เจ้านางคำเเว่น หญิงลาวผู้มีอิทธิพลในราชสำนักสยาม

กระทู้สนทนา






ในปี พ.ศ. 2321 ครั้งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะดำรงยศสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ไปตีกรุงเวียงจันทน์ และเชิญเสด็จพระราชบุตรในพระเจ้าศิริบุญสาร (พระองค์บุญ) มายังสยาม โดยประกอบด้วย เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ แต่ เจ้าพรหมวงศ์ พระอนุชา ได้หลบหนีไปเมืองอื่นเสีย ในการเดียวกันนี้ยังได้รับเจ้านางคำแว่น ซึ่งเป็นนางกำนัลของพระอัครมเหสีของพระเจ้าสิริบุญสารมาเป็นชายา ใน พ.ศ. 2322
เจ้านางคำแว่นขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกเว้นทำลายเมืองพานพร้าว ศรีเชียงใหม่ (จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน) และได้รับตามคำขอ

เมืองพานพร้าว หรือ "ค่ายพานพร้าว" นี้เป็นค่ายทหารที่มั่นชั่วคราวของกองทัพไทย (ปัจจุบันคือ บริเวณ หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง)
ศึกครั้งนี้เรียกว่า "ศึกนางเขียวค้อม" ชาวพานพร้าวศรีเชียงใหม่ ได้สร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนางเขียวค้อม บริเวณบ้านหัวทราย อำเภอศรีเชียงใหม่ ไว้เป็นที่เคารพสักการะของชาวพานพร้าว-ศรีเชียงใหม่ จนถึงทุกวันนี้ (ตำนานนางเขียวค้อมมีหลายสำนวน) และชาวเมืองได้ยกย่องเจ้านางคำแว่นเป็น เจ้านางเขียวค้อม

และในครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานไว้ที่ค่ายพานพร้าว โดยสร้างหอพระแก้วชั่วคราวเพื่อการนี้ ส่วนราษฎรชาวเวียงจันทน์ ส่วนหนึ่งให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองพานพร้าว ปะโค และเวียงคุก จากนั้น จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางพร้อมทั้งนำเชื้อพระวงศ์เวียงจันทน์ ข้าราชการ กรมการเมือง รวมทั้งราษฎรชาวเวียงจันทน์ที่เหลือลงมาที่กรุงธนบุรี

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกไว้ในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ ว่า

เมื่อเจ้าจอมแว่นมาอยู่ในทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว ท่านผู้หญิง (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ก็หึงหวงมาก มีปากเสียงกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้วยเรื่องคุณแว่นนี้อยู่บ่อย ๆ จนคืนวันหนึ่ง ท่านผู้หญิงถือดุ้นแสมไปยืนดักคอยอยู่ในที่มืด บนนอกชานเรือน พอคุณแว่นเดินออกมาจากเรือนหลังใหญ่ อันเป็นที่อยู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านผู้หญิงก็เอาดุ้นแสมตีหัว คุณแว่นก็ร้องขึ้นว่า "เจ้าคุณขา คุณหญิงตีหัวดิฉัน"

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โกรธยิ่งนัก ฉวยได้ดาบออกจากเรือนจะมาฟันท่านผู้หญิง ฝ่ายท่านผู้หญิงก็วิ่งเข้าเรือนที่ท่านอยู่ แล้วปิดประตูลั่นดาลไว้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาดาบฟันประตูอยู่โครม ๆ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษก สถาปนาราชวงศ์จักรีและสถาปนากรุงเทพมหานคร ฯ เป็นราชธานีใหม่ เจ้านางคำแว่น จึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นที่ เจ้าจอม(แว่น) พระสนมเอก และโปรดให้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจนชาววังยกย่องเป็น เจ้าคุณข้างใน และเป็นเจ้าคุณท่านแรกในจักรีวงศ์

เจ้าจอมแว่นเป็นผู้มีความกล้าหาญและมีศิลปะในการเพ็ดทูลเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่มีผู้ใดกล้าจะกราบทูล ถ้าท่านเห็นว่าเป็นสิ่งสมควรและถูกต้องแล้ว ก็จะกราบทูลทันทีมิได้เกรงกลัวพระราชอาญา

ความกล้าหาญของเจ้าจอมแว่นเป็นที่ประจักษ์เมื่อ เมื่อปี พ.ศ. 2339 คราวที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายจากการว่าราชการเมือง ขณะบรรทมหลับก็เกิดพระสุบินและทรงละเมอ ทำให้ข้าราชบริพารตกใจ มิรู้ที่จะทำอย่างไรดี เจ้าจอมแว่นใช้ความหาญกล้าตัดสินใจกัดนิ้วพระบาท จนพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกพระองค์และตื่นบรรทม เจ้าจอมแว่นได้รับความดีความชอบและเป็นที่โปรดปรานของพระองค์

ความจงรักภักดีและสุจริตใจของเจ้าจอมแว่นนี้ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช จึงไม่ทรงพิโรธ

เจ้าจอมแว่นยังมีความสามารถในการปรุงอาหารยิ่งนัก ดังปรากฏเป็นตำนานว่า
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นั้นโปรดเสวยไข่ ยิ้ม กับมังคุด เป็นอย่างยิ่ง อยู่มาวันหนึ่งก็โปรดจะเสวย แต่ไม่มีใครสามารถหาได้เลย เพราะไม่ใช่ฤดูกาล ยิ้มวางไข่ เจ้าจอมแว่น จึงประดิษฐ์ "ขนมไข่ ยิ้ม" ขึ้นตั้งเครื่องถวายแทนต่อมาหลายท่านเรียกขนมไข่ ยิ้มด้วยชื่อใหม่ที่ฟังดูหรูหราว่า"ขนมไข่หงส์"

เมื่อครั้งทำบุญใหญ่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ได้ทรงโปรดให้เลิกข้าวทำขนมจีนเลี้ยงพระสงฆ์นับพันรูปถึงวันละเกวียน โดยเจ้าจอมแว่นผู้มีชื่อเสียงในการปรุงน้ำยาที่สุดในสมัยนั้น ได้เป็นผู้ปรุงถวายพระในการเลี้ยงนี้เอง



เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร และพระบรมมหาราชวังขึ้นนั้น สมเด็จพระอมรินทราฯ ก็มิได้เคยเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังเลย ประทับอยู่ที่บ้านเดิมจนสวรรคต
เจ้าจอมแว่น เป็นพระสนมเอก ที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีหน้าที่อภิบาลพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อย่างเข้มงวด จนได้รับฉายาว่า "คุณเสือ"

แม้ว่าเจ้าจอมแว่นจะมีอุปนิสัยเข้มงวดจริงจังปานใดก็ตาม แต่ความจงรักภักดีอย่างจริงใจเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อพระองค์ใดทรงมีปัญหาสำคัญ แก้ไขไม่ได้ด้วยพระองค์เอง มักจะขอร้องให้เจ้าจอมแว่นช่วยซึ่งทุกพระองค์ก็จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มใจเสมอ จึงเป็นที่เกรงกลัวและนับถือของทุกพระองค์

เจ้าจอมแว่นรับราชการในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างใกล้ชิดแต่มิได้ให้ประสูติพระหน่อ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ถวายการอภิบาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีเชื้อสายเป็นชาวเวียงจันทน์เหมือนกัน รวมทั้งยังเป็นผู้ถวายการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี อีก 3 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) และสมเด็จเจ้าฟ้าปิ๋ว

เจ้าจอมแว่น ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่