119 ผู้เข้าสอบโรงเรียนนายอำเภอที่ถูกไล่ออก ร้องหน.คสช.เยียวยา

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีสอบเข้าอบรมหลักสูตรนายอำเภอ (นอ.) รุ่น 68-70 เมื่อปี 2552 ว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง และในภายหลังอธิบดีกรมการปกครองมีคำสั่งไล่ออกข้าราชการจำนวน 119 คนไปแล้วนั้น ล่าสุดกลุ่มข้าราชการ 119 คน ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความเป็นธรรม โดยหนังสือตอนหนึ่งระบุว่า พวกตนจำนวน 119 คน ตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส รวมทั้งครอบครัวอันประกอบด้วยพ่อ แม่ ภรรยา บุตร และผู้ที่อยู่ในอุปการะของพวกตน จำนวนรวมกว่า 1,000 ชีวิต ซึ่งอยู่ตามอำเภอ จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อันสืบเนื่องมาจากได้มีคำสั่งไล่ออกจากราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอของกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 และวันที่ 9 มิถุนายน 2557 สืบเนื่องมาจากการชี้มูลของ ป.ป.ช.ในฐานความผิดประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงในกรณีการสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ปีงบประมาณ 2552

"พวกกระผมไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่สมัครสอบเข้าเรียน ประกาศผลสอบ และเข้าทำการอบรม แต่ต้องถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาและชี้มูลว่าเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น โดยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กันคนบางส่วนไว้เป็นพยานมาปรักปรำกล่าวโทษว่าพวกกระผมมีความผิด ทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิดโดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆ จากความบริสุทธิ์ของพวกกระผมจึงได้ปฏิเสธมาโดยตลอดโดยยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ ป.ป.ช.กลับรับฟังคำปรักปรำจากคนที่รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดแล้วด้วยตัวเขาเอง ป.ป.ช.กลับกันคนที่มีความผิดเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด คนที่มีความบริสุทธิ์ไม่ได้กระทำความผิดกลับถูกชี้มูลให้ไล่ออกและส่งเรื่องมาให้กระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครอง แทนที่กระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครองจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาข้อเท็จจริงอันบริสุทธิ์ของพวกกระผม กลับไม่ดำเนินการ แถมลงโทษโดยฉับพลัน โดยอ้างเหตุผลสั้นๆ ว่า ถือปฏิบัติตามคำชี้มูลของ ป.ป.ช. โดยได้ออกคำสั่งไล่พวกกระผมออกจากราชการทันที ซึ่งทั้ง ป.ป.ช.และกระทรวงมหาดไทยไม่ได้คำนึงถึงคุณธรรมและมนุษยธรรมแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการชี้มูลและลงโทษพวกกระผมซึ่งบริสุทธิ์อย่างโหดเหี้ยมทารุณ ต่อข้าราชการในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมทั่วๆ ไปว่าพวกผมเป็นแพะรับบาปและไม่มีทางสู้หรือโอกาสชี้แจง" หนังสือระบุ

หนังสือระบุอีกว่า "ผลกระทบที่แสนสาหัสของพวกกระผมถึงขนาดกลั้นน้ำตาแทบไม่อยู่ เพื่อนในกลุ่มบางคนถึงขนาดต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 3 ท่าน คือ ผูกคอตาย ของนายเผด็จ แสนเพชร ตำแหน่งปลัดอำเภอบัวลาย จ.นครราชสีมา เกิดอาการหัวใจวายเสียชีวิตหลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด คือ นายโสรัจ รุ่งโรจน์ ตำแหน่งปลัดอำเภอท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา และว่าที่ร้อยตรี ธีรภัทร เนียมโภคะ ตำแหน่งปลัดอำเภอคลองลาน จ.กำแพงเพชร เสียชีวิตอันเกิดจากความเครียดในระหว่างการสอบสวน เกิดจากการแจ้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. และท่านอื่นๆ ที่มีผลกระทบด้านชีวิตครอบครัว ลูกซึ่งพิการ คุณแม่ที่ป่วยหนัก ที่ต้องอาศัยสวัสดิการการรักษาพยาบาลตามกฎของกระทรวง ก็ต้องถูกระงับการดูแลรักษา และอีกหลายๆ ท่านโดนดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานาจากบุคคลรอบข้างที่ไม่มีความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และปัญหาเรื่องใหญ่ที่สุดที่ตามมา คือ เรื่องการกู้ยืมเงินตามระบบราชการ เช่น การกู้ยืมสหกรณ์ออมทรัพย์กรมการปกครอง ก็มีการติดตามทวงหนี้โดยมีหนังสือให้ชำระหนี้ภายใน 1 เดือน ซึ่งสร้างความเครียด ความรันทด สร้างความปวดร้าว สร้างความสะเทือนจิตใจ ทั้งตัวพวกกระผม ครอบครัว และบุคคลรอบข้าง โดยไม่มีหน่วยงานเข้ามาเหลียวแลเพื่อบรรเทาในเรื่องราวดังกล่าว"

มติชน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่