คุณคิดว่ามีสาเหตุใดบ้าง ที่ทำให้ "โทรศัพท์มือถือ" ทำ "อันตราย" คุณได้ถึงชีวิต

6 ข้อควรทำก่อนแบตมือถือระเบิด!!!

       แบตเตอรี่โดยปกติไม่สามารถระเบิดได้ แต่ความร้อน การลัดวงจร ก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดจากการคายประจุไฟ และประกายไฟ คือสิ่งที่ทำให้เกิดระเบิดขึ้นได้ สาเหตุดังกล่าวเกิดจากความไม่รู้จักแบตเตอรี่ที่ใช้อยู่ดีพอ ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุไม่คาดฝันในอนาคต
       
       6 ข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นความรู้เชิงวิเคราะห์ ถึงสาเหตุที่อาจจะเกิดแบตระเบิดขึ้นได้หากยังไม่รู้เท่าทันแบตเตอรี่ที่ใช้อยู่ ดังนั้นลองตรวจสอบแบตเตอรี่ในโทรศัพท์มือถือของทุกคนให้ดี เพื่อการป้องกันภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นอย่างรัดกุมที่สุด
       
       1 หยุดการชาร์จข้ามวัน
       
       แม้ว่าแบตเตอรี่ปัจจุบันจะมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยตัดวงจรทั้งในส่วนของแบตเตอรี่และที่ชาร์จแบตเตอรี่เองก็ตาม แต่สิ่งที่ไม่มีใครติดตั้งไว้ก็คือ การแจ้งเตือนว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวยังสามารถทำงานได้ดีอยู่หรือไม่ เราจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะชาร์จแบตเตอรี่แบบทิ้งข้ามวัน
       
       โดยทั่วไป หากความร้อนหรือแรงดันไฟขึ้นถึงระดับสูงสุดที่แบตเตอรี่จะรับได้ ระบบตัดไฟก็จะทำงานทันที และทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุใดๆ แต่ปัญหาคือหากระบบดังกล่าวไม่ทำงาน ความร้อนที่เกิดจากชาร์จนั้นก็จะสะสมมากขึ้น จนนำไปสู่การบวมหรือระเบิดได้ หากมีการสะสมที่มากพอพร้อมประกายไฟ
       
       และในส่วนของเครื่องชาร์จที่ระบบตัดไฟไม่ทำงาน การดันกระแสไฟเพื่อส่งไฟเข้าเครื่องตลอดเวลาที่เสียบสายชาร์จค้างไว้จะส่งผลให้แบตเตอรี่เกิดการสะสมความร้อนและดันให้แบตเตอรี่เกิดอาการบวมจนถึงขั้นระเบิดได้เช่นกัน แม้ว่าจะตัดวงจรแล้วก็ตาม
       
       2. ทำความรู้จักแบตเตอรี่ของคุณให้ดีก่อน
       
       การใช้งานแบตเตอรี่ให้ถูกวิธีมีอยู่ในคู่มือการใช้โทรศัพท์มือถือในแต่ละรุ่น โดยการดูแลรักษาตามคู่มือเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
       
       แบตเตอรี่แต่ละประเภทหรือแม้กระทั่งความจุและแรงดันไฟนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการดูแลรักษาจึงต่างกันเป็นธรรมดา การศึกษาคู่มือในส่วนของแบตเตอรี่ก่อนการใช้งานสักนิดเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้เสียเวลาเท่าการรักษาเมื่อเกิดอาการระเบิดขึ้นโดยไม่คาดคิด
       
       แต่ในกรณีที่ไม่มีคู่มือ แบตเตอรี่โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิที่เปลือกแบตเตอรี่สามารถรับได้อยู่ในช่วง 0-50 องศาเซลเซียสเท่านั้น และการชาร์จนับเป็นจำนวนครั้งเมื่อครบกำหนดเซล แบตจะเริ่มเสื่อมและสิ้นอายุลงราว 2-3 ปี และหากต้องการเก็บรักษาแบตเตอรี่ที่ไม่ได้ใช้ให้นานขึ้น ควรชาร์จไฟเข้าประมาณ 40% และเก็บใส่ถุงให้ดีพร้อมแช่ในตู้เย็นที่ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง
       
       แต่ท้ายที่สุดเมื่อไม่ได้ใช้นานๆแบตเตอรี่นั้นก็จะเสื่อมสภาพตามระยะเวลาจนใช้ไม่ได้
       
       3. เลิกงก...พร้อมเปลี่ยนแบตใหม่เมื่อพบสิ่งผิดปกติ
       
       แบตเตอรี่ที่ดีจะไม่มีความร้อนสะสมไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่าแบตเตอรี่ร้อนผิดปกติก็ควรจะยอมควักกระเป๋าเปลี่ยนใหม่ รวมถึงแบตเตอรี่ที่มีความผิดปกติที่รูปร่างที่เปลี่ยนแปลง เช่น การบวมของเซลภายในแบตเตอรี่เอง
       
       ก่อนอื่นต้องบอกว่า การคายประจุหรือการใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของเครื่องมือถือนั้น ระบบระบายความร้อนของแบตเตอรี่จะสัมพันธ์กับปริมาณความร้อนที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน อาการร้อนของแบตเตอรี่มักเกิดจากการทำปฏิกิริยาภายในของเซลแบตเตอรี่ ซึ่งปกติจะส่งผลเพียงแค่อุ่นมือเท่านั้น
       
       ดังนั้น หากพบว่าแบตเตอรี่มีอาการร้อนผิดปกติจนรู้สึกได้ ควรหยุดชาร์จและรอให้แบตเย็นลง เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ที่มีอาการบวม ขอแนะนำว่าควรเปลี่ยนแบตเตอรี่ทันที เนื่องจากอาการบวมของแบตเตอรี่มักเกิดจากเซลภายในที่เก็บประจุไฟเกิดอาการผิดปกติขึ้น
       
       4. แบตเตอรี่ไม่ควรใช้เกิน 3 ปี
       
       โดยปกติทั่วไปอายุของแบตเตอรี่จะสามารถใช้งานได้อยู่ประมาณ 2-3 ปีเป็นอย่างมาก แต่เราจะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะเปลี่ยนแบตเตอรี่จากอาการเสื่อม ที่จะเริ่มเกิดขึ้นเป็นบางเซล
       
       ความผิดปกตินี้จะส่งผลให้การชาร์จและการใช้งานแบตเตอรี่เกิดอาการแบตวูบ โดยจะมีลักษณะชาร์จเท่าไหรก็ไม่เต็มบ้าง หรือชาร์จไม่กี่นาทีแบตก็เต็มแต่ใช้งานได้ไม่กี่นาที และหากใครเคยสังเกตสัญลักษณ์แบตเตอรี่ที่แสดงอยู่บนมือถือ จะเห็นอาการแบตวูบได้ชัดเพราะแทนที่แบตจะลดทีละขีดกลับลดทีเดียวหายไป 2 ขีดเป็นต้น
       
       ทั้งหมดเป็นการเตือนว่าแบตเตอรี่ของท่านควรเปลี่ยนใหม่ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น แน่นอนว่าการเลือกเปลี่ยนแบตเตอรี่ควรเลือกยี่ห้อที่ได้มาตรฐานรับรองเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง โดยหากเป็นแบตชนิดที่ไม่สามารถถอดเปลี่ยนเองได้ควรเข้าศูนย์บริการที่เชื่อถือได้
       
       และที่สำคัญ ไม่ควรซื้อแบตเตอรี่เก็บไว้หากไม่จำเป็นต้องใช้ เนื่องจากอายุของแบตเตอรี่เริ่มนับตั้งแต่ออกจากโรงงาน ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ก็จะอยู่ได้เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น
       
       5. อย่าหลงลืมมือถือในที่ร้อนจัด
       
       การลืมโทรศัพท์มือถือในรถยนต์ที่จอดตากแดดอาจจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนเกินกว่าแบตเตอรี่จะรับได้ นอกจากจะทำให้แบตเตอรี่เกิดอาการเสื่อมเร็วกว่ากำหนดแล้ว อาจเป็นสาเหตุให้แบตเตอรี่เกิดการระเบิดได้
       
       ปกติแล้ว โทรศัพท์มือถือจะมีความร้อนเกิดขึ้นจากการทำงานของตัวเครื่องอยู่ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อความร้อนภายนอกสูงกว่าตัวเครื่องการระบายความร้อนจะถูกถ่ายเทมาที่เครื่องโทรศัพท์มือถือมากกว่าความร้อนของมือถือถ่ายเทออก ส่งผลให้ตัวเครื่องเกิดความร้อนสะสมอย่างที่ไม่ควรจะเป็น และหากภายในเครื่องเกิดความผิดปกติจนเกิดประกายไฟ แบตเตอรี่ที่เป็นเสมือนระเบิดที่คอยการประทุอยู่แล้วก็จะเริ่มทำงานทันที การป้องกันที่ดีคือการมีสติก่อนเดินออกจากรถ
       
       6. อย่าไว้ใจระบบนิรภัยใดๆในโลก
       
       ระบบการตัดไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีการป้องกันเป็นอย่างดีที่เรียกว่าดีเกินไป เพราะเมื่อแบตเกิดความร้อนจัดเกินกว่า 90 องศาเซลเซียส ระบบจะตัดการทำงานทันที และหากความดันเพิ่มสูงเกินกว่าที่กำหนดระบบก็จะตัดการทำงานอีกเช่นกัน และในทางกลับกันเมื่อแบตเตอรี่เกิดแรงดันไฟต่ำกว่าที่กำหนดระบบก็จะตัดการทำงานเพื่อป้องกันความเสียของระบบที่มีไฟเลี้ยงไม่พอ โดยเมื่อแรงดันต่ำลงเป็นระยะเวลานาน ระบบนิรภัยดังกล่าวก็จะไม่กลับมาเป็นเช่นเดิม
       
       แน่นอนว่าเทคโนโลยีปัจจุบันมีระบบที่เมื่อตัดแล้วจะกลับมาต่อเองอัตโนมัติได้อีกครั้ง แต่ก็ไม่ควรมั่นใจว่าระบบทุกอย่างของแบตเตอรี่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม เพราะท้ายที่สุดแล้วการแจ้งเตือนเมื่อระบบดังกล่าวไม่ทำงานอาจจะกลายเป็นความเสียหายที่คุณรับไม่ได้
       
       อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ข้อนี้จะเป็นการป้องกันภัยที่ผู้ใช้ล้วนแต่ต้องสังเกตอาการเอง ซึ่งแม้จะยาก แต่เราเชื่อว่าการสังเกตในสิ่งที่ใช้อยู่ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่จะทำได้แน่นอน.
       
       **อัปเดทความรู้เรื่องแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือยุคใหม่***
       
       1.แบตรุ่นใหม่ไม่ต้องชาร์จครั้งแรกแบบ 7- 8 ชั่วโมงอีกต่อไป เนื่องจากแบตเตอรี่รุ่นปัจจุบันไม่มีการจำช่วงเวลาของการชาร์จไฟเหมือนที่แบตรุ่นเก่าเป็น แต่การทำงานแบบเต็มประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นเมื่อจำนวนครั้งของการชาร์จอยู่ที่ 4-5 ครั้งเป็นต้นไป
       
       2. การชาร์จครั้งต่อไปไม่จำเป็นต้องรอให้แบตหมด เพราะไม่เกิดประโยชน์แต่จะเกิดผลเสียต่อระบบนิรภัยของแบตเตอรี่เองที่จะไม่ทำงานหรือทำงานผิดปกติ

ขอบคุณที่มาจาก : http://www.manager.co.th/CBIZreview/ViewNews.aspx?NewsID=9560000085465

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่