เรื่องเล่าจาก ghostwriter ตนหนึ่ง

กระทู้สนทนา
สวัสดีครับ ผมมีประสบการณ์ในอาชีพ ghostwriter มาเเบ่งปัน
ลองติดตามกันดูนะครับ

"The Ghostwriter เรียกผมว่า นักเขียนผี"
ตอนที่ 1. นักเขียนผีสิง

    
   ย้อนไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ผมมีโอกาสได้อ่าน “The Law of Success” หรือในชื่อไทย “ปรัชญาชีวิต : ศาสตร์แห่งความสำเร็จ” ของ
“นโปเลียน ฮิลล์” นักเขียนแนวจิตวิทยาพัฒนาตนเองระดับปรมาจารย์ เนื้อหาในหนังสือก็จำไม่ค่อยได้แล้ว แต่สิ่งที่ยังคงจดจำได้อย่างแม่นยำก็คือในหน้าประวัติผู้เขียน นโปเลียนเล่าถึงประสบการณ์การพูดคุยกับ “แอนดรู คาเนกี้” มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่จุดประกายให้เขาตระเวนสัมภาษณ์มหาเศรษฐีกว่า 500 คน เพื่อไขความลับแห่งความสำเร็จ จนได้วิเคราะห์ เรียบเรียง และรวบรวมขึ้นมาเป็นหนังสือ ““The Law of Success” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดคัมภีร์แห่งการพัฒนาศักยภาพจนถึงทุกวันนี้

       และเมื่อผมเข้าสู่วงการหนังสือ เริ่มต้นจากการเป็น “คอลัมนิสต์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลที่ประสบความสำเร็จมากมาย จนกระทั่งเป็น GHOST WRITER , นักเขียน และ บรรณาธิการ ตามลำดับ ทำให้หลายๆ ครั้งคิดว่า หากนำสิ่งที่ได้เข้าไปสัมผัส ได้พูดคุยกับพวกเขาเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ถ่ายทอด ก็จะเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับท่านผู้อ่านได้ไม่น้อย

       โดยเฉพาะในบทบาท GHOSTWRITER ซึ่งอาชีพนี้ไม่ใช่แค่การรับจ้างเขียน ไม่ใช่แค่การเรียบเรียงบทสัมภาษณ์ แต่มันยังมีรายละเอียดอีกเยอะ สไตล์ใครก็สไตล์มัน แต่ถ้าเป็นสไตล์ผม ขั้นตอนสำคัญที่ถือว่าเป็นหัวใจในการทำหน้าที่นี้ก็คือ     
      “การเข้าสิงพวกเขาเหล่านั้นให้จงได้”

   อ๊ะ อ๊ะ อ๊ะ อย่าเพิ่งเหวอกันซิ มันไม่ใช่ทำนองมนต์ดำหรือไสยศาสตร์ เป็นการเปรียบเปรยน่ะ เพราะก่อนจะเริ่มลงมือเขียน ผมจะต้องอิน ต้องมีอารมณ์ร่วม เหมือนเราเข้าไปสิงเขา เข้าไปอยู่ในร่างเขา เข้าไปอยู่ในใจเขา จนมีความรู้สึกราวกับว่าเป็นบุคคลท่านนั้นๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างมีรสชาติ มีมิติ ไม่ต่างจากเจ้าตัวเขียนเล่าเอง ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ
   “เราต้องรู้สึกว่าเป็นคนคนนั้นจริงๆ”  
    
   เพราะถ้าผมไม่รู้สึกว่าเป็นคนคนนั้น แม้มีข้อมูลเป็นกระตัก แต่ผมก็ไม่สามารถเขียนออกมาได้ มันจะฝืนๆ พิกล จนกระทั่งเมื่อ “อิน” เมื่อ “รู้สึกจริงๆ” ราวกับเข้าสิงแล้วนั่นแหละ การเขียนจึงเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไหลลื่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมใช้มาจนถึงทุกวันนี้

   และไม่ใช่เฉพาะแต่การทำหน้าที่ GHOSTWRITER แต่ผมค้นพบว่า เมื่อเราทำสิ่งต่างๆ ด้วย “ความรู้สึกจริงๆ” งานที่ออกมามันจะมีคุณภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และจากการพูดคุยกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จหลายๆ ท่าน ต่างก็มีแนวทางคล้ายๆ กัน อย่าง “พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต” เคยเล่าให้ฟังถึงความสำเร็จของ “คุณโน้ส อุดม แต้พานิช” ในหนังสือ “The Hero ฮีโร่ จอมยุทธ์ มหาบุรุษ และสุดยอมโยมในดวงใจ” ว่า

       ‘ถ้าให้อาตมาวิเคราะห์แล้ว ความสำเร็จของคุณโน้สเกิดจากส่วนผสมหลายอย่าง แต่สิ่งที่อาตมาคิดว่าน่าจะปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ก็คือ ‘การรู้สึกกับมันจริงๆ’ หากคุณโยมท่านใดมีซีดี หรือ ดีวีดี “เดี่ยว 7” อยู่ ก็จะพบกับสโลแกนที่ว่า             
       “ไม่ได้มาอวดฉลาด ไม่ได้มาอวดความรู้
       ง่ายๆ โง่ๆ ซื่อๆ แต่เป็นความจริง         
       และรู้สึกกับมันจริงๆ”

       ‘อย่างถ้าใครติดตาม AF ติดตาม The Star (ส่วนอาตมาทีมงานเล่าให้ฟัง) ก็มักได้ยินสิ่งที่ติวเตอร์ย้ำกับผู้แข่งขันบ่อยๆ ในการร้องเพลงว่า ‘คุณต้องรู้สึกกับมัน คุณต้องรู้สึกกับมันจริงๆ’         
   
       ‘หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่คุณโน้สเล่าในเดี่ยวแต่ละครั้ง เวลาที่กล้องซูมไปที่แววตา เราจะเห็นว่ามันระยิบระยับเลย ด้วยเขาเล่าด้วยความตื่นเต้น เหมือนกับว่าเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ และที่สำคัญ เขารู้สึกกับมันจริงๆ                                        
   
       ‘เหมือนกัน เวลาไปบรรยายธรรม อาตมาก็รู้สึกกับสิ่งที่พูดจริงๆ รู้สึกว่า “สติ” สำคัญนะ เพราะช่วยชีวิตเราได้ หรือถ้าพูดเรื่องหิริโอตัปปะ ก็จะรู้สึกว่าความอายชั่วกลัวบาป มันทำให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่ทำให้ใครเดือนร้อน รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างความกตัญญูกตเวที การที่เราต้องร่วมด้วยช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม อาตมาก็บรรยายด้วยความรู้สึกจริงๆ         

   ‘ดังนั้นแล้ว “รู้สึกกับมันจริงๆ” อาตมาว่ามันเป็น key word สำคัญเลยแหละ ที่จะสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงานให้กับทุกๆ สาขาอาชีพได้อย่างน่ามหัศจรรย์’

   แต่ถ้าไปถาม “อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี” ท่านอาจจะเรียกเคล็ดลับข้างต้นนี้ว่า “รู้จักในสิ่งที่ทำอย่างถ่องแท้” ตามที่ “พระมหาสมปอง” ได้เล่าไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้  

       ‘ในกรณีของ “อาจารย์ถวัลย์” ถึงแม้พรสวรรค์และการได้ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็กๆ จะทำให้ท่านเห็นทางเดินของตัวเอง แต่จากการที่อาตมาได้อ่านประวัติ ได้ฟังท่านบรรยาย ได้สนทนาธรรมและชมผลงานศิลปะของท่าน อาตมาว่าเหตุการณ์ที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ น่าจะมีส่วนผลักดันให้ไม่มากก็น้อย
       ‘ตอนเรียนที่ศิลปากร วิชาที่อาจารย์ถวัลย์ทำคะแนนได้ดีมากๆ (ไม่ใช่ ‘D’ นะ) ก็คือกายวิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาพคน หรือสัตว์ ในชั้นปีที่ 1 อาจารย์ถวัลย์ทำคะแนนสูงอยู่ในระดับแถวหน้ามาโดยตลอด และเคยทำคะแนนได้สูงสุดถึง 100+ มาแล้ว                                    
   'เเต่ชั้นปีที่ 2 ต้องเรียนวิชานี้กับ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ผู้บุกเบิกและวางรากฐานศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทย อาจารย์ถวัลย์กลับได้คะแนนในวิชานี้เพียง 15 คะแนน ท่านจึงเข้าไปสอบถามศาสตราจารย์ศิลป์ คำตอนที่ได้รับคือ
       “ปลาของนาย (ที่วาด) ไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบ หรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ”

       ‘อาตมาว่าการคอมเม้นท์แรงๆ ของศาสตราจารย์ศิลป์ในครั้งนั้น มันน่าจะทำให้ท่านเก็ท เข้าใจอะไรบางอย่าง หรืออาจรวมถึงการเห็นแนวทางในการสร้างศิลปะให้โลกตะลึง            

   'อย่างอาตมาเอง ตอนที่ไปเยี่ยมชม ‘บ้านดำ’ ที่มีภาพวาดของท่านตั้งแสดงไว้มากมาย ทั้งๆ ที่ความรู้และเซนส์ทางศิลปะอย่างจำกัด แต่เวลาชมภาพม้าที่ตาโปนๆ ของท่าน มันก็ทำให้รู้สึกราวกับว่ากำลังจะวิ่งทะยานพุ่งออกมา (เลยไม่ค่อยกล้าเข้าไปใกล้ๆ กลัวโดนดีดน่ะ) ชมภาพสิงสาราสัตว์ต่างๆ ก็ช่างดูมีชีวิตชีวา มีพละกำลังน่าเกรงขาม                                  

   'ซึ่งอาตมาเชื่อว่า การที่ท่านสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาจนทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ถึงความมีเลือดมีเนื้อ “มันก็น่าจะเริ่มต้นมาจากการที่ท่านรู้จักสิ่งที่ท่านวาดอย่างถ่องแท้ และรู้สึกกับสิ่งเหล่านั้นจริงๆ” ทำให้ม้าของท่านดูมีชีวิต ราวกับว่าสามารถวิ่งออกมาจากผืนผ้าใบ วาดภาพนกอินทรีย์ ก็เหมือนกับมันโบยบินอยู่ด้วยกำลังปีกอันมหาศาล วาดภาพปลา ก็ช่างน่าฉัน เอ้ย แทบได้กลิ่นคาวโชยออกมาเลย     

       ‘โดย “การรู้สึกกับมันจริงๆ” หรือ “รู้จักในสิ่งที่ทำอย่างถ่องแท้” ใช่จะเวิร์คกับอาชีพในแวดวงศิลปะเท่านั้น แต่มันสามารถนำไปประยุกต์ได้ในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งสำหรับผู้ที่คิดว่ายังค้นหาตัวเองไม่เจอ อาตมาก็อยากให้คุณโยมลองมองสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็น มองงานที่ตัวเรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า         
   “ที่ผ่านมา เราได้รู้สึกกับมันจริงๆ
       และรู้จักในสิ่งที่ทำอย่างถ่องแท้แล้วหรือยัง ?"

   ในวันนี้ ไม่ว่ากำลังทำอะไร ประกอบอาชีพใดอยู่ ลองถามตัวเองดูนะครับ “รู้สึกกับสิ่งที่ทำจริงๆ แล้วหรือยัง ?”
   ถ้ายัง ก็ต้องหาความรู้ หาหนทางที่จะ “รู้จักในสิ่งที่ทำอย่างถ่องแท้”
   รับรองครับว่าถ้าทำได้อย่างนี้ นอกจากคุณจะประสบสำเร็จแล้วในหน้าที่การงานแล้ว
   ยังได้รับกำไรเป็นความสุขระหว่างนั้นอีกด้วย
       ลองดูกันเนอะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่