เทคนิคการปั่นซ้อนจักรยาน

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมจักรยานยิ่งแพง ยิ่งทำอะไรได้น้อยลง

ลองนึกถึงจักรยานแม่บ้านธรรมดาที่ค่าตัวไม่เท่าไหร่แต่ทำได้สารพัดอย่าง ต่างกับจักรยานแพงๆ ที่แม้แต่จะตั้งจอดเองนิ่งๆ ยังทำไม่ค่อยได้

ดังนั้นวันนี้ขอแชร์เรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทำกันในกลุ่มคนที่ปั่นจักรยานกันจริงจัง นั่นคือ การปั่นซ้อน นั่นเอง

เนื่องจากมีคนทักหลายครั้งเรื่องการปั่นซ้อนว่าจะต้องทำยังไง ติดตั้งอะไรขึ้นมาบ้าง เลยขอรวบรวมเอาไว้ที่นี้เลยแล้วกันครับ

เริ่มตั้งแต่ตัวจักรยานกันก่อนเลย

1. จักรยาน

ชนิดของจักรยานมีผลค่อนข้างมากต่อการปั่น จากประสบการณ์เคยทำที่นั่งซ้อนตั้งแต่

จักรยานพับ, ไฮบริท, เสือภูเขา และพบว่า จักรยานพับถ้าเป็นโครงเหล็กจะแข็งแรงมาก แต่หนัก ข้อเสียคือมันสั้นไปหน่อยครับ

เวลาปั่นแล้วขาจะไปโดนคนข้างหลัง พาลจะเจ็บไปด้วย

ส่วนไฮบริท ตอนนั้นล้อ 700x28c เลย (ดูไม่น่าเชื่อว่าจะนั่งซ้อนได้ใช่ม่ะ) ก็เคยใช้มาครับ ไม่มีปัญหาหัก ขาด พังอะไรทั้งนั้น

แต่ข้อเสียของมันคือ ด้วยยางที่เล็กที่ให้จังหวะกระแทกค่อนข้างจะสะเทือนเป็นพิเศษ และสุดท้ายคันนี้ก็โดนโจรขโมยไปเป็นที่เรียบร้อย


จักรยานพับก็คือคันหน้า ไฮบริทก็คือคันที่อยู่ไกลๆ ครับ ตัวจริงใช้งานจริง

สุดท้ายก็ได้มาลงเอยกับจักรยานเสือภูเขา ที่มีโครงสร้างเหมาะสมมาก และด้วยล้อที่ใหญ่ + กับการมีโช๊ค ทำให้การขับขี่สบายขึ้นกว่าเดิมครับ



แต่จักรยานเสือภูเขาที่สามารถติดตะแกรงท้ายได้อย่างแข็งแรงนั้น ให้สังเกตตัวจักรยานว่ามีรูน๊อตในตำแหน่งลูกศรสีแดงไหม ถ้ามีมันจะเข้ากับตำแหน่งของตะแกรงท้ายพอดีครับ



(จักรยานบางรุ่นไม่มีรูน๊อตให้ ก็สามารถไปยึดกับรูตัวรัดหลักอานแทนก็ได้นะ แต่ความแน่นจะน้อยกว่า)

2. ตะแกรงท้าย

เมื่อได้จักรยานมาแล้ว ต่อไปก็คือการหาตะแกรงท้ายมาติดครับ ตะแกรงจะมี 2 แบบใหญ่ๆ คือแบบหลบดิสเบรค กับไม่หลบดิสเบรค (ใช้กับ V เบรค) ก่อนซื้อให้ลองดูก่อนนะครับ

ว่าทำจากวัสดุอะไร จับงัดแล้วแข็งดีหรือเปล่า และตะแกรงท้ายดีๆ ด้านหลังจะมีรูให้ติดไฟท้ายด้วยครับ สำคัญมาก อ้อ แล้วก็อย่าลืมซื้อเบาะด้วย คนนั่งจะได้ไม่เจ็บก้น

3. คนปั่น คนซ้อน

คนปั่นแรงกดต้องถึงระดับหนึ่ง เพราะการขี่ซ้อนก็เหมือนการใช้จักรยานหนักเกือบ 70kg ดังนั้นมันไม่เบาขาแน่ๆ ครับ ต้องกด โดยเฉพาะตอนจังหวะออกตัว

บังคับให้มั่น เพราะเมื่อซ้อน น้ำหนักจะกดไปที่ล้อหลังมากกว่า ล้อหน้าจะเบา หน้าจะไวมากขึ้นนั่นเอง และเมื่อเลี้ยวด้วยน้ำหนักของคนหลังจะทำให้รถส่ายกว่าปกติด้วย

มีสติ อันนี้สำคัญมากครับ เพราะมีอีก 1 ชีวิตที่เราต้องรับผิดชอบอยู่ข้างหลังเรานั่นเอง

พูดถึงคนซ้อนก็มีผลเหมือนกันครับ คือลักษณะการนั่ง นั่งคร่อม จะมั่นคงกว่านั่งข้าง และการนั่งควรหาที่วางเท้าด้วย (ไม่งั้นจะเมื่อย) และอย่าแกว่งตัวไปมานะครับเดี๋ยวพาลจะล้มเอา

หากสามารถจับได้ จับเอวหรือบ่าคนขี่ จะช่วยลดการส่ายได้มากเลยครับ


มาพูดถึงเทคนิคกันบ้าง ลองอ่านไว้เป็นไอเดียนะครับ

1. โช๊คหน้าควรปรับแข็งมากกว่าปกติ เนื่องจากเวลาเบรคหรือกระแทกด้วยน้ำหนักที่ถ่ายมาด้านหน้ามากกว่าปกติ ทำให้โช๊คยุบตัวมากกว่าปกตินั่นเอง

2. อย่าล๊อคโช๊ค ด้วยน้ำหนักที่มาก กระแทกทีตัวล๊อคอาจหักได้นะครับ

3. กดเบรคให้ลึกกว่าเดิม ก็โมเมนตัมเยอะนี่นา การออกตัว การหยุดจะทำได้ยากกว่าปกติอยู่แล้วครับ

4. ปรับอานให้เท้าถึงพื้นจะดีกว่า เวลาต้องหยุดกระทันหัน เท้าจะได้ยันพื้นทัน

5. ยางยิ่งใหญ่ยิ่งนุ่ม ยางใหญ่จะเหมาะสมมากกว่าเพราะมีพื้นที่กระจายแรงลงพื้นมากกว่า

6. เติมลมต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ล้อจะนิ่มกว่าเดิมลดแรงกระเทือนไปที่คนซ้อนได้มาก และลดโอกาสที่ยางจะแตกตอนตกหลุมได้ด้วย

7. ระวังชายเสื้อคนซ้อนบังไฟ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสสูงที่ชายเสื้อลงมาบัง ดังนั้นควรหาที่ติดไฟเพิ่มเติมด้วยนะครับ

8. หาที่วางเท้าให้ด้วย การนั่งงอขาเป็นอะไรที่เมื่อยมากครับ ดังนั้นควรมีที่วางเท้าที่ปลอดภัยไม่เข้าไปในวงล้อหรือโซ่ ตะแกรงท้ายบางรุ่นจะมีแกนเหล็กงอกลับมาทำให้พอวางเท้าได้เหมือนกันครับ

9. หมั่นเช็คอุปกรณ์ ว่ามีตรงไหนชำรุดเสียหายหรือหลวมคลอนอยู่เสมอด้วยนะครับ

10. ปั่นไปคุยกันไป มีความสุขกว่าปั่นคนเดียวเยอะครับ

หวังว่าเทคนิคนี้จะพอเป็นแนวทางให้คนอื่นๆ ได้นะครับผม และขอแถมท้ายด้วยวีดีโอ ปั่นฝัน ปั่นไปเยาวราชไว้ดูพักสายตาเลยแล้วกัน

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวของปั่นฝันได้ที่ www.facebook.com/punfunbike นะจ๊ะ
เพจนี้ทำขึ้นจากความชอบการเดินทางของตัวเอง รวบรวมไว้เป็นแนวทางให้คนอื่นๆ ครับผม

ปล. สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมไม่ใช้จักรยานแม่บ้าน หรือซื้อสองคันไปเลย คำตอบก็คือ ก็เสือภูเขามันมีเกียร์ให้เล่นเยอะดีอ่า และถ้าซื้อสองคันก็ไม่ตรงกับเทคนิคข้อ 10 น่ะซิ

ปล.2 การปั่นจักรยานซ้อนผิดกฏหมายไทยนะจ๊ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่