'อนาคตหนังไทยพื้นถิ่น' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม


          เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหนัง "ผู้บ่าวไทบ้าน" ที่ได้รับความนิยมในหลายจังหวัดภาคอีสาน จนกวาดรายได้ไปร่วมสิบล้านบาท ทั้งที่ยังไม่เข้าฉายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เมื่อหนังมีโอกาสเข้าฉายในกรุง กลับไม่ทำเงินเท่าที่ควร ทำรายได้ในสัปดาห์เปิดตัวไม่ถึง 4 ล้านบาท ด้วยซ้ำไป

          หากย้อนกลับไปในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับหนังชุด "แหยม ยโสธร" ของ หม่ำ จ๊กมก ดูจะเป็นเค้าลางที่น่าจับตามอง เมื่อหนังที่หยิบฉวยภาษาถิ่นอารมณ์ขันและบรรยากาศของพื้นที่ผู้คน ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมของอีสานได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง เพราะ แหยม ยโสธร ทุกภาคทำรายได้มากกว่า 50 ล้านบาท โดยเฉพาะภาค 1 กับภาค 3 ซึ่งเป็นตอนล่าสุด ทำรายได้เฉียดร้อยล้านบาท ตอกย้ำด้วยความสำเร็จของหนังเล็กๆ อย่างผู้บ่าวไทบ้านเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และเมื่อ 3 ปีก่อน ปัญญาเรณู ก็เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง จนมีการสร้างภาคต่อตามมาถึงสองภาค ก็พอจะอนุมานได้ว่า กระแสของ "หนังพูดอีสาน" กำลังก่อตัวขึ้นอย่างน่าสนใจ

          แต่หากมองให้ลึกยิ่งไปกว่านั้น ใช่ว่าหนังพูดอีสานจะมีแค่ตระกูล "แหยม" ของหม่ำ จ๊กมก เท่านั้น เพราะปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันนี้ หนังสัญชาติลาว ที่ภาษา วัฒนธรรม แทบไม่ต่างกันกับบ้านเรา อย่าง "ฮักอ่ำหล่ำ" โดยที่เนื้อหาเรื่องราว ตลอดจนความแพรวพราวของมุกตลกแบบเฉพาะถิ่นที่แทรกสอดอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ที่ดูสนุกไม่แพ้แหยม ยโสธร และผู้บ่าวไทบ้าน กลับไม่ประสบความสำเร็จหลังออกฉาย ซึ่งจะว่าไป ผู้บ่าวไทบ้านเองก็ใช่ว่าจะได้รับความนิยมถล่มทลาย เพราะรายได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับเก็บได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งจากการฉายเฉพาะในโรงหนังแถบภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีหนังเว้าอีสานอีกหลายเรื่องที่เข้าฉายในฐานะหนังกระแสหลัก แต่กลับไม่เป็นจดจำ อาทิ อีนางเอ้ย เขยฝรั่ง, ฮักนะสารคาม รวมถึงหนังอิสระที่เข้าฉายแบบจำกัดโรง อย่าง สิ้นเมษา ฝนตกมาปรอยๆ ก็ไม่อาจพาตัวเองเข้ามาอยู่ในความสนใจของคอหนังได้ จึงพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า กระแสหนังพื้นถิ่นอีสานกำลังมาแรง แต่ก็พอตั้งข้อสังเกตได้ว่า หนังพื้นถิ่นอีสานเป็นอีกแนวทางที่มีการสร้างกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าตัวหนังจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อาจหวังจับตลาดผู้ชมเฉพาะกลุ่ม หรือวางฐานะเป็นหนังกระแสหลักออกฉายในวงกว้างก็ตาม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หนังพูดอีสานก่อร่างสร้างตัวเองจนกลายเป็นอีกหนึ่งแนวทางของหนังไทย และน่าจะปรากฏตัวอย่างเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อยังมี แหยม ยโสธร ยังมีภาค 4 และภาคต่อของผู้บ่าวไทบ้าน ที่จะตามออกมาในเร็วๆนี้

          จะว่าไปแล้ว คนอีสานมักถูกนำมาเป็นคาแรกเตอร์ตัวละครในหนังไทยและละครโทรทัศน์อยู่บ่อยๆ ที่เห็นจนชินตาก็คือ บทคนรับใช้ ผู้ใช้แรงงาน ตัวตลกที่วางฐานะเป็นชนชั้นล่างในสังคม จนกระทั่งในช่วง 10 ปีมานี้ คนอีสานถูกจัดวางสถานะตัวตนขึ้นใหม่ในหนังไทย มีเรื่องราวเรื่องเล่าของตัวเองอย่างชัดเจน หาได้เป็นแค่ตัวละครตลกเล็กๆ ในหนังในละคร มีพล็อตที่เล่าถึงคนอีสานและวางคาแรกเตอร์บทนำอย่างชัดเจน มีเนื้อหาที่พูดถึงคนภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ แม้ประเด็นของหนังจะครอบคลุมในวงกว้างอย่างหนัง 15 ค่ำเดือน 11 มีการสร้างคาแรกเตอร์ของการเป็นฮีโร่นักบู๊ยอดสายลับใน บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม ของหม่ำ จ๊กมก หรือลดวัยหันมาเล่าเรื่องของคนหนุ่มสาวกลายเป็นตัวละครพระ-นาง ที่มีเรื่องราวเรื่องเล่าของตัวเองอย่างชัดเจนใน แหยม ยโสธร, อีนางเอ้ย เขยฝรั่ง, ฮักนะ’สารคาม, สิ้นเมษา ฝนตกมาปรอยๆ รวมถึงผู้บ่าวไทบ้าน ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังเหล่านี้ส่วนใหญ่บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่ของพวกเขาเอง หาได้ออกนอกอาณาเขตภูมิภาคอีสาน เป็นหนังพื้นถิ่นที่สะท้อนวิถีชีวิต ความคิดอ่านและวัฒนธรรมอีสานอย่างเด่นชัด จะมีออกนอกพื้นที่ไปบ้างก็เช่นหนัง บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม ทั้งสองภาค

          อาจจะเป็นวิธีคิดที่ตื้นเขินและมองแบบเหมารวมไปหน่อย หากจะชี้ว่า การเกิดขึ้นของหนังพื้นถิ่นอีสานมาจากจำนวนประชากรคนอีสานที่มีอยู่มากในประเทศ ทั้งในภาคอีสานเอง และที่กระจายตัวพำนักอาศัยในภูมิภาคอื่นๆ แน่นอนว่าอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด อาจเป็นมุมมองของคนทำหนังที่พยายามพัฒนาหาคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นมาใส่ในหนัง บางคนมองเป็นความ Exotic อันแปลกตา (เหมือนที่คนชาติอื่นมองประเทศไทย และนำเสนอผ่านในหนังทั้งฮอลลีวู้ด ยุโรป เอเชีย) หรือบางทีเป็นความรัก ความทรงจำส่วนตัวของคนทำหนังที่ผูกพันกับผู้คนและถื่นฐานบ้านเกิด อยากถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้ผ่านหนังของตัวเองบ้าง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากหนัง แหยม ยโสธร ของ หม่ำ ฮักนะ’สารคาม ของ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ผู้บ่าวไทบ้าน ของกลุ่มอีสานอินดี้ รวมถึงปัญญาเรณู ของ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ และลุงบุญมี ระลึกชาติ ของ "เจ้ย" อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (แน่นอนว่าเราก็เคยได้เห็นหนังที่มีบรรยากาศทางภาคเหนือในหนังของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ คนทำหนังที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดใน จ.เชียงใหม่ ผ่านหนังเรื่อง Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ มาแล้วด้วยเช่นกัน) ขาดเพียงหนังจากปักษ์ใต้ เพราะหลังจาก มหา’ลัยเหมืองแร่ ของ จิระ มะลิกุล และโอเค เบตง ของนนทรีย์ นิมิบุตร แล้ว ยังไม่เห็นหนังไทยเรื่องไหนนำเสนอภาพบรรยากาศและสะท้อนเรื่องราวผู้คนบนปลายด้ามขวานได้อย่างเด่นชัดอีกเลย

          เมื่อพื้นที่หนังไทยยังถูกเบียดด้วยหนังจากฮอลลีวู้ดอย่างที่เป็นอยู่ และมองว่าตลาดใหญ่ยังคงเป็นรายได้จากโรงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้บ่าวไทบ้านน่าจะเป็นบทเรียนที่คนทำหนังควรยกให้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เมื่อสุดท้ายหนังก็สามารถมีพื้นที่ของตนเองได้ สร้างฐานคนดูอย่างชัดเจน และเก็บรายได้เป็นกอบเป็นกำจากกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างที่หมายมั่นตั้งใจได้สำเร็จ มองตลาดที่ภูมิภาคอื่นซึ่งไม่ใช่กรุงเทพฯ ดูบ้าง ก็จะทำให้การเกิดขึ้นของหนังพื้นถิ่นมีโอกาสสูง (โดยเฉพาะเทคโนโลยีไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำหนังอีกต่อไปแล้ว) หนังที่สะท้อนวิถีวัฒนธรรมไม่ว่าจะคนอีสาน หรือล้านนา กระทั่งภาคใต้ ออก ตก หากเริ่มต้นจากการมีพื้นที่ของตัวเอง เจาะกลุ่มคนดูและสื่อสารกับเป้าหมายหลักได้อย่างตรงจุด ถ้าหากประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ สุดท้ายหนังเหล่านั้นก็จะเดินทางมาหาคนดูในภูมิภาคอื่นได้เอง อันจะนำมาซึ่งทางเลือกอันหลากหลายให้แก่คนดูหนังไทยในอนาคต


http://www.komchadluek.net/mobile/detail/20140704/187545.html











แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่