แผลเก่า ๒๕๕๗ รักเก่าที่ไปไม่ถึงแก่น (สปอล์ยมากๆ)

ผู้เขียน เขียนกระทู้นี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ ตามประสาคนรักภาพยนตร์ไทย ขอความกรุณาพูดคุยด้วยความสุภาพ และหากความคิดเห็นที่เขียนออกไป ไม่ถูกใจใคร ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

            วันนี้ได้ไปชม ภาพยนตร์ไทยที่อยากดูมากที่สุดเรื่องหนึ่งในปี ๒๕๕๗ นี้ นั่นก็คือ แผลเก่า ที่ถูกนำมาเล่าเรื่องใหม่ด้วยการกำกับการแสดงและการเขียนบทโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล มีหลายปัจจัยที่ทำให้ต้องดูเรื่องนี้ เช่น มีการคัดเลือกนักแสดงได้น่าสนใจมาก หรือเกิดความอยากรู้อยากเห็นว่าแผลเก่าในยุคสมัยนี้ จะน่าประทับใจเหมือน แผลเก่า ปี ๒๕๒๐ ของ คุณเชิด ทรงศรี หรือไม่ (ผู้เขียนเกิดไม่ทันตอนออกฉาย แต่จำได้ว่าได้ดูอยู่หลายรอบพอสมควรตามวิกหนังกลางแปลงหรือโทรทัศน์ที่นำมาฉายซ้ำ)  


เอาเป็นว่า ขอเริ่มที่ วรรณกรรม เรื่องแผลเก่า ก่อนเลย เราๆท่านๆต่างก็ทราบกันดี ว่า แผลเก่า คือเรื่อง รักของหนุ่มสาวชาวบ้านบางกะปิ ที่จบลงด้วยโศกนาฎกรรม (Tragedy) ซึ่งเรื่องเศร้าแบบนี้ มักจะถูกจดจำไปแสนนานด้วยความตราตรึงซาบซึ้งในหัวใจ แต่มาใน ปี ๒๕๕๗ นี้ กลับถูกตีความให้เปลี่ยนแนวมาเป็น ประเภทละครเริงรมย์ (Melodrama) ซึ่งมันตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

แล้วทำไมผู้เขียนถึงได้กล่าวหาว่ามันถูกเปลี่ยนแปลงไปทางแนวนั้น มีหลายสาเหตุ ดังเช่น

๑.มีเสียงร้องของทั้ง กัน และแก้ม The star เคล้าคลอแทนอารมณ์ของตัวละคร ขวัญกับเรียม อยู่เป็นฉากหลัง มีเสียงเครื่องดนตรีบรรเลงเต็มวงประโคมขับกล่อมให้เพลิดเพลิน จนกลบเสียงขลุ่ยของไอ้ขวัญ ที่มันเปรียบเหมือนสัญลักษณ์นึงของหนังไปเสียสิ้น

๒.มีการเพิ่มบทความผูกพันระหว่างเพื่อน (แม้ว่า จะได้ทีม  The Star มาเต็มคณะ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย) หรือ ตัวละครที่แบนราบขาดมิติ ไร้ชีวิตชีวา อย่างเช่น ไอ้เริญก็ดี  คุณสมชายก็ดี เพื่อนที่รับบท โดย แคน The Star จู่ๆก็งอนไอ้ขวัญ แล้วเปลี่ยนใจไปเข้ากับอีกฝ่าย เหมือนมีนัยยะอะไรบางอย่าง ซึ่งก็ไม่ชัดเจนพอที่จะสรุปได้ โดยเฉพาะคุณหญิงทองคำเปลวนี่ยิ่งแล้วใหญ่ ขยายความบทให้โดดเด่นจนกลบเรื่องรักของขวัญกับเรียมไปเสียสิ้น

๓.เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในสมัย ๒๔๗๙-๒๔๘๓ แต่เรียมกลับมีนิสัยราวกับเป็นสาววัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ว่าด้วยฉากที่ระเบิดอารมณ์ใส่คุณหญิงทองคำเปลวเสียยกใหญ่ บอกตรงๆคือดูฉากนี้แล้วงง ว่าตกลง เรียม เป็นคนสองบุคลิกหรือเปล่า?  ส่วนไอ้ขวัญ เจ้าอารมณ์เหลือเกิน งอแงงี่เง่า กับใจนักเลง ต่างกันนิดเดียว แต่ดูเหมือนบทส่งให้ไอ้ขวัญดูเป็นคนประเภทแรกเสียมากกว่า สำหรับผู้เขียน ไม่ได้เสียใจเลยกับกับการตายของพระเอก รู้สึกสมน้ำหน้ามากกว่า ประมาณว่า เออ ! มึน ดื้อ ขนาดนี้ ตายซะได้ก็ดี ยิ่งฉากขาวดำ แล้วมีเลือดสีแดงกระเด็นออกมา เหมือนดู sin city ยังไงไม่รู้
  

ส่วนตัวผู้เขียน รู้สึกประทับใจในการแสดงของ ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ ในบทเรียม มากๆ(ไม่ใช่ติ่ง!)  และเห็นพัฒนาการของเธอชัดเจนมากขึ้นกว่า ภาพยนตร์เรื่อง พี่มากพระโขนง แม้ว่าครึ่งแรก อาจจะดูไม่ค่อยน่าเชื่อกับการเป็นสาวชาวนา ที่ต้องทำนา เกี่ยวข้าว ตากแดด ผิวคล้ำ แต่พอหลังจากกลับจากเมืองนอก ดูเหมือนเธอจะค่อยๆหลอมตัวเองให้กลายเป็นเรียมได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ส่วน บท ขวัญ นิว ชัยพล ทำได้ไม่เลว แต่ก็ยังไม่ดีมาก  เทียบเท่ากับนักแสดงคนอื่นๆ เช่น สินจัย หรือพงษ์พัฒน์

(ขอเปรียบกับ The Letter จดหมายรัก ปี ๒๕๔๗ ที่การแสดงของแอน ทองประสม ทิ้งห่าง อรรถพร ธีมากร ไปอย่างหลุดลอย ทั้งที่บทส่งให้ทั้งค่เท่ากัน )

หากเคยติดตามผลงานของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล  เช่น ช่างมันฉันไม่แคร์ (๒๕๒๙) ฉันผู้ชายนะยะ (๒๕๓๐) รู้สึกว่ามีมุมมองใหม่ที่น่าสนใจสำหรับสังคมไทย สำหรับผู้เขียนประทับใจในเรื่อง มหัศจรรย์แห่งรัก (๒๕๓๘) มากที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นมาจนปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นมุมมองเหล่านั้นในผลงานชิ้นต่อๆมาเลย อันได้แก่ อันดากับฟ้าใส (๒๕๔๐) ชั่วฟ้าดินสลาย (๒๕๕๓) อุโมงค์ผาเมือง (๒๕๕๔) จัน ดารา ปฐมบท (๒๕๕๕) จัน ดารา ปัจฉิมบท (๒๕๕๖)

สรุป แผลเก่า ปี ๒๕๕๗ นี้   ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ก็ไม่ได้น่าประทับใจเท่าที่ควรจะเป็นสักเท่าไหร่นัก องค์ประกอบศิลป์ดี สวยงามมาก มีการสอดแทรกเรื่องราวพื้นบ้านไว้ให้พอได้ชื่นใจ สำหรับคนที่คิดถึงวัฒนธรรมไทยในสมัยอดีต  เหมือนดูสารคดีย้อนยุค ผ่านเรื่องราวที่เราต่างก็รู้แล้วว่ามันเริ่มต้นและลงเอยเป็นอย่างไร
         เพราะมุมมองที่ส่งผ่านแก่นของเรื่องจากชีวิตของชาวนาไทยสมัยอดีต ความรัก ความผูกพันต่อ ผืนแผ่นดิน แม่น้ำ ลำคลอง(คือไม่ใช่แค่มาร้องเพลงเต้นกำรำเคียวอย่างเดียวก็แสดงว่ารักผืนนาท้องทุ่งมากมายนัก)        ความรักที่ยึดถือความซื่อสัตย์ในคำพูดที่เรียบง่ายแบบชายหนุ่มหญิงสาวในอดีต(จากการสาบานต่อหน้าศาลเจ้าพ่อต้นไทร)         ความรักที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกตัญญู ต่อบุพการี(การที่ขวัญสำนึกได้ในพระคุณของพ่อจนอยากจะบวชให้ ไม่ใช่ให้พ่อมาร้องขอให้บวชเพื่อลืมเรื่องเรียมไป) ผู้มีพระคุณ(ฉะนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เรียมจะมาระเบิดอารมณ์ใส่คุณหญิงทองคำเปลวที่มีเมตตาชุบเลี้ยงเรียมให้รอดปากเหยี่ยวปากกามาถึง ๓ ปี แม้ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม) หรือมิตรภาพ(เพื่อนในเรื่องเหมือนลูกไล่ มากกว่าลูกน้อง ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรกับทั้งขวัญและเรียมเลย)

        เหมือนมองจากมุมบนลงมาพื้นล่าง ไม่ใช่มองผ่านสายตาของคนที่ใช้ชีวิตแบบนั้นจริงๆ ทำให้เสน่ห์ในเรื่องความรักแบบชาวบ้าน ที่จับต้องได้จางหายไป

           ทำให้สารที่ต้องการสื่อความงดงามเหล่านั้นผ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ตกหล่นไปกลางทางอย่างน่าเสียดาย  

           สำหรับผู้เขียนบอกเลยว่าไม่เสียดายเงินค่าตั๋วแน่นอน และอยากให้ผู้ที่ได้อ่านบทวิจารณ์ชิ้นนี้ไปพิสูจน์ด้วยสายตาของตัวเอง ไปช่วยกันสนับสนุนภาพยนตร์ไทยกันมากๆ และเมื่อชมเสร็จมีโอกาส โปรดมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อย่างผู้ที่เจริญแล้ว

ขอขอบคุณและขอให้สนุกกับการรับชมภาพยนตร์ จนกว่าจะพบกันใหม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่