เชื่อเถอะครับ...หาบเร่แผงลอย จะอยู่คู่ กทม. และประเทศไทย ไปชั่วกาลปาวสาน

นั่งหาอะไรต่อมิอะไรอ่านเรื่อยเปื่อย เจอบทความของนักวิชาการ ที่เขาทำวิจัยเรื่องนี้มาโดยตลอด

---------------
"จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย-คืนทางเท้าให้ประชาชน" : ดี..แต่ควรทำมากกว่านี้ (1)

             ความพยายามในการจัดระเบียบการค้าบนเส้นทางสัญจร (หาบเร่แผงลอย)  โดยกรุงเทพมหานครนับเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ในการ “คืน” พื้นที่ทางเดินเท้าให้แก่ประชาชน เป็นการรณรงค์ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใช้เส้นทางสัญจร ซึ่งเผชิญปัญหาการสัญจรทางเท้า โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนผู้ค้าที่ประกอบการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มมากขึ้น เทียบไม่ได้จำนวนผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการค้าในจุดผ่อนผัน  ซึ่งสถิติในปี 2556 ระบุว่ามี 21,065 ราย ในจุดผ่อนผัน 726 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร

คนกรุงเทพฯรู้จักหาบเร่แผงลอยในสองสถานะหลัก  หนึ่ง..คือพ่อค้าแม่ค้าที่ผู้ซื้อเข้าถึงได้โดยสะดวก ราคาไม่แพงมาก ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ของใช้ในบ้าน เครื่องประดับ ฯลฯ  สอง..คนที่กีดขวางทางเท้า ทำให้เดินไม่สะดวก และ หลายกรณีสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายในรูปแบบต่างๆ  

            จากสองสถานะนี้ มีระบบความสัมพันธ์ที่ “งอก” ขึ้นมาหลายลักษณะ เช่น ความสัมพันธ์ในฐานะลูกค้าประจำ คนคุ้นเคย  เพื่อน  เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องประกันคุณภาพและราคาสินค้าได้ในระดับหนึ่ง ในอีกด้านหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์ที่มักเรียกกันว่า “อิทธิพล” เช่น มาเฟียรีดไถเงินในรูปแบบต่างๆกัน  อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบ คืนความสุข-คืนทางเท้าให้คนกรุงเทพมหานครในขณะนี้

ประเด็นหลักของบทความนี้ จะไม่มุ่งไปที่ การจัดระเบียบ-คืนทางเท้า  แต่จะเชิญชวนให้มองข้ามช็อตการจัดระเบียบ  ไปที่การมองการค้าหาบเร่แผงลอยในบริบทที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการกีดขวางทางสัญจร!!!

การค้าข้างทางในกรุงเทพมหานคร : ที่มาและคำอธิบายทางทฤษฏีโดยย่อ

             การค้าข้างทางในกรุงเทพมหานครเป็นวิถีชีวิตทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ย้อนไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งผู้ค้าเป็นชาวไทยและชาวจีน ผู้ค้าชาวไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนผู้ค้าชาวจีนเป็นผู้ชาย การค้าข้างทางของชาวไทยต่างจากชาวจีน ซึ่งการค้าข้างทางเป็นบันไดให้ก้าวไปสู่การเป็นชนชั้นนายทุน ชาวไทยเข้ามาประกอบการค้าข้างทางมากขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ค้ามีการเลื่อนระดับฐานะทางเศรษฐกิจและมีเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจนนับแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา

             ทั้งนี้จากสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ นโยบายที่ม่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยละเลยภาคเกษตรกรรม เป็นผลให้แรงงานชนบทอพยพเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และการขยายตัวของอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และภาคบริการอันเนื่องมาจากนโยบายที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดความต้องการแรงงานจำนวนมาก แรงงานเหล่านี้เป็นลูกค้าสำคัญของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

              แต่หลังจากปี พ.ศ. 2540 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย การขยายตัวของการค้าข้างทางเป็นผลจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การจ้างงาน อันสืบเนื่องมาจากการแข่งขันที่เข้มข้นในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้ความสามารถของแต่ละประเทศในการกำกับดูแลควบคุมภาวะเศรษฐกิจของตนลดน้อยลง ความไม่แน่นอนสูงขึ้น อันเป็นผลให้  “ความยืดหยุ่น” ในการจ้างงานมีความสำคัญ

             ซึ่งหมายความว่า โอกาสการทำงานในฐานะ “ลูกจ้าง”  ลดน้อยลงเป็นลำดับ  การประกอบอาชีพการค้าข้างทางจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างรายได้ให้แก่แรงงานที่เผชิญและอาจเผชิญกับวิกฤตการณ์การจ้างงานที่เกิดขึ้น  ในขณะเดียวกันแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน มีความสนใจในการประกอบอิสระมากขึ้น  เนื่องจากความยืดหยุ่นในการประกอบอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมและวิถีชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้

ผู้ค้าเป็นใครมาจากไหน? และมีคุณลักษณะอย่างไร?

             ข้อมูลจากเอกสารและงานศึกษาเกี่ยวกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยระบุว่า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาไม่เกิน 6 ปี  ผู้ค้าส่วนหนึ่งได้รับการศึกษาในระดับปริญญาคือ มีการศึกษา 16 ปีขึ้นไป (กลุ่มนี้จะมีมากขึ้นเป็นลำดับ) และมีผู้ค้าจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ค้าสูงอายุ คืออายุมากกว่า 60 ปี  ผู้ค้าประกอบอาชีพทั้งเพื่อสร้างรายได้เสริมและรายได้หลัก สำหรับผู้ค้าที่ประกอบอาชีพเป็นอาชีพหลัก จำแนกสถานะเศรษฐกิจได้ 3 ระดับ  คือ 1.ระดับยังชีพหรือต่ำกว่า 2.ระดับมีเงินออม และ  3.ระดับ (ประสงค์) ขยายการประกอบอาชีพ

              ในผู้ค้าทุกสถานะเศรษฐกิจ ทำเลประกอบการค้าที่มีความมั่นคงและอยู่ใกล้ที่ชุมชน ถือเป็น “ปัจจัยความสำเร็จ” ที่มีความสำคัญ รองลงมาจากความมั่นใจในตนเอง  ความรู้โดยเฉพาะในเรื่องการวางแผนการค้าและการเงิน ความรู้เหล่านี้ในหลายส่วนมาจากเครือข่ายทางสังคมของผู้ค้า การมีมีทุนของตนเอง ก็มีความสำคัญเช่นกัน

              นอกจากผู้ค้าชาวไทยแล้วพื้นที่ในกรุงเทพมหานครยังมีผู้ค้าที่เป็นแรงงานต่างด้าวด้วย แม้ในปัจจุบันยังไม่มีสถิติชัดเจนว่าผู้ค้าเหล่านี้มีจำนวนเท่าใด ผู้ค้าที่เป็นแรงงานต่างด้าวมีทั้งที่เป็นผู้รับจ้างขายโดยรับค่าจ้าง และผู้ค้าที่ประกอบอาชีพอิสระ  ผู้ค้าเหล่านี้มีพัฒนาการด้านอาชีพในทิศทางที่ใกล้เคียงกับผู้ค้าชาวไทยและชาวจีน

             การค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอาชีพที่เคยช่วยให้ชาวจีนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และชาวชนบทของไทยในเวลาต่อมา มีรายได้เลี้ยงชีพ และ สะสมทุนได้  กลายเป็นอาชีพที่ช่วยให้แรงงานย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจด้อยกว่า สามารถมีรายได้เลี้ยงชีพ และ สะสมทุนได้ ในยุคเศรษฐกิจไร้พรมแดน!!!

นโยบายของรัฐ

            นโยบายระดับท้องถิ่นสะท้อนชัดเจนถึงท่าทีที่ก้ำกึ่งระหว่างการยอมรับและปฏิเสธการค้าหาบเร่แผงลอย  ในขณะที่นโยบายระดับชาติซึ่งให้การสนับสนุน ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ ในระดับท้องถิ่น แม้กรุงเทพมหานครจะมีนโยบายชัดเจนในการจำกัดการขยายตัวของการค้าหาบเร่แผงลอย แต่ในทางปฏิบัติกรุงเทพมหานครก็ใช้นโยบายผ่อนปรนมาโดยตลอด

            กรุงเทพมหานครยังสนับสนุนในรูปเงินสงเคราะห์ให้ประชาชนประกอบอาชีพการค้าขนาดเล็กเพื่อสร้างรายได้ แก้ไขปัญหาความยากจน ตั้งแต่ แผนพัฒนากรุงเทพมหานครฉบับที่ 1 (พ.ศ.2520-2524) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในช่วงระยะที่ 2 ของแผน 12 ปี กรุงเทพมหานคร (2555-2559)  แม้ว่าในทัศนะของกรุงเทพมหานคร หาบเร่แผงลอยเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม  แต่ก็กำหนดจุดผ่อนผันให้ค้าขายมากขึ้น อันแสดงถึงความเข้าใจในความสำคัญของการค้าประเภทนี้และการเปลี่ยนแปลงของกระแสการจ้างงาน  

            ในปี 2554  กรุงเทพมหานคร ริเริ่มโครงการ “หาบเร่เสน่ห์เมือง”  กำหนดนำร่องใน 5 พื้นที่  แต่ดำเนินการได้ใน 3 พื้นที่  คือ “หาบเร่เสน่ห์ดอกไม้” (เขตปทุมวัน) , “หาบเร่เสน่ห์แฟชั่น” (ย่านประตูน้ำ) และ “หาบเร่เสน่ห์กรุงเก่า” (เขตบางกอกใหญ่) เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ค้า ประชาคมในพื้นที่ รวมทั้งภาคธุรกิจด้วย โดยให้ความสำคัญต่อความเป็นระเบียบสวยงาม ความร่วมมือในการร่วมกันพัฒนาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

            ในปี 2555 กรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาล เห็นพ้องร่วมกันว่า “การค้าหาบเร่แผงลอย จะไม่หมดไปจากกรุงเทพมหานคร  และเห็นว่าควรจัดระเบียบเพื่อให้เป็นเสน่ห์ของเมือง และเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก รวมทั้งการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ค้าและประชาชนผู้ใช้พื้นที่สาธารณะ” โดยกรุงเทพมหานครได้กำหนดหลักเกณฑ์การเป็นจุดผ่อนผัน รวมทั้ง ข้อห้ามการตั้งวางสินค้าไว้ด้วย

            การจัดระเบียบนี้นอกจากจะเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า (2554) แล้ว ยังเป็นผลจากการที่กรุงเทพมหานครได้รับรางวัล “เมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก” (The World’ s Best Award 2012) เป็นครั้งที่ 4 จากการลงคะแนนของนักท่องเที่ยวและผู้อ่านนิตยสาร “Travel and Leisure”  โดยปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญคือการมีหาบเร่แผงลอยเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าได้สะดวกและประหยัด

(โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)

รศ.ดร.นฤมล นิราทร

อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ที่มา : http://www.naewna.com/scoop/115378
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่