มาแล้ว "กล่องช่อง 3" ตั้งเป้ายอดขาย 1 ล้านกล่องภายใน 1 ปี >> ช่อง 3 จะขายกล่องดาวเทียม? อะไรยังไงกันแน่?

แหล่งข่าว นสพ. คม ชัด ลึก วันที่ 21 พ.ค. 57 >> เพิ่งอ่านเจอข่าวนี้ หรือนี่จะเป็นอาวุธลับของช่อง 3 กับปัญหาจอดำ ??

"กล่องเต็มบ้าน จานเต็มหลังคา" อีกตามเคย เมื่อช่อง 3 เตรียมขาย "กล่องรับสัญญาณดาวเทียม" ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาชื่อกล่อง โดยอาจใช้ชื่อ "เซิร์ช" หรือ "แฟนคลับ บ็อกซ์"

          หลายคนคาดหวังว่า เมื่อช่องทีวีดิจิทัลออกอากาศเต็มรูปแบบ กล่องดาวเทียมก็จะถูกแทนที่ด้วย "กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล" แต่คาดการณ์ผิด กล่องดาวเทียมขายดีขึ้น เพราะได้คอนเทนท์ใหม่เป็น "ช่องทีวีดิจิทัล" ตามกฎมัสต์แครี่    

          ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายไร้สาย (ผ่านดาวเทียม) 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ไทย แซทเทิลไลท์ ทีวี จำกัด 2.บริษัท แชมป์ ไอ.ที. โมบาย จำกัด 3.บริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 4.บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด และ 5.บริษัท ดราโก้ 2009 จำกัด

          นอกจากนี้ กสท.อนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.ช่องรายการ Movie Zone ของบริษัท กานต์มณี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 2.ช่องรายการ เกรซ ทีวี (Grace TV) ของบริษัท บุญรักษา มหาโชค จำกัด 3.ช่องรายการ Asian film ของบริษัท พีไฟว์ทีวี แอนด์ โปรดักชั่น จำกัด

          ที่น่าสนใจคือ บริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัทลูกของช่อง 3 ได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายไร้สาย (ผ่านดาวเทียม)

          วิบูลย์ ลีรัตนขจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า การขออนุญาตบริการโครงข่ายดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนการขยายธุรกิจบรอดแคสติ้งครบวงจรของเซิร์ช หลังจากเป็นผู้ผลิตรายการกลุ่มข่าวและบันเทิงป้อนให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มากว่า 9 ปี

          ช่วงต้นปีนี้ได้จัดตั้งบริษัท วีเอวี จำกัด เพื่อบริหารสำนักข่าวต้นชั่วโมงท็อปนิวส์ (Top News) ป้อนช่องทีวีดาวเทียมที่ออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน

          สำหรับการบริหารโครงข่ายดาวเทียมภายใต้ไลเซนส์ กสทช. เบื้องต้นวางแผนให้บริการช่องทีวีดิจิทัล ฟรีทีวีอนาล็อก ช่อง 3 และช่องเคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียมในกลุ่มเซิร์ช พร้อมพันธมิตร รวมประมาณ 50 ช่อง โดยดำเนินการจัดเรียงช่องตามประกาศมัสต์แคร์รี่ ของ กสทช. ที่กำหนดให้ช่องทีวีดิจิทัลอยู่ที่หมายเลข 1-36

          ด้วยเหตุนี้ "วิบูลย์" จึงเตรียมขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของโครงข่าย และได้ติดต่อพันธมิตรผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อผลิตให้บริษัทเรียบร้อยแล้ว โดยชูจุดแข็งกลยุทธ์ราคาถูกที่สุด ในตลาดกล่องรุ่นเอส 2 วางเป้าหมายยอดขายปีแรก 1 ล้านกล่อง

          "วิบูลย์" มั่นใจว่า จะเป็นแพลตฟอร์มที่มียอดขายเติบโตทุกปี จากจุดเด่นทั้งช่องทีวีดิจิทัล ช่องฟรีทีวี อนาล็อก และทีวีดาวเทียม

          ภายใต้แผนการบริหารโครงข่ายดาวเทียมดังกล่าว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการออกอากาศช่องทีวีดาวเทียมของกลุ่มเซิร์ชและพันธมิตร ซึ่งวางเป้าหมายเปิดตัวช่องใหม่อีกราว 10 ช่อง เช่น ช่องข่าวบันเทิง, ช่องครอบครัวข่าวประเทศไทย, ช่องมิตรทีวี เป็นต้น

          สงครามการตลาด "ขายกล่องดาวเทียม" คงคึกคักขึ้น เมื่อช่อง 3 ลงมาลุยตลาดขายกล่อง ขายจาน แข่งกับผู้ประกอบการรายเดิมนับสิบราย

เครดิต [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่