอียดจะพบว่าขณะที่บุคคลและมังกรมุ่งหน้าไปทางซ้าย สายลมด้านบนกลับพัดริบบิ้นบนผ้าคลุมไปทางขวา เน้นย้ำให้รู้สึกถึงความแข็งแกร่งของผู้ที่ควบขับเรือมังกรต้านกระแสลมไปข้างหน้า


“เหรินอู้อี้ว์หลง(人物御龙)” หรือ “คนขี่มังกร” สมัยจั้นกั๋ว(สงครามระหว่างรัฐ)
ขนาด 37.5×28 ซ.ม. ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หูหนาน ประเทศจีน

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้




ภาพ “อู่หนิว(五牛)” หรือ “วัวห้าตัว” นั้นถือว่าเป็นภาพวาดบนกระดาษชิ้นเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบอยู่ในปัจจุบัน โดยในภาพประกอบด้วยวัว 5 ตัวในอากัปกิริยาที่แตกต่างกัน หนึ่งนั้นกำลังกินหญ้า หนึ่งนั้นแหงนเงยหัวขึ้นสูง หนึ่งนั้นหันมองตรงมาเบื้องหน้า หนึ่งนั้นเอี้ยวคอแลบลิ้น ส่วนอีกหนึ่งนั้นดุ่มเดินต่อไป โดยในภาพนอกจากเหล่าวัวและต้นไม้ต้นน้อยหนึ่งต้นแล้วก็มิมีอื่นใด ทำให้จุดเด่นของภาพจึงตกอยู่ที่วัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งในความแตกต่างของรูปลักษณ์เหล่านั้น จิตรกรสามารถสะท้อนอุปนิสัยเฉพาะตัวของวัวแต่ละตัวออกมาได้อย่างมีรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นความขี้เล่น เคร่งขรึม ขี้โวยวาย ขี้ขลาด หรือดื้อรั้น เป็นต้น โดยใช้ลักษณะของฝีพู่กัน บาง หนัก เข้ม อ่อน รวมทั้งความเร็วช้าในการตวัดฝีแปรงในการเน้นย้ำความแข็งแกร่ง มีพลังของวัวได้อย่างเสมอเหมือนจริง แสดงให้เห็นว่าจิตรกรมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องวัวในระดับปรมาจารย์ แม้ว่าลายเส้นของภาพจะดูเรียบง่าย แต่ก็สะท้อนมัดกล้ามแต่ละมัด โครงกระดูกแต่ละส่วน สีหน้า แววตา ของวัวออกมาได้อย่างน่ายกย่อง โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เกษตรกรรมเป็นใหญ่ ภาพวัวนั้นถือว่ามีความหมายอย่างยิ่ง  โดยภาพวัวห้าตัว ของหานห่วง ภาพนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 10 ภาพอันทรงคุณค่าที่สุดในประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย

หาน ห่วง จิตรกรผู้วาดภาพวัวห้าตัว มีชีวิตอยู่ในราชวงศ์ถัง ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าถังเสวียนจงถึงรัชสมัยของพระเจ้าถังเต๋อจง รวม 4 แผ่นดิน( ค.ศ. 723-787) หานห่วง เป็นชาวเมืองฉังอาน(ปัจจุบันคือซีอาน) เคยรับราชการในราชสำนัก ถนัดการวาดภาพบุคคลและภาพสัตว์

มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่ง จิตรกร หาน ห่วง พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวาดภาพกับมิตรสหาย สหายผู้หนึ่ง ถามขึ้นว่า “เอ่ยถึงการวาดภาพ ลา วัว และม้า ในแวดวงจิตรกรรมล้วนพูดตรงกันว่าวาดยาก ไม่ทราบท่านมีความเห็นเช่นไร?”

หาน ห่วง ตอบว่า “คำกล่าวนี้มีเหตุผล เพราะวัว ม้า ลา เป็นสัตว์ที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หากวาดผิดพลาด ย่อมถูกดูออกได้โดยง่าย ดังนั้นจิตรกรส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยนิยมวาด” จากนั้นหยุดไปครู่หนึ่ง จึงกล่าวต่อว่า “แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า นับแต่โบราณกาลมา เกษตรกรรมคืองานพื้นฐานของใต้หล้า ส่วนวัวควายไถนา ก็เป็นสมบัติล้ำค่าของเกษตรกร ขอเพียงจิตรกรใช้ใจพิเคราะห์รายละเอียดอย่างถี่ถ้วน เชื่อว่าจะวาดภาพวัว ม้า ลา ออกมาได้ดีเอง”

เมื่อสหายได้ฟังดังนั้นก็ชื่นชมในวิสัยทัศน์ของจิตรกรเอกผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง

วันหนึ่ง  หาน ห่วง นำผู้ติดตามเดินทางไปที่ท้องนา ชมดูวัวควายไถนาในอากาศอบอุ่นจากลมฤดูใบไม้ผลิ แว่วเสียงคนเลี้ยงสัตว์เป่าขลุ่ยอยู่บนหลังวัว ไกลออกไป พบวัวในอิริยาบถต่างๆ กันทั่วท้องนา ยามนั้นหาน ห่วง ชมดูจนเกิดความรู้สึกพิเศษ รีบสั่งในผู้ติดตามนำกระดาษวาดภาพขึ้นมา จากนั้นเขาลงมือร่างภาพวัวเหล่านั้นไว้อย่างรวดเร็ว หลังจากผ่านการแก้ไขและลงรายละเอียดราว 1 เดือน สุดท้ายจึงออกมาเป็นผลงานค่าควรเมืองที่มีชื่อว่า อู่หนิว(五牛) ชิ้นนี้




เจ้าเยี่ยไป๋(照夜白)” ซึ่งแปลว่า ส่องให้ราตรีสว่าง หนึ่งในภาพม้าที่มีชื่อเสียงที่สุดของ หาน ก้าน
รูปแบบม้วนภาพขนาด 30.8 x 33.5 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน สหรัฐอเมริกา

“เจ้าเยี่ยไป๋(照夜白)” ซึ่งแปลว่า ส่องให้ราตรีสว่าง เป็นหนึ่งในภาพม้าที่มีชื่อเสียงที่สุดของ หาน ก้าน รูปแบบม้วนภาพขนาด 30.8 x 33.5 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (The Metropolitan Museum of Art) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ว่ากันว่าภาพนี้เป็นภาพอาชาที่ฮ่องเต้ถังเสวียนจงโปรนปราน โดยในภาพ ม้าสีขาวปลอดถูกพัธนาการอยู่กับหลัก แต่ยังคงอ้าปากร้อง พร้อมทั้งแสดงอากัปกริยาที่พร้อมจะห้อตะบึง เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ซึ่งจากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ พบว่าภาพนี้ ส่วนหัว คอ ลำตัวด้านหน้าของม้านั้นเป็นงานที่เขียนขึ้นโดยหาน ก้าน เฉพาะส่วนบั้นท้ายน่าจะเป็นการต่อเติมเข้าไปโดยชนรุ่นหลัง โดยในภาพมีลายพระหัตถ์ของ หลี่อี้ว์ เจ้าครองแคว้นหนานถัง(ถังใต้) จารึกไว้ว่า “หานก้านเจ้าเยี่ยไป๋(韩干照夜白)”

ค.ศ. 1930 ภาพวาดที่มีค่าควรเมืองชิ้นนี้ เล็ดรอดออกจาก พิพิธภัณฑ์พระราชวังปักกิ่ง(กู้กง) ไปตกอยู่ในครอบครองของจิตรกรและนักเขียนอักษรจีนนาม ผู่ ซินอี๋ว์ ซึ่งเป็นญาติของ ผู่ อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของแผ่นดินจีน จากนั้นถูกขายต่อให้กับนักสะสมชาวอังกฤษ ต่อมาถูกผ่านมือไปถึงนักสะสมชาวญี่ปุ่น ก่อนที่สมบัติของแผ่นดินจีนชิ้นนี้จะไปอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน สหรัฐอเมริกา จวบจนปัจจุบัน



“มู่หม่า(牧马)” หรือ เลี้ยงม้า ภาพวาดบนผ้าไหม ขนาด 27.5 x 34.1 เซนติเมตร
ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม(กู้กง)ไต้หวัน

ส่วนผลงานเลื่องชื่ออีกชิ้นหนึ่งของ หาน ก้าน มีชื่อว่า “มู่หม่า(牧马)” หรือการเลี้ยงม้า ภาพวาดบนผ้าไหม ขนาด 27.5 x 34.1 เซนติเมตร เป็นภาพม้าคู่สีขาวและดำ ลักษณะพ่วงพีองอาจ บนหลังมีชายผู้หนึ่งพร้อมอุปกรณ์ควบคุมบังคับม้าครบครัน บ่งบอกความเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลม้า ซึ่งมีความถนัดในการขี่ม้าล่าสัตว์ จึงสามารถควบคุมม้า 2 ตัวได้ในคราวเดียว

ภาพวาดม้าสีดำเด่นชัด ขณะที่ม้าสีขาวอาศัยประโยชน์จากเส้นแสงเงาของม้าสีดำ ขับเน้นให้โดดเด่นออกไป ภาพนี้เคยเป็นสมบัติในราชสำนักหนานถัง(ถังใต้) ราชสำนักซ่ง สมัย ฮ่องเต้ซ่งฮุยจง ซึ่งบนภาพ ปรากฏลายพระหัตถ์ระบุว่า “หานก้านเจินจี้(韩斡真迹)” ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม(กู้กง)ไต้หวัน


“หยังกุ้ยเฟยซั่งหม่า” หรือ “พระสนมหยังกุ้ยเฟยขี่ม้า” (ภาพบางส่วน) วาดโดย “เฉียน เสวี่ยน” ในสมัยราชวงศ์หยวน ขนาด 29.5×117 ซม.
ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ หอศิลปะเฟรียร์ สถาบันสมิธโซเนียน(Freer Gallery of Art, Smithsonian Institution) กรุงวอชิงตันดีซี


ภาพโบราณที่นำมาให้ชมกันในวันนี้ มีชื่อว่า “หยังกุ้ยเฟยซั่งหม่า(杨贵妃上马)” หรือ
“พระสนมหยังกุ้ยเฟยขี่ม้า” วาดโดย “เฉียน เสวี่ยน” ในสมัยราชวงศ์หยวน
ทั้งนี้ราชวงศ์หยวน(ค.ศ.1280-1368) ปกครองโดยชนเผ่ามองโกล ซึ่งผู้ปกครองถนัดการขี่ม้าล่าสัตว์ ไม่มีความสนใจในศิลปะเท่าใดนัก วงการศิลปะจึงถูกละเลย หากจะมีบ้างจิตรกรรมในยุคนี้ก็มักเน้นแนวทางสัจนิยม ภาพเสมือนจริง ที่มีสีสันจัดจ้านเนื่องเพราะตอบสนองต่อรสนิยมของชนชาติมองโกลได้ดีกว่า ส่วนศิลปินชาวฮั่นจากรัชกาลก่อนที่ไม่ยอมจำนนต่อชาวมองโกล ก็นิยมวาดภาพเพื่อหวนรำลึกถึงความเจริญในอดีต อาทิความเจริญในสมัยถัง ดังเช่นภาพที่นำมาให้ชมกันในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน จิตรกรวาดขึ้นเพื่อแสดงออกว่าโหยหาความรุ่งเรืองในสมัยถัง โดยในภาพเป็นเหตุการณ์ที่องค์จักรพรรดิ ถังเสวียนจงและพระสนมเอกหยัง กุ้ยเฟย ไปขี่มาล่าสัตว์ท่องชมวนอุทยานด้วยกัน

หยัง กุ้ยเฟย หรือพระสนมหยัง อี้ว์หวน คือนามของสนมเอกผู้เลอโฉมแห่งราชวงศ์ถัง หนึ่งในสี่สาวงามของแผ่นดินจีนผู้เขย่าบัลลังก์มังกร ถูกขนานนามร่วมกับ ไซซี, หวัง เจาจวิน และ เตียวเสี้ยน ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่านางเป็นหญิงสาวที่มีอิทธิพลต่อการเมืองในช่วงปลายราชวงศ์ถังอย่างยิ่ง เนื่องเพราะองค์จักรพรรดิถังเสวียนจงลุ่มหลงต่อนางจนละเลยราชกิจ เป็นเหตุให้เสนาบดี หยัง กั๋วจง ญาติผู้พี่ของพระสนมหยาง กุ้ยเฟย เข้ากุมอำนาจ กระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง ถืออำนาจบาตรใหญ่จนบ้านเมืองตกต่ำถึงขีดสุด เป็นข้ออ้างให้เสนาบดีอัน ลู่ซานก่อกบฏ ยกกำลังเข้าบุกนครหลวง ในปีค.ศ.756 องค์จักรพรรดิถังเสวียนจงจึงพาหยัง กุ้ยเฟยเดินทางลี้ภัยไปยังซื่อชวน(เสฉวน) ทว่าระหว่างทางเหล่าทหารที่โกรธแค้นพากันจับตัวหยังกั๋วจงสังหาร จากนั้นบีบให้องค์จักรพรรดิสังหารพระสนมหยัง กุ้ยเฟย ด้วย ในที่สุดยอดหญิงงามแห่งแผ่นดินจึงถูกบังคับให้ผูกคอตาย จบชีวิตอยู่ ณ เนินหม่าเหวย(ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลส่านซี) ส่วนการก่อกบฏครั้งนั้น สุดท้ายถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จ แต่ความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากการกบฏเป็นเหตุให้ยุคทองของราชวงศ์ถังค่อยๆ ดับวูบลง อย่างไม่อาจฟื้นคืน


ภาพนี้เป็นหนึ่งใน 10 ภาพชุด “เหรินอู้กู้ซื่อ” หรือ “ภาพบุคคล” วาดโดย “ฉิว อิง” สมัยราชวงศ์หมิง ขนาด 41.4×33.8ซม.
ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามกู้กง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน


ภาพที่นำมานี้ เป็นหนึ่งในชุด ภาพบุคคล ของจิตรกรนาม ฉิว อิง ซึ่งมีทั้งหมด 10 ภาพด้วยกัน โดยเนื้อหาของภาพเป็นการรวบรวมบุคคลสำคัญจากเรื่องราวและตำนานในประวัติศาสตร์ อาทิ นักปราชญ์ นักกวี นักดนตรี วีรบุรุษ และหญิงงาม แม้ว่างานในรูปแบบเดียวกันนี้มักจะถูกหยิบยกมาวาดโดยจิตรกรหลายยุคหลายสมัย แต่งานของฉิว อิง ที่กลายเป็นมรดกของชาติชิ้นนี้ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยแนวทางการวาด ฝีแปรง และเทคนิคพิเศษอย่างมีเอกลักษณ์ โดยภาพวาดของฉิว อิง จะมีลักษณะเรียบร้อย นุ่มนวล มีระเบียบแบบแผน และมีความละเอียดในการใช้สีสัน ถนัดการใช้สีเขียว-ฟ้า ซึ่งกลายเป็นแนวการลงสีสมัยใหม่ยุคราชวงศ์หมิง

ภาพชุดบุคคล เป็นหนึ่งในสุดยอดผลงานของฉิว อิง กริยาท่าทางของบุคคลในภาพลึกซึ้งละเอียดอ่อนสวยงาม สิ่งก่อสร้างมีเส้นสายที่เป็นระเบียบ ฝีแปรงเคลื่อนไหวอิสระแฝงความเด็ดขาด แต่นุ่มนวล และสง่างาม สีสันสอดคล้องกลมกลืนไปทั้งภาพ ผลงานภาพบุคคลชุดนี้ ไม่เพียงใส่ใจในรายละเอียดของทุกกิจกรรมของบุคคลในภาพ แต่ใส่ใจไปถึงรายละเอียดของเฉดสีสิ่งแวดล้อมภายในภาพทั้งหมด ซึ่งสะท้อนสุนทรียรสของภาพออกมาได้เป็นอย่างดี


ผลงานภาพ “ชุนกงฮว่า” ของ ฉิว อิง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่