GNET กลับมาอีกครั้ง(หลังตามสมาร์ทโฟนไม่ทัน)เป้าผู้เริ่มใช้สมาร์ทโฟน(กลุ่มนี้ไม่กังวลโลคอลแบรนด์)ขาย30,000เครื่อง/เดือน

GNET กลับมาอีกครั้ง(หลังตามสมาร์ทโฟนไม่ทัน) เปิดตัว 8 รุ่น เป้ากลุ่มผู้เริ่มใช้สมาร์ทโฟนยอดขาย 30,000 เครื่อง/เดือน (กลุ่มนี้ไม่กังวล โลคอลแบรนด์ )

ประเด็นหลัก

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทยังเป็นกลุ่มผู้เริ่มใช้สมาร์ทโฟน และคนที่มีกำลังซื้อไม่มากในต่างจังหวัด และนักเรียนนักศึกษา ถึงแม้สเป็กจะเทียบเท่ากับอินเตอร์แบรนด์รุ่นท็อป แต่ความคิดของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อจะไม่ยอมมาใช้ "โลคอลแบรนด์" อยู่ดี ส่วนการทำตลาดยังใช้ช่องทางจำหน่ายเดิม และตั้งเป้ายอดขายโทรศัพท์มือถือตระกูลใหม่ไว้ที่ 3 หมื่นเครื่อง/เดือน คาดว่าถึงสิ้นปีจะขายทำได้ 1-2 แสนเครื่อง มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทเตรียมปรับปรุงศูนย์บริการที่มีอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศให้สามารถซ่อมได้ทันที จากเดิมต้องส่งมาศูนย์ซ่อมใหญ่

"เดิมทีโมเดิร์นจีเนทจะเปิดตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ปัญหาทางการเมืองไม่สงบจึงค่อนข้างเสี่ยงถ้าจะเข้ามาตอนนั้น ในไตรมาสแรกก็ยังไม่ดีนักจึงตัดสินใจชะลอไปก่อนจนไตรมาส 2 และด้วยความจำเป็นทางธุรกิจจึงเปิดตัวโทรศัพท์มือถือตระกูลใหม่"


______________________________________

ส่ง"โมเดิร์นจีเนท"ชิงเค้กสมาร์ทโฟน ชู"สเป็กสูง-ราคาไม่แพง"ย้ำจุดขายเฮ้าส์แบรนด์


โลคอลแบรนด์ "จีเนท" หวนคืนสังเวียนมือถือหลังเก็บตัวเงียบนาน 3 ปี ยอมรับช่วงแรกปรับตัวไม่ทันยุค 2G ไป 3G พร้อมดีเดย์ขนทัพสมาร์ทโฟนลุยตลาดรอบใหม่ "ก.ค.นี้" พรึ่บเดียว 8 รุ่น ภายใต้คอนเซ็ปต์ "โมเดิร์นจีเนท" ย้ำจุดขาย "สเป็กสูงกว่าราคาถูกกว่า" เจาะกลุ่มผู้เริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนที่กระเป๋าไม่หนักทั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและคนต่างจังหวัด ตั้งเป้า 30,000 เครื่อง/เดือน

นายฑัศ เชาวนเสถียร ประธานกรรมการ บริษัท ไวร์เลส แอ๊ดวานซ์ ซิสเต็ม จำกัด ผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ "จีเนท" เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตั้งแต่ ก.ค. บริษัทจะกลับมารุกตลาดโทรศัพท์มือถืออีกครั้ง หลังจากชะลอการทำตลาดและหยุดนำสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดไป 3 ปี จากกระแสสมาร์ทโฟน แต่บริษัททำสินค้าออกมาตอบโจทย์ไม่ทัน ด้วยราคาเทคโนโลยีที่ยังค่อนข้างสูง ขณะที่ยอดขายฟีเจอร์โฟนตกลงมาก ทั้งยังมีคู่แข่งเพิ่มทั้งที่เป็นโอเปอเรเตอร์และอินเตอร์แบรนด์ที่ทำราคาลงมาแข่ง

"3 ปีที่เงียบไป คือรอให้ทุกอย่างพร้อมเพื่อกลับมาทำตลาดอีกครั้ง เพราะถ้าเราฝืนขายฟีเจอร์โฟนต่อไป หรือเพิ่มต้นทุนเพื่อขายสมาร์ทโฟนราคาสูง เราก็คงเจ๊งเหมือนผู้ผลิตมือถือระดับโลกบางรายไปแล้ว ตอนที่เงียบไปก็เป็นการขายรุ่นเก่า ๆ ให้หมดจากสต๊อก เช่น ฟีเจอร์โฟน สองซิม และสมาร์ทโฟนบางรุ่น เพื่อเตรียมพร้อมกลับมาอีกครั้ง ซึ่งพาร์ตเนอร์ที่เป็นช่องทางการขายต่าง ๆ และดีลเลอร์ใหญ่กว่า 20 รายทั่วประเทศยังคงให้การสนับสนุนเราอยู่"

โดยภายในปลาย ก.ค.นี้จะกลับสู่ตลาดอีกครั้ง ในคอนเซ็ปต์ "โมเดิร์นจีเนท" ซึ่งจะแตกต่างจากยุค 2G ที่เคยทำตลาด ตรงที่โปรดักต์ทั้งหมดจะเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้ซีพียูระดับควอดคอร์ขึ้นไป และมีราคาถูกกว่าอินเตอร์แบรนด์เมื่อเทียบสเป็กเดียวกันถึง 3 เท่า ในเฟสแรกจะออกมาทั้งหมด 8 รุ่น แบ่งเป็น ควอดคอร์ 4 รุ่น และอ็อกตาคอร์ (8 แกนสมอง) 4 รุ่น เช่น รุ่น A10 พร้อมหน้าจอขนาด 4 นิ้วขึ้นไปตามกระแสจอใหญ่ รวมถึงมีกล้องที่พัฒนาจนมีความละเอียดถึง 13 ล้านพิกเซลในกล้องหลัง และ 5 ล้านพิกเซล กล้องหน้า โดยยังคงคุณสมบัติ 2 ซิมไว้เหมือนเดิม

"ต้นทุนที่ถูกลงทำให้ก้าวไปสู่สมาร์ทโฟนได้ ที่สำคัญเราเป็นผู้ทำตลาดในประเทศไทยให้ G Group ที่ทำตลาดทั้งในอินเดีย (แบรนด์ G5), อินโดนีเซีย (G STAR) และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้มีอีโคโนมีออฟสเกลในการสั่งผลิตจำนวนมากด้วยต้นทุนเครื่องถูกลง เราจึงข้ามจากการทำโทรศัพท์มือถือเพื่อการสื่อสาร หรือ 2G มาเป็นโทรศัพท์มือถือที่มีการคำนวณได้เหมือนคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้สมบูรณ์แบบในยุค 3G ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 4,000 บาทขึ้นไป ถือว่าถูกที่สุดในตลาด และในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะมีรุ่นที่รับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นตัว เลือกในตลาดด้วย"

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทยังเป็นกลุ่มผู้เริ่มใช้สมาร์ทโฟน และคนที่มีกำลังซื้อไม่มากในต่างจังหวัด และนักเรียนนักศึกษา ถึงแม้สเป็กจะเทียบเท่ากับอินเตอร์แบรนด์รุ่นท็อป แต่ความคิดของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อจะไม่ยอมมาใช้ "โลคอลแบรนด์" อยู่ดี ส่วนการทำตลาดยังใช้ช่องทางจำหน่ายเดิม และตั้งเป้ายอดขายโทรศัพท์มือถือตระกูลใหม่ไว้ที่ 3 หมื่นเครื่อง/เดือน คาดว่าถึงสิ้นปีจะขายทำได้ 1-2 แสนเครื่อง มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทเตรียมปรับปรุงศูนย์บริการที่มีอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศให้สามารถซ่อมได้ทันที จากเดิมต้องส่งมาศูนย์ซ่อมใหญ่

"เดิมทีโมเดิร์นจีเนทจะเปิดตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ปัญหาทางการเมืองไม่สงบจึงค่อนข้างเสี่ยงถ้าจะเข้ามาตอนนั้น ในไตรมาสแรกก็ยังไม่ดีนักจึงตัดสินใจชะลอไปก่อนจนไตรมาส 2 และด้วยความจำเป็นทางธุรกิจจึงเปิดตัวโทรศัพท์มือถือตระกูลใหม่"

นายฑัศกล่าวต่อว่า ช่วงที่หายไป บริษัทหันไปรุกตลาดแท็บเลต "จีแพด" ด้วย ที่ผ่านมามียอดขายราว 40,000 เครื่อง/เดือน มีกลุ่มลูกค้าทั่วคอนซูเมอร์ทั่วไปและกลุ่มองค์กร เน้นไปที่การใช้งานเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ กระทั่งเมื่อรัฐบาลที่แล้วมีโครงการแจกแท็บเลตจึงทำตลาดยากขึ้น ประกอบกับคุณภาพของแท็บเลตที่แจกค่อนข้างแย่ ส่งผลกระทบต่อแท็บเลตที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อื่น ๆ ด้วยในแง่ความน่าเชื่อถือจึงขายไม่ได้ จากนี้ไปบริษัทจะหยุดจำหน่ายแท็บเลตเหมือนกับที่หยุดทำตลาดฟีเจอร์โฟน

ในแง่การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือปีนี้ คาดว่าจะแข่งขันกันหนักเหมือนปีที่ผ่านมา โดยแต่ละรายจะลงมาทำตลาดสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ขณะที่ฟีเจอร์โฟนจะเป็นปีสุดท้ายที่เกือบทุกแบรนด์จะวางจำหน่าย และในแง่เทคโนโลยีเกือบทุกแบรนด์แทบถึงทางตัน ทำให้แนวโน้มการแข่งขันเป็นไปได้ที่จะขยับลงมาที่เรื่องราคา

อย่างไรก็ตาม ยอดขายรวมโทรศัพท์มือถือปีนี้คาดเดาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่นิ่งและกำลังซื้อยังไม่กลับมาเต็มที่ จากปีที่แล้วยอดขายรวมทำได้ไม่ถึง 20 ล้านเครื่องตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ แต่โลคอลแบรนด์ยังคงมีพื้นที่ในตลาดนี้ ด้วยการจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่สเป็กดีกว่าในราคาเทียบเท่าอินเตอร์แบรนด์



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1404632112
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่