ทาง 2 แพร่ง Drifting Policy เร่งรัดเบิกจ่าย-กระตุกเบรกงบลงทุน!

กระทู้สนทนา
เรื่องของนโยบาย Drifting Policy ที่กำลังทำเอาหนทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศที่ทุกฝ่ายเพรียกหา “ปั่นป่วน”รวนกันไปหมด จะเดินหน้าก็ไม่ได้ถอยหลังก็ไม่ได้อีก ต้องอยู่ในสภาพ "ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก"

ใครที่เคยดูหนังฮอลลิวูดเรื่อง Fast & Furious ที่มีพระเอกหัวหลิม "วีน ดีเซล" แสดงนำคงจำภาค 3 ของหนังเรื่องนี้ที่ใช้ชื่อว่า Tokyo Drift ได้ดี หนังพูดถึงแก๊งสเตอร์ที่ซิ่งรถแข่งในลักษณะที่เรียกว่า Drifting เป็นตัวเดินเรื่อง นักซิ่งที่ต้องใช้ทักษะขั้นเทพในการขับขี่ เพราะเท้าต้องเหยียบคันเร่งมิดเกย์ มือข้างหนึ่งต้องดึงเบรกมือสุดแรงเกิด ขณะอีกข้างก็ต้องประคองพวงมาลัยบังคับให้รถวิ่งไปบนถนนที่คับแคบและคดเคี้ยว ล้อและยางที่ถูกบดเพราะแรงบิดมิดเกย์ กับการดึงเบรกมือเพื่อไม่ให้รถพุ่งทะยานไปข้างหน้า ทำให้รถหมุนแทบจะควงสว่าง บางครั้งหมุนวนวิ่งอยู่กับที่ก็มี เป็นการซิ่งรถขั้นเทพจริงๆ เพราะต้องเหยียบคันเร่งและกระตุกเบรกมือไปพร้อมกัน!

นโยบายของรัฐบาล คสช.ในวันนี้ก็อยู่ในสภาพ Drifting ที่ว่านั่นแหล่ะ เพราะด้านหนึ่งนั้นก็สั่งให้หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐทุกองคพายพ จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่นัยว่า “ค้างท่อ”อยู่กว่า 9.5 แสนล้าน จากผลพวงวิกฤตเศรษฐกิจที่ "จมปรัก" มานาน ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐพลอยได้รับผลกระทบ

ยอดเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมากว่า 6 เดือน ยังต่ำกว่าเป้าหมายจึงต้องเร่งสปีดเบิกจ่ายในโค้งสุดท้ายชนิดใส่เต็มสปีด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นกลับมาโดยเร็ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้สั่งให้กระทรวงการคลังจัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อทีว่านี้ไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา จนถึงกับที่ปลัดกระทรวงการคลังปฏิบัติหน้าที่ รมว.คลัง ได้ออกมาสำทับ หากหน่วยงานใดเบิกจ่ายงบล่าช้า "อืดเป็นเรือเกลือ" จะริบวงเงินที่เหลือเข้าคลังให้รู้แล้วรู้รอด

แต่ในอีกด้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็กลับออกมา “กระตุกเบรก” การเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนทั้งหลายแหล่ ด้วยการสั่งให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งชะลอการเบิกจ่ายงบประมาณ หรือการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ด้วยข้ออ้างต้องการตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินการ โดยหัวหน้า คสช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐ (คตร.) เพื่อติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในภาครัฐ

โดยเฉพาะการติดตามและตรวจสอบโครงการเมกะโปรเจ็คจำนวน 8 โครงการรัฐ ที่มีวงเงินจัดซื้อจัดจ้างหรือมีวงเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ที่ดำเนินการในรัฐบาลชุดก่อน อย่างโครงการจัดหาคอมพิวเตอร์พกพาแทบเล็ตของกระทรวงศึกษาธิการที่ คตร.สั่งล้มโครงการแจกแทบเล็ตเด็ก ป.1 ไป

ก่อนที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะสั่งให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างหรือโครงการลงทนอื่นๆ เพิ่มเติมอีก 28 โครงการ รวม 36 โครงการ ทั้งยังสั่งให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจัดส่งโครงการจัดซื้อจัดจ้างหรือโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท มาให้ คตร.และ คสช.ตรวจสอบก่อนดำเนินการอีกด้วย ทำเอาโครงการลงทุนต่างๆ ของหน่วยงานรัฐชะงักงันไปตามๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการโซล่าร์รูฟท็อป โซล์ฟาร์มกว่า 400 โครงการ โครงการประมูลเพื่อออกใบอนุญาตมือถือระบบ 4 จี บนคลื่น 1800 MHz

ล่าสุด คสช.ยังออกคำสั่ง คสช.ที่ 69/2557 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรการและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นภายในหน่วยงาน เพื่อเป็นคู่มือในการตรวจสอบและป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในหน่วยงานได้ ประกาศิต “สุดขั้ว” ของ คสช.ข้างต้น ที่ด้านหนึ่งต้องการให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดเบิกจ่ายชนิดแทบจะให้เหยียบมิดคันเร่ง ขณะที่อีกด้านกลับ “กระตุกเบรก” การจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งคณะทำงานไล่เบี้ย ที่สั่งทุกโครงการจะต้องส่งเรื่องให้ คสช.สแกนละเอียดยิบ ชนิดไม่ยอมให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเล็ดออกไปได้นั้น

แน่นอนว่าย่อมจะทำให้หัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหลายผวาเฮือกไปตามกันแน่ และคงเลือกที่จะปกป้องตัวเองหรือ Save ตัวเองไว้ก่อน เพราะธรรมชาติของการทำงานหรือปฏิบัติงานนั้นยิ่งทำมาก ก็ย่อมมีโอกาสผิดพลาดมากตามไปด้วย จึงย่อมไม่มีใครอยากเอาคอไปพาดเขียง ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกได้ว่า ไม่ต่างไปจากการซิ่งอยู่กับที่หรือ Drifting Policy ขนานแท้!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่