Fidelity กับ การเล่นแท็กลิสต์ top 10 บนเฟซบุ๊ค

กระทู้สนทนา
ช่วงนี้กระแสแท็กลิสต์รายการหนังสือโปรด เพลงโปรด หนังโปรด ในเฟซบุ๊คกำลังฮิต จะว่าไปในพันทิปเราก็มีกระทู้เล่นอะไรอย่างนี้มานานแล้ว เพียงแต่ว่าพอมาเล่นบนเฟซบุ๊ค ที่เราต่างเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงและต้องการแสดงออกถึงตัวตน รสนิยมของเรา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม
ทำให้กระแสนี้แพร่ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว พอได้อ่านบทความของคุณวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ อันนี้แล้วมันโดนใจมากมาย เลยเอามาแปะให้ชาวพันทิปได้อ่านกัน

Cr. สเตตัสเฟซบุ๊คของ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
https://www.facebook.com/theaestheticsofloneliness/posts/10152210110746534:0

----------------------------------------

อะไรมาก่อนกัน ระหว่างบทเพลงกับความเศร้า ?? ... ผมฟังเพลงเพราะว่าผมกำลังเศร้า หรือว่าที่ผมเศร้าอยู่นี่เป็นเพราะเพลงที่ผมฟัง . - จากหนัง High Fidelity (2000)

เห็นเพื่อนๆ กำลังฮิตส่งแท็กลิสต์หนังสือโปรด หนังเรื่องโปรด และเพลงโปรด ต่อมาก็ลามไปถึงการ์ตูนเรื่องโปรด ดาราเอวีคนโปรด ฯลฯ พอพูดถึงการจัดลิสต์สุดโปรดอะไรทำนองนี้ ก็ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่องนี้ของ สตีเฟ่น เฟรียส์ ที่สร้างจากนิยายของ นิค ฮอร์นบี

พระเอกของเรื่องชื่อร็อบ (จอห์น คูแซ็ค) มีเพื่อนคู่หูชื่อแบร์รี่ (แจ็ค แบล็ค) ร็อบเปิดร้านขายแผ่นเสียงเล็กๆ ที่ใกล้จะเจ๊งเต็มที โดยมีแบร์รี่เป็นลูกจ้างประจำร้าน พวกเขาหมกมุ่นกับเพลงป๊อปและร็อค มีความรู้และรสนิยมดี ถามถึงเพลงไหน วงอะไร ก็รู้จักหมด

ดังนั้น วันๆ นอกจากการเฝ้าร้านที่ไม่ค่อยมีลูกค้า พวกเขาก็นั่งคุยกันแต่เรื่องเพลง และจัดลิสต์ 5 อันดับเพลงสำหรับฟังในโอกาสต่างๆ เพื่อมาประชันขันแข่งกัน ว่าใครรสนิยมดีกว่ากัน โดยเรียกว่า Top Five List

ความหมกมุ่นการจัดอันดับเพลง ทำให้พวกเขาลามไปถึงการจัดอันดับให้กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต โดยเรียกว่า Top Five List of Everything จนถึงขั้นที่พระเอกเริ่มต้นเล่าเรื่องชีวิตรักของตัวเอง ผ่านการจัด 5 อันดับอกหักที่เจ็บที่สุดในชีวิต

Top Five List ที่สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง กลายเป็นกิมมิกน่ารักๆ ทำให้แฟนหนังสือของ นิค ฮอร์นบี และคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ได้ตลกขบขัน นอกจากนี้ ที่สำคัญคือมันเป็นโมทิฟสำคัญ ทำให้เราเข้าสู่ประเด็นที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้

High Fidelity ก็เหมือนกับหนังสือเรื่องอื่นๆ ของ นิค ฮอร์นบี มักจะเล่าเรื่องของผู้ชายที่ไม่รู้จักโต ต้องมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต
Fever Pitch คือเรื่องของชายหนุ่มคลั่งทีมฟุตบอลอาร์เซนอลจนแฟนสาวเอือมระอา ส่วน About a Boy ก็คือเรื่องของชายหนุ่มผู้ร่ำรวยโดยไม่ต้องทำงานทำการ ติดอยู่กับชีวิตอิสระเสรี แต่ลึกๆ นั้นเปล่าเปลี่ยว กล่าวโดยสรุปก็คือ สิ่งที่เป็นปัญหาใน Fever Pitch คือ Fandom ในขณะที่ About a Boy คือ Lifestyle & Leisure Time

ปัญหาของร็อบใน High Fidelity คือการไม่สามารถข้ามผ่านช่วงวัย จากวัยรุ่นที่คลั่งไคล้ดนตรี ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ แต่งงาน และมีครอบครัวกับสาวที่ตนรัก ประเด็นที่น่าสนใจคือ เพลงกลายเป็นปัญหาได้อย่างไร คำตอบนั้นจั่วอยู่ที่หัวบทความนี้ และก็เป็นคำพูดของร็อบในช่วงเปิดเรื่องในหนัง "อะไรมาก่อนกัน ระหว่างบทเพลงกับความเศร้า ?? ... ผมฟังเพลงเพราะว่าผมกำลังเศร้า หรือว่าผมรู้สึกเศร้าเพราะเพลงที่ผมฟัง"

ความหมกมุ่นในเรื่องเพลง ทำให้เขาสามารถนำเพลงมาอ้างอิงได้กับทุกเรื่อง ชีวิตของเขาเชื่อมกับโลกและผู้คนรอบตัวผ่านทางเพลง เขาทำความเข้าใจเรื่องความเศร้าโศก ความรัก ความสัมพันธ์ และความโรแมนติกต่างๆ ผ่านเพลงเหล่านั้น ซึ่งมันค่อยๆ ทำให้เขาถอยห่างออกจากความเป็นจริง

ในสายตาของแฟนเก่าทั้งห้าที่ทิ้งเขาไป ร็อบห่วยแตก เหมือนเด็กไม่รู้จักโต เห็นแก่ตัว สนใจแต่ตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คิดว่ารสนิยมการฟังเพลงจะทำให้เขาดูเจ๋ง และเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต

การเอาจริงเอาจังกับการประชันลิสต์เพลงกับแบร์รี่ สำหรับคนทั่วไป มันดูไร้สาระ แต่สำหรับร็อบและแบร์รี่ ลิสต์อันดับเพลงคือการสื่อสารตัวตนออกไปให้โลกภายนอกยอมรับ มันเป็นวิธีเดียวและวิธีสุดท้าย เท่าที่พวกเขาพอจะทำได้ เพื่อให้คนอื่นเข้าใจพวกเขา

การจัดลิสต์อันดับเพลง เป็นการแสดง Field of Experience โดยนำรสนิยมของตัวเองมาเป็นศูนย์กลาง กลั่นกรอง คัดเลือก และจัดอันดับเป็นลิสต์ แล้วนำมาทาบลงบน Field of Experience ของคนอื่น เพื่อหวังว่าจะมีใครที่ตรงกับพวกเขา และสามารถเข้าใจพวกเขาได้

แต่ละลิสต์ๆ ที่พวกเขาแสดงออก ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครเข้าใจ นอกจากพวกเขากันเองสองคน ยิ่งเวลาผ่านไป พวกเขายิ่งสื่อสารกับใครไม่ได้อีกเลย เหมือนกับแผ่นเสียงที่วางขายเต็มร้านของร็อบ ที่กำลังจะตกยุคสมัยไป

ถ้าเป็นช่วงวัยรุ่น คนอย่างร็อบและแบร์รี่นั้นเจ๋งสุดๆ เพราะรสนิยมต่อป๊อปคัลเจอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญ มันคือจุดเริ่มต้นในการก่อสร้างตัวตน เด็กวัยรุ่นชายที่เริ่มสนใจเพศตรงข้าม จะดึงดูดผู้หญิงให้มาปิ๊งได้อย่างไร คำตอบง่ายๆ คือการแสดงออกถึงรสนิยม และลิสต์เพลงเหล่านั้น คือรูปแบบหนึ่งของการเกี้ยวพาราสีผ่านการสื่อสารรสนิยม ระหว่างคนหนุ่มสาวในชนชั้นเดียวกัน

ร็อบเล่าถึงสาวที่เขารักที่สุดตลอดมา ลอร่า เขาได้ให้ของขวัญมหาอมตะนิรันดร์กาล คืออัดเพลงใส่เทปคาสเส็ทให้เธอ หรือที่เรียกว่า Mixtape (แบบเดียวกับในหนัง การ์เดี้ยน ออฟ เดอะ กาแลกซี่ นั่นแหละ)

คล้ายๆ กับลิสต์ 10 หนังสือที่ติดอยู่ในใจเรา ทำนองเดียวกันกับที่เรามักจะบอกว่า "ไม่ได้เรียงตามอันดับความชอบนะคะ" แต่ลึกๆ แล้ว ทั้ง 10 รายชื่อนั้น มีตำแหน่งแห่งที่เฉพาะเจาะจง

"คุณต้องเริ่มต้นจากเพลงที่เตะหูสุดๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เร่งเร้าขึ้น แต่ต้องอย่าเพิ่งไปถึงสุดๆ เพราะมันจะทำลายอารมณ์ของเพลงที่อยู่ท้ายๆ ไม่ควรมีเพลงจากศิลปินเดียวกันอยู่ติดกัน หรืออยู่ในหน้าเดียวกัน ไม่ควรมีเพลงของศิลปินผิวสีปนกับผิวขาว นอกจากศิลปินผิวขาวจะร้องเหมือนผิวสี ... และมันยังมีกฎอื่นๆ อีกหลายข้อ" ร็อบอธิบายวิธีอัดเพลงให้สาว

Mixtape คือขั้นสุดยอดของ Top Five List มันคือการสื่อสารความในใจทั้งหมด ควบแน่นอยู่ใน 10 เพลง บันทึกในเทปคาสเส็ท 2 หน้า มันคือการเกี่ยวพาราสี โดยที่เราไม่ต้องไปเผชิญหน้ากันจริงๆ เพราะความเขินอาย

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ในโลกของผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไป คนอย่างแบร์รี่อาจจะดูเจ๋งในสายตาของสาวๆ ลูกค้า แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขามีแฟนเป็นตัวเป็นตน เช่นเดียวกับร็อบ ที่ผิดหวังกับความรักมาครั้งแล้วครั้งเล่า ลิสต์นั้นแท้จริงแล้วเป็นแค่สิ่งชั่วคราว

การเสพป๊อปคัลเจอร์ การแสดงออกถึงรสนิยม เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนอสตัลเจีย และชีวิตในวัยเด็กไร้เดียงสา เหมือนตอนเป็นเด็กๆ ที่เราสะสมการ์ดดราก้อนบอล ตุ๊กตุ่นตุ๊กตา พอโตอีกหน่อยก็สะสมเทปเพลง แผ่นเสียง แผ่นดีวีดี หนังสือพอคเก็ตบุค แล้วก็งัดออกมาอวดกันที่สนามเด็กเล่นโรงเรียน

แต่จุดจบของวัยเด็กไร้เดียงสา นิค ฮอร์นบี สรุปเรื่อง High Fidelity ว่าคือการใช้ภูมิความรู้นั้นไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ร็อบกับลอร่าลงเอยกันได้ โดยลอร่าสนับสนุนให้ร็อบนำความเชี่ยวชาญเรื่องเพลง ไปทำงานเป็นดีเจเปิดเพลงในเธคยอดฮิต เขาสามารถแสดงออกผลงานสร้างสรรค์ให้คนอื่นมาชื่นชม ไม่ใช่เพียงแค่มานั่งลิสต์เพลงไปวันๆ เพื่อแข่งกับแบร์รี่กันอยู่สองคน

กระแสฮิตส่งแท็กลิสต์หนังสือโปรด หนังเรื่องโปรด และเพลงโปรด ทำให้ผมคิดว่าเฟซบุคก็เปรียบเหมือนร้านแผ่นเสียงของร็อบ และเรากำลังกลายเป็นร็อบและแบร์รี่ ที่สื่อสารรสนิยมออกไป เพื่อให้คนอื่นๆ เข้าใจตัวตนของเรา

คาดว่าอีกสักพัก ก็คงจะมีแท็กลิสต์อื่นๆ ตามมาอีกมากมาย การ์ตูนเรื่องโปรด ของเล่นชิ่นโปรด เรื่อยไปจนถึงดาราเอวีคนโปรด และบทความทั้งหมดนี้คือเหตุผล ว่าทำไมเราต้องทำลิสต์ของตัวเอง และแท็กไปให้คนอื่น


อะไรมาก่อนกัน ระหว่างตัวตนของเราหรือว่าลิสต์ของเรา ??
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่