กฎหมายจราจรมันล้าหลัง หรือผู้ขับขี่ไม่พัฒนา

พ.ร.บ. จราจรล้าสมัยจริงหรือ?

คำว่า "พ.ร.บ. จราจรทางบกเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย" เริ่มพูดกันมาเมื่อไหร่ ก็ไม่ทราบว่าใครเป็นคนต้นคิด มันเหมือนการโวยวายเพียงเพราะกฎหมายใช้ไม่ได้แล้ว หรือว่าต้องการแก้ไขกฎหมายเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรึเปล่า

ก่อนจะตอบคำถามนี้ อยากให้ลองคิดสักนิดว่ากฎหมายจราจรนั้นมีเพื่ออะไร เป็นเครื่องมือให้ตำรวจคอยออกใบสั่ง หรือ ควบคุมการใช้รถบนถนน หรือคุ้มครองคนทุกคนบนท้องถนน หรือมีไว้แค่ให้เซียนนักบิดพอใจ……………..???

ลองพูดคุยเรื่องความสามารถผู้ขับขี่ก่อน
บางทีฟังฝั่งคนขี่มอเตอร์ไซค์ เอะอะก็จะให้แก้ไขกฎหมายให้เป็นดังใจ โดยหาว่ากฎหมายล้าหลังไม่น่าทำตาม พวกท่านอาจลืมคิดไปว่า ในปัจจุบัน บนถนนมีรถอยู่กี่ประเภท ลองนับเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ มีผู้ขับขี่เป็นจำนวนเท่าไหร่ ยิ่งแยกออกมาเป็นกลุ่มๆ จะพบว่าคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์นั้นมีตั้งแต่ มือใหม่เพิ่งหัด ขี่เป็นบ้างพอไปจ่ายตลาด ขี่เป็นแต่ออโต้รถเล็ก เพิ่งหัดขี่รถใหญ่ ไต่ระดับไปจนถึง ขั้นทักษะสูงๆ จนถึงนักแข่ง ลองแยกตามทักษะในการขับขี่จะมีสักกี่ % ของจำนวนรถมอเตอร์ไซค์เหล่านี้ ที่มีทักษะขี่ได้อย่างคล่องแคล่ว และปลอดภัยจริงๆ ...??

จริงอยู่ที่ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันไปไกลแล้ว รถมอเตอร์ไซค์ ทำความเร็วได้มาก หากแต่ทักษะการขับขี่ของตัวผู้ขับขี่ล่ะ ตามทันไหม จากภาพข่าวที่ปรากฏ ช่วงปีสองปีมานี้ บิ๊กไบค์ ซีซีแรงๆ เริ่มออกมาบนถนนเยอะ ก็จะเห็นข่าวตายกันถี่ยิ่งขึ้น อุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์เล็กๆล้มตายทุกวัน เหตุผลที่ตายส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตัวคนตายไม่มีทักษะที่ดีพอในการขับขี่ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต จริงอยู่ที่ตัวรถอาจจะไฮเทค ไปไกล แต่ตัวคนขับขี่มีทักษะดีกันทุกคนไหม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเรา การหามอเตอร์ไซค์ ดีๆแรงๆ สักคันมาขี่บนถนน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพียงแค่มีเงินซื้อก็เอารถออกมาขี่ได้แล้ว แต่สิ่งที่เจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ละเลยคือ การฝึกฝนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การเข้าใจกฎและสัญลักษณ์จราจร การรักษาระเบียบวินัยในการขับขี่ ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด หรืออย่างน้อยก็ใช้ความเร็วตามทักษะที่เหมาะสม เชื่อว่าไม่ถึง 10% เพราะเท่าที่ทราบมาส่วนใหญ่ คิดว่า เสียบกุญแจ ติดเครื่องได้ ออกตัวได้ ขี่รถมีครัชออกตัวไม่ดับ นั่นคือขี่เป็นแล้ว บางคนเครื่องหมายจราจรสักอันยังไม่รู้จัก กฎจราจรไม่ต้องสนใจเพราะไม่ทำ

ก็ไม่รู้ว่าจะโทษฝั่งคนขาย ที่เน้นขายแต่รถโดยไม่พัฒนาศูนย์ฝึกสอนตามให้ทัน หรือโทษตัวเจ้าของรถเองที่คิดแค่ว่ามีปัญญาซื้อก็ออกไปขี่ได้ หรือต้องโทษหน่วยงานรัฐที่ออกใบขับขี่มาแบบชุ่ยๆ กติกาหลวมๆ จนทุกวันนี้ มองไปบนถนน คนใช้รถเยอะแยะมากมาย แต่คนขับเป็นจริงๆ แทบไม่มี..........

เพราะบนท้องถนนไม่ได้มีแค่รถมอเตอร์ไซค์เท่านั้น ยังมีรถยนต์ จักรยาน คนเดินถนน กติกาหลายอย่างที่วางไว้ก็เพื่อคุ้มครองคนทุกคนบนถนนไม่ได้จะเอาใจใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็เข้าใจว่าบางคนขี่เก่ง เกิดมาไม่เคยล้ม ไม่เคยเจออุบัติเหตุ แต่นั่นมันคือส่วนน้อย หากมองไปยังผู้ขับขี่อื่นๆบางคนขี่รถแทบไม่คล่องเลยด้วยซ้ำอย่าลืมว่าในเมืองไทยแค่คุณมีใบขับขี่ก็เอารถออกมาใช้บนถนนได้แล้ว ทักษะมีหรือไม่เป็นอีกเรื่อง กฎหมายจึงต้องวางกติกาเพื่อคุ้มครอง คนเหล่านั้นด้วย

ต่อไปลองมาคุยกันเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.จราจร บ้าง

อย่างที่เกริ่นไปกฎหมายจราจรมีหน้าที่เพื่อป้องกันจริงๆมีหน้าที่เพื่อควบคุมการขับขี่ และป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นมันจึงมีข้อจำกัด จุกจิก และเมื่อมันไปเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วๆไป มันจึงต้องโดนเล่นงานอย่างช่วยไม่ได้

ก็อยากจะให้เข้าใจว่า โดยเนื้อแท้ของกฎหมายมันไม่ได้ออกมาเพื่อใคร กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กฎหมายจำเป็นต้องออกมาเพื่อใช้กับคนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด การจะขอแก้ไขกฎหมายให้ได้ตามใจนั้น หมายความว่าต้องเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่จริงๆ หรือไม่ก็มีมูลเหตุจูงใจที่มากพอ

จากข้อมูลการแก้ไขกฎหมายจราจรที่ผ่านๆมา อธิบายได้ว่า มีการหยิบขึ้นมาแก้เป็นระยะอยู่แล้ว ตามความเหมาะสม แต่ที่ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เสนอไปไม่ได้รับการยอมรับ ก็เพราะอุบัติเหตุที่ปรากฏมันเป็นผลงานฟ้องว่าระดับการขับขี่ของผู้ขับขี่ในเมืองไทยส่วนใหญ่ ยังไม่มากพอที่จะให้แก้ไขกฎหมายมากกว่า
เพราะหากพิจารณาจากปัญหาอีกอย่างคือ นิสัยคนไทยผู้ขับขี่ทั้งหลาย ฝ่าฝืนกฎหมายกันเป็นว่าเล่น แล้วก็บาดเจ็บล้มตายกันเป็นว่าเล่นจากอุบัติเหตุ บางทีจำนวนอุบัติเหตุมันก็เหมือนผลงาน ที่แสดงคุณภาพ ในภาพรวมของเหล่าผู้ขับขี่เองว่ายังแย่อยู่เหมือนกัน

ตัวอย่างง่ายๆ การห้ามใช้ช่องทางด่วน ห้ามขึ้นสะพาน ถ้าอนุญาตให้มอเตอร์ไซค์ใช้ได้ ทุกคันแห่กันขึ้น บางคันบอกผมเทพไม่เคยสร้างภาระให้ใคร แล้วอีก 70-80% ที่เหลือเทพเหมือนกันมั้ย ขึ้นไปเกิดอุบัติเหตุ ความสูญเสียมันเกิดกับใคร ก็อยากจะถามกลับไปยังสิงห์นักบิด ที่มาพูดๆกันว่าขี่เป็นขี่เก่ง จะเอาให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะนับได้เป็นกี่ % ของคนใช้มอเตอร์ไซค์ทั้งหมด ถ้าแก้กฎหมายตามใจท่านทั้งหมด แล้วปรากฏอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเยอะ ตายเพิ่มมากขึ้นจะรู้สึกอะไรไหม

และ ตราบใดที่ยังมีคนส่วนใหญ่และมีหลายระดับต้องใช้รถใช้ถนนร่วมกับสิงห์นักบิดขั้นเทพ กฎหมายคงแก้ไขให้ตามใจคนกลุ่มเล็กไม่ได้
ส่วนตัวคิดว่ากฎหมายมันไม่ล้าหลัง แต่ที่มันพัฒนาไปมากกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะตัวผู้ขับขี่ส่วนรวมต่างหากที่ยังล้าหลังอยู่ ตราบใดที่ตัวเลขอุบัติเหตุยังฟ้องคุณภาพผู้ขับขี่ อย่าหวังว่ากฎหมายจะเปลี่ยนแปลงเลย เพราะขนาดกฎหมายเข้มงวดดูล้าหลังขนาดนี้ ยังมีจำนวนคนบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นทุกวัน

อย่าอ้างแต่ว่า เสียภาษีเหมือนกัน สิทธิ์เท่ากัน รถยนต์เอาเปรียบรถเล็ก เพราะกฎหมายไม่ได้สร้างมาเพื่อเอาใจใคร ลองเปรียบเทียบดูหากรถยนต์อยากเอาแต่ใจบ้างบอก จำกัดความเร็วทำให้เสียประโยชน์ เทคโนโลยีรถยนต์สมัยนี้ไปไกลกว่า 30 ปีที่แล้ว เสียภาษีเหมือนกันก็มีสิทธิ์วิ่งทะลุ 150 ได้ แบบนี้กฎหมายล้าสมัยไหม ถ้าคิดดูดีๆ เนื้อแท้มันก็ไม่ต่างกัน

ภาคผนวก
เกี่ยวกับการรวมกลุ่มกันเป็นทีมงานเพื่อขอแก้ไขกฎหมาย ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่พลเรือนกล้าเข้ามามีบทบาทเรียกร้องสิทธิที่ควรจะเป็น แต่ก็อยากฝากสักนิดว่า ถ้าต้องการให้สิ่งที่พยายามเสนอไปได้รับการยอมรับ ต้องมองไปที่การป้องกันเหตุร้ายในภาพรวมด้วย และถ้าสถิติที่เกิดขึ้นยังเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพผู้ขับขี่ ก็ยากที่ผู้มีอำนาจจะแก้ไขกฎหมายให้อย่างที่ต้องการ
จริงๆแล้ว ปัญหาเรื่องคุณภาพทักษะผู้ขับขี่นี้เป็นปัญหาที่สำคัญมาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รับรู้ปัญหาเหล่านี้อยู่ เท่าที่ทราบก็เริ่มมีการจัดอบรมการขับขี่ที่ถูกต้องให้กับ ตำรวจทุกสถานีอย่างต่อเนื่อง และรวมถึงมีข่าวลือ ว่าอาจจะมีการออกใบขับขี่รถจักรยานยนต์ แยกตามขนาด CC รถ น่าจะสามารถคัดกรองคุณภาพผู้ขับขี่ได้ในระดับหนึ่ง (แต่คุณภาพราชการไทยก็รู้ๆ กันอยู่ว่าคัดกรองได้แบบไหน)

ฝากเป็นข้อสนทนา (ด่าผู้เขียนได้นะครับ ถ้าคิดว่าคำด่านั้นมีประโยชน์ ก็พร้อมรับฟัง) จริงๆอยากจะเขียนให้ดีกว่านี้แต่ ยิ่งเขียนยิ่งมึน เอาแค่นี้ก่อนแล้วกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่