ทำประกันอัคคีภัยอย่างรอบคอบ


วันนี้ Mr.Terra ขอนำเสนอ : การทำประกันอัคคีภัย


        บ้านหนึ่งหลังมาพร้อมความรับผิดชอบมากมาย นอกจากการดูแลทำความสะอาดแล้ว ความปลอดภัยของเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านรอบข้างก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง เพื่อตอบสนองความจำเป็นในจุดนี้ จึงมีการบังคับให้บ้านทุกหลังมีการทำประกันอัคคีภัย เพื่อคุ้มครองในด้านค่าใช้จ่าย เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ของบ้าน ที่โบราณกล่าวไว้ว่า “โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว”

        การทำประกันอัคคีภัย คือ การสร้างหลักประกันให้กับบ้าน แม้บ้านจะสูญหายและทรัพย์สินทุกสิ่งละลายไปกับกองไฟ แต่สุดท้ายเจ้าของบ้านก็จะยังมีทุนในการซ่อมแซมบ้านอีกด้วย แต่เวลาทำประกันอัคคีภัย เจ้าของบ้านมักทำเฉพาะตัวบ้านไม่ได้ครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินอื่นๆ ที่อยู่ในบ้าน ด้วย ทำให้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินอื่นๆ อย่างคาดไม่ถึง  เพื่อไม่ให้ภาระส่วนนี้ตกกับเจ้าของบ้านเป็นการซ้ำเติม การทำประกันอัคคีภัย จึงต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

        ครอบคลุมทุกทรัพย์สิน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักทำประกันอัคคีภัยให้เฉพาะตัวอาคารโดยไม่ได้คำนึงถึงอย่างอื่นที่อยู่ในอาคาร หรือเข้าใจผิดว่าทรัพย์สินในอาคารได้รับการคุ้มครองแล้วจากการทำประกันตัวอาคาร เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เจ้าของบ้านต้องทำประกันอัคคีภัย โดยให้ความคุ้มครองทุกอย่าง คือ

              1. ตัวบ้าน คือตัวสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน
              2. ทรัพย์สินภายใน ข้าวของต่างๆ ที่มีค่าเช่นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

        ประกันเต็มมูลค่า เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากการทำประกันภัยสูงสุด เจ้าของบ้านต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินของตนให้ถูกต้องตามราคาจริง และจ่ายมูลค่าทำประกันให้สมดุลกับราคานั้น  เพราะการจ่ายเงินชดเชยของบริษัทประกัน จะจ่ายตามสัดส่วนเฉลี่ยโดยคำนวณจาก

มูลค่าความเสียหายที่ได้รับการประเมิน x มูลค่าที่ทำประกัน / มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง


เช่น มูลค่าความเสียหายที่ได้รับการประเมินคือ 3 ล้านบาท ทำประกันอัคคีภัยไว้ 5 ล้านบาท ทรัพย์สินมีมูลค่าจริง 10 ล้านบาท
นั่นคือ 3 ล้านบาท x 5 ล้านบาท / 10 ล้านบาท = เงินชดเชยที่จะได้รับจากบริษัทประกันคือ 1.5 ล้านบาท
เท่ากับว่า เงินที่บริษัทประกันภัยจ่ายชดเชยให้กับเจ้าของบ้านน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้จริงๆ ถึง 50% ดังนั้น ยิ่งให้มูลค่าที่ทำประกันน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ได้รับการชดเชยน้อยลงไปเท่านั้น


        อัพเดทเมื่อทรัพย์สินมีการเปลี่ยนแปลง ข้อนี้เป็นกรณีพิพาทมาหลายครั้ง ในกรณีที่เจ้าของบ้านมีการปรับปรุงต่อเติมบ้านหลังการทำประกันอัคคีภัย โดยไม่แจ้งให้บริษัทประกันทราบ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงเกิดการโต้เถียงกันระหว่างเจ้าของบ้านและบริษัทประกันเสมอ

        ในกรณีนี้เจ้าของบ้านควรแจ้งบริษัทประกันทุกครั้งที่มีการต่อเติมบ้านครั้งใหญ่ ที่มากกว่าตอกตะปู ทาสี เพื่อจะได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินและเบี้ยประกันภัยขึ้นมาใหม่

        ประกันอัคคีภัยถือเป็นหลักประกันชั้นดีสำหรับบ้านและตัวเจ้าของบ้านเอง  การทำประกันภัยอย่างรอบคอบย่อมส่งผลดีในอนาคต นอกจากประกันอัคคีภัยแล้ว ประกันสำหรับบ้านและที่อยู่อาศัยยังมีอีกหลายประเภท สามารถศึกษาได้จาก รู้จักประกันภัยเกี่ยวกับบ้าน


บทความจาก TerraBKK
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  บ้าน คุ้มครองผู้บริโภค
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่