DIY โชว์ผลงานประกอบเครื่องชาร์จไฟแบตเตอรี่/เพาเวอร์ซัพพลายเอนกประสงค์ ครับ

จากกระทู้ก่อนที่ผมสอบถามเกี่ยวกับหม้อแปลงของเครื่องเสียงกลางแจ้ง  ผมคิดที่จะนำหม้อแปลงลูกนั้นมาทำเครื่องชาร์จไฟแบตเตอรี่ไว้ใช้งาน  ในที่สุดผมก็ทำเสร็จแต่ไม่ได้ใช้หม้อแปลงลูกนั้น  ผมใช้หม้อแปลงลูกใหม่ซึ่งเป็นหม้อแปลงเทอรอยด์ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่ามาใช้งาน  หม้อแปลงลูกนี้ถอดออกมาจากเพาเวอร์แอมป์เก่าเป็นเพาเวอร์แอมป์คลาส A จึงมีขนาดใหญ่จ่ายกระแสต่อเนื่องได้มาก  กล่องผมใช้กล่องของ UPS เก่าเนื่องจากกล่องมีขนาดเล็กผมจึงติดตั้งหม้อแปลงแนวนอน ปกติการติดตั้งหม้อแปลงแบบนี้จะไม่แข็งแรง  ผมจึงใช้แผ่นเหล็กกล้าหนา 2.3 มิล มาประกบกัน 2 ชั้นเป็นตัวยึดหม้อแปลง ด้านล่างของแผ่นเหล็กยึดติดแท่น ด้านบนยึดติดกับโครงยิงรีเวทและยึดสกรูยึดเอาไว้ ด้านล่างของหม้อแปลงใช้แผ่นไม้หนา 1 เซ็นติเมตรรองเป็นฉนวนป้องกันไม่ให้หม้อแปลงช็อตลงแท่น  ทำแบบนี้จึงจะมีความแข็งแรงพอที่จะขนย้ายไปมาได้

หม้อแปลงลูกนี้ขดทุตยภูมิมีแรงดัน 40V-0-40V เรียงกระแสแบบครึ่งคลื่นด้วยไดโอดบริด 35 แอมป์ ต่อสายไฟด้านขั้ว + ไปใช้งานด้านเดียวขั้ว - ของไดโอดปล่อยว่างไว้  ขด 0V ต่อเข้าขั้ว - ของตัวเก็บประจุฟิลเตอร์ การต่อวงจรแบบนี้จะได้กระแสเพิ่มขึ้นเท่าตัวเพราะหม้อแปลง 2 ขดก็เสมือนมีหม้อแปลง 2 ลูกต่อขนานกัน  ไฟที่ได้จะเป็นไฟเลี้ยงเดี่ยวแรงดัน 50V ชาร์จลงแบตเตอรี่โดยตรงไม่ได้  ผมจึงใช้ DC บั๊คคอนเวอร์เตอร์แบบกระแสสูง 60A มาลดแรงดันและใช้โวลลุ่มทดรอบต่อโยงสายออกมาด้านหน้ากล่องทำให้ปรับแรงดันได้สะดวก  วงจรป้องกันผมใช้โมดูลหน่วงเวลาขนาดเล็กจ่ายกระแสได้10A หากใช้กระแสเกินรีเลย์ของโมดูลตัวนี้จะพังก่อนอุปกรณ์อื่น หากอยากชาร์จกระแสสูงเกิน 10A ก็ต้องต่อสายขั้ว NO เข้ากับขั้ว COM ของรีเลย์เข้าหากันแล้วต่อ R Shunt ให้โวลต์/แอมป์มิเตอร์ การชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ปกติผมจะไม่ชาร์จเกิน 10A ถ้าเกินแบตเตอรี่จะมีอายุสั้นลงชาร์จช้าจะเกิดความร้อนน้อยอายุแบตเตอรี่จะทนทานกว่า


ภาพถ่ายด้านหลังเครื่อง  ผมถอดช่องต่อสายโทรศัพท์ออกไปให้อากาศระบายได้ดีขึ้น ติดตั้งสวิทช์ปิดเปิด ปลั๊กไฟจะใช้ได้เฉพาะแบบ 3 ขาด้านขวามือ ด้านซ้ายแบบ 2 ขา ไม่ได้ต่อสายไฟ ฟิวส์และปลั๊ก IEC ติดแท่นใช้ของเดิม


เมื่อเปิดฝาออกจะพบหม้อแปลงเทอรอยด์ขนาดใหญ่กินพื้นที่ไปครึ่งหนึ่ง วงจรเรียงกระแสใช้บริดไดโอดตัวใหญ่และใช้ตัวเก็บประจุ 10,000uF 63V ถึง 4 ตัว มีตัวเก็บประจุแบบฟิมล์มต่อขนานลดอิมพีแดนซ์ความถี่สูง  แรงดันเมื่อผ่านวงจรเรียงกระแสจะได้ 50V จากนั้นต่อไปยังวงจร DC บั๊คคอนเวอร์เตอร์โดยโยงสายไปยังโวลลุ่มปรับแรงดันไปที่หน้าเครื่อง  ด้าน OUT ของ DC บั๊คคอนเวอร์เตอร์จะต่อเข้าโมดูลวงจรหน่วงเวลาซึ่งใช้เป็นตัวป้องกันพร้อมทำหน้าที่จำกัดกระแสไปในตัว


ที่ฝาด้านบนมีขั้วต่อสำหรับต่อรับพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์โดยใช้ไดโอด 10A 2 ตัวต่อขนานกัน  ไดโอด 2 ตัวนี้จะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้แรงดันจากตัวเครื่องย้อนไปที่แผงโซล่าเซลล์ คือกระแสจะเดินทางเข้าเครื่องได้ทางเดียวคือจากแผงมาที่เครื่องเท่านั้น  เครื่องชาร์จแบตเตอรี่เครื่องนี้นอกจากใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าชาร์จแบตเตอรี่ได้แล้วยังใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ที่มีแรงดันตั้งแต่ 25V ขึ้นไปจนถึง 120V มาชาร์จแบตเตอรี่ได้ด้วย


ภาพถ่ายด้านหน้าเครื่อง  ผมถอดวงจรแสดงผลเดิมของUPS ออกแล้วเจาะช่องใส่โวลต์/แอมป์มิเตอร์ลงไปแทน ตำแหน่งสวิทช์เดิมก็ติดตั้งโวลลุ่มปรับแรงดันเข้าไปได้เลยไม่ต้องเจาะช่องใหม่  จากนั้นเจาะรูใส่ไบโพดิ้งโพสต์ดำแดงเพื่อต่อสายไฟไปยังโหลด  สวิทช์ปิดเปิดตัวเล็กด้านล่างก็ต่อไปควบคุมวงจรหน่วงเวลา  รูปนี้ถ่ายตอนทดสอบจ่ายไฟให้หลอดไฟ 12V ซึ่งผ่านการทดสอบด้วยดี ทดสอบนำไปชาร์จแบตเตอร์ด้วยกระแส 10A เต็มนาน 4 ชั่วโมงหม้อแปลงแทบจะไม่ร้อนเลยส่วนที่ร้อนที่สุดจะเป็นฮีตซิงค์ของ DC บั๊คคอนเวอร์เตอร์ แต่ก็ไม่ได้ร้อนมากมายแค่พออุ่นๆ ยังสามารถใช้มือจับได้ความร้อนระดับนี้ใช้งานได้ปลอดภัยไม่ต้องติดพัดลมเพิ่ม

เครื่องนี้นอกจากผมจะนำไปชาร์จไฟแล้วยังจะใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟสำหรับการทดสอบอุปกรณ์ที่กินไฟเยอะๆ และจะใช้เป็นเพาเวอร์ซัพพลายให้กับเครื่องขยายเสียงคลาส D 2 เครื่องซึ่งจะใช้ตอนมีงานเทศกาลด้วยเรียกว่าใช้งานสารพัดประโยชน์กันไปเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่