ท่าทีที่ถูกต้องต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของชาวพุทธ



http://www.visalo.org/QA/index.htm
https://th-th.facebook.com/visalo


ปุจฉา    

กราบนมัสการครับ ท่านพระอาจารย์ไพศาล ผมมีงานประจำเกี่ยวกับทางด้านเทคโนโลยี่ซึ่งบางอย่าง
และหลาย ๆ ด้านมีความตรงกันข้ามกับงานอนุรักษ์ต่าง ๆ ที่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วม อาทิเช่น green peace และชมรมอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะของโลก


บ่อยครั้งผมมีความหดหูใจและท้อแท้ใจต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ และความรู้สึกนั้นยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณจนเกิดเป็นทุกข์
มีความรู้สึกเกลียดเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน มัวแต่หาความสุขไปวัน ๆ โดยไม่สนใจที่จะร่วมแก้ปัญหา


ทราบว่าท่านเคยเป็น NGO เก่าก่อนที่จะมาครองสมณเพศ ผมกราบขอคำแนะนำด้วยครับว่าควรจะทำอย่างไร
พระส่วนใหญ่จะแนะนำให้ปล่อยวางครับ แต่ผมว่าไม่ถูกต้อง ถามคนรอบข้างก็บอกจะไปสนใจอะไรกับสิ่งต่าง ๆ มาก เพราะก็คงทำอะไรมากไม่ได้



วิสัชนา

มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเป็นพระหรือฆราวาส ควรสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ หรืออย่างน้อยก็พึงมีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ
เมื่อเห็นธรรมชาติถูกทำลาย ก็ควรหาทางป้องกันและแก้ไข ขณะเดียวกันก็ควรดูแลให้เจริญงอกงาม
การทำเช่นนั้นถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ดังมีพุทธพจน์ว่า

“ชนเหล่าใดสร้างสวนปลูกป่า....บุญย่อมเจริญแก่ชนเหล่านั้น”

การดูแลและปกป้องธรรมชาติ ถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างหนึ่ง เป็นความดีที่พึงกระทำ
ขึ้นชื่อว่าความดีแล้ว พระพุทธองค์ทรงสอนว่าอย่าประมาทในความดีแม้เพียงเล็กน้อย เพราะความดีที่ทำแล้วไม่เกิดผล ย่อมไม่มี
ดังนั้นจึงขอให้คุณทำความดีดังกล่าวต่อไป อย่าท้อแท้

พึงตระหนักว่า การปล่อยวางนั้น ท่านหมายถึง  “การทำจิต”  ส่วน  “การทำกิจ”  นั้น ถ้าเป็นความดี ก็ควรทำไม่หยุด
พูดอีกอย่างคือ เมื่อทำดี ก็ควรทำเต็มที่ ด้วยใจที่ปล่อยวาง (คือปล่อยวางผล ผลจะออกมาอย่างไร ก็อย่าเพิ่งกังวล ขอให้ใส่ใจอยู่กับการกระทำนั้น ๆ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่