“เจ๊ฉอด-เอส” เมิน "เกย์นที" ต้าน “คลับฟรายเดย์” ถามศึกษางานตนดีหรือยัง ยันไม่เปลี่ยนแนวเพราะไม่ล่อแหลม

กระทู้สนทนา

“เจ๊ฉอด” ไม่เต้นตาม “เกย์นที” หลังเตรียมต้าน “คลับฟลายเดย์” อ้างขัดศีลธรรม ยันภาพไม่แรง ถามกลับศึกษางานตนดีหรือยัง บอกทำซีรีย์มา 10 ปีไม่เคยมีปัญหาเพราะเป็นเรื่องจริงที่ช่วยสะท้อนสังคมป่วย มั่นใจตนทำดีมาตลอดและไม่คิดเปลี่ยนแนว บอกหากอยากรณรงค์เรื่องความรุนแรงในผู้หญิง คงต้องแก้ตั้งแต่ข่าวเช้ายันละครทุกช่อง ด้าน “เอส วรฤทธิ์” ยันไม่มีภาพล่อแหลมแน่นอน
       
        หลังจากที่ “นายนที ธีระโรจน์พงษ์” หรือ “เกย์นที” ประธานกลุ่มเชียงใหม่อารยะ เป็นแกนนำลุกขึ้นมาจี้ช่อง 8 ขอให้ระงับการออกอากาศละครเรื่อง “ผัวชั่วคราว” ของผู้จัด “เอ๊ะ อิศริยา สายสนั่น” โดยระบุว่าเนื้อหามีความขัดแย้งทางศีลธรรมระหว่างแม่และลูกสาว ซึ่งถ้าหาข้อสรุปไม่ได้ก็จะยื่นหนังสือต่อ คสช. เพื่อให้ดำเนินการต่อ และเตรียมเชือด “คลับฟรายเดย์” ต่อโดยเฉพาะตอนที่นำแสดงโดย ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย, เจสัน ยัง และ สายป่าน อภิญญา สกุลเจริญสุข ที่ร่วมถ่ายทอดชีวิตจริงของ “แอร์” ที่ออกมาเปิดเผยว่าใช้สามีคนเดียวกับแม่แท้ๆ ของตัวเอง โดยเกย์นทีระบุว่าซีรีย์ตอนดังกล่าวออนแอร์เมื่อไหร่ตนจะออกมาเคลื่อนไหวทันที
       
        ล่าสุดได้เจอ “ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสร้าง และ “เอส วรฤทธิ์ ไวยเจียรนัย” ในฐานะผู้อำนวยการผลิตคลับฟรายเดย์ เดอะ ซีรีย์ ทั้งคู่เลยขอชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว มั่นใจไม่มีภาพล่อแหลม แถมเป็นความตั้งใจดีที่อยากสะท้อนสังคมป่วย
       
        “ฟีดแบ็กจากซีซัน 4 มันมาแบบทวีคูณเหมือนกันนะครับ ส่วนหนึ่งคือเราย้ายมาอยู่ที่ช่องวัน ฐานคนดูก็จะเห็นเรามากขึ้น ในขณะเดียวกันแฟนเก่าๆ ของเราที่ตามมาตั้งแต่ซีซัน 1 ก็ขยายกลุ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าเทียบจากยอดวิวในยูทูปมันดับเบิ้ลขึ้นมาก ที่สำคัญคือยอดวิวต่อวันมันดีดค่อนข้างแรงมากครับ”
       
        “แต่ความแรงของเรื่อง ต้องบอกว่ามันแล้วแต่คอนเซ็ปต์ของแต่ละซีซัน อย่างซีซัน หรือรักแท้จะแพ้... เราก็จะเล่าถึง 2 ความต่าง คือเรื่องของความต่างกับความต้องการ มันเหมือนขาวกับเทา เหมือนคนที่มีสองด้าน อันหนึ่งก็จะเป็นใสๆ เป็นจังหวะโรแมนติกคอมเมดีไป แต่ที่กำลังออนแอร์อยู่คือ หรือรักแท้จะแพ้ความต้องการ ก็จะมีเรื่องราวของคุณนิติและคุณแอร์ ซึ่งมันก็ยังอยู่ในหมวดของความถูกใจ แต่ไม่ถูกต้อง เราแค่อยากจะนำเสนอความรักที่มันเริ่มต้นจากความไม่ถูกต้อง แต่จุดจบความรักของคนสองคนมันจะอยู่ด้วยกันได้จริงหรืออย่างนั้นมากกว่า”
       
        “แต่ที่คนบอกว่าแรงๆ สุดท้ายมันก็คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ผมมองว่าจริงๆ แล้วมันอาจจะมีเรื่องที่แรงกว่านี้ก็ได้นะ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของคุณแอร์ ตั้งแต่คุณแอร์โทรเข้ามาในรายการคลับฟรายเดย์ มันถูกพูดถึงและส่งต่อไปในโลกของโซเชียล เพียงชั่วข้ามคืนคนรู้จักเรื่องนี้ทั้งประเทศ”
       
        บอกแรงไม่แรงขึ้นอยู่กับมุมมองในการนำเสนอ แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่พบเจอในสังคมปัจจุบันอยู่แล้ว
       ฉอด : "ถ้าจะมองว่ามันแรง เราว่ามันอยู่ที่มุมมองการนำเสนอนะคะ เราต้องยอมรับความจริงว่าเรื่องราวรุนแรงเหล่านี้มันมีอยู่ในสังคมเราจริง อย่างวิถีทางของการนำเสนอในรูปแบบของละครก็เป็นแค่วิถีทางหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงเราใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ตื่นเช้ามาดูข่าวเราก็เจอ เปิดหนังสือพิมพ์เราก็เจอ ฉะนั้นการที่เราเจอจากข่าว เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ในการเอามาทำเป็นละครก็เหมือนเราเอามารวบตึงทำให้รู้ว่าบทสรุปของสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้สุดท้ายแล้วมันลงเอยอย่างไร มันจบอย่างมากกว่า”
       
        “การที่เราจะหยิบเรื่องราวใดๆ ก็ตามมาทำละคร เราจะเริ่มจากคอนเซ็ปต์ก่อนค่ะ จริงๆ แล้วต้นฉบับของคลับฟรายเดย์ มันเป็นเรื่องของการสร้างประเด็น แล้วให้คนที่อยู่ในประเด็นนั้นโทร.เข้ามา เมื่อมันเป็นละคร มันก็ยังมีเรื่องของประเด็น เราก็นำเอาเรื่องราวที่มันอยู่ในประเด็นนั้นๆ มานำเสนอ อย่างที่บอกว่าแต่ละซีซันมันก็จะมีโจทย์ที่แตกต่างกันไป”
       
        เอส : “ต้องบอกว่าสุดท้ายแล้วมันก็มาจากการรวบรวมเรื่องราว ที่เรารู้สึกว่ามันมีเรื่องราวที่เราอยากจะถ่ายทอด อยากจะเป็นสื่อที่จะแชร์ประสบการณ์ของกลุ่มคนฟังคลับฟรายเดย์ ที่เขาโทร.มาแชร์ประสบการณ์ของเขาให้มันกว้างมากขึ้น หรือเห็นเป็นภาพมากขึ้น อย่างที่พี่ฉอดบอกว่ามันอยู่ที่เจตนาของการสื่อสาร ของผู้ผลิตมากกว่า คนอาจจะมองว่ามันดูรุนแรง ยกตัวอย่างย้อนกลับไปหนึ่งเดือนที่แล้ว เราปล่อยเรื่องของคุณนิติ ซึ่งรับบทโดยคุณออย (ธนา สุทธิกมล) คุณคริส หอวัง ทุกคนบอกว่าต้องเป็นแนวอิโรติกแน่ แต่จนถึงตอนนี้เราออนแอร์ครบ 4 ตอนแล้ว จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้ว เราไม่ได้มีฉากโป๊เปลือยหรืออนาจารใดๆ เลยนะ”
       
        “แต่เรื่องเลิฟซีนของคลับฟรายเดย์ มันคือเลิฟซีนที่เรามองว่าเป็นเรื่องของศิลปะมากกว่า เรามองเรื่องของความอาร์ต แค่ถ่ายทอดให้คนรู้ว่าอารมณ์ของหนัง หรืออารมณ์ของตัวละครเค้ากำลังทำอะไรกันอยู่ แต่เราไม่ได้นำเสนอในแง่ของภาพลักษณ์ที่มันดูล่อแหลมหรือรุนแรง ซึ่งพอจบไปก็จะเห็นว่ามันไม่ได้มีอะไรเลย แต่สุดท้ายคนดูๆ แล้วรู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่เป็นการแอบคบชู้กัน มันไม่ถูกต้อง เขาก็รับรู้ได้ เขารู้ว่าความสัมพันธ์ของคู่นั้นลึกซึ้งขนาดไหนได้ เราก็ทำให้รู้แค่นั้น เพราะเราไม่ได้ขายเรื่องนั้น เราขายพล็อตเรื่องมากกว่าครับ”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่