ม็อคค่าปาท่องโก๋ : ตะลุยกองถ่าย {สัมภาษณ์ผู้พันเบิร์ด และ ปีเตอร์-นพชัย}

สวัสดีครับ

      ขออนุญาต นำคอลัมน์ "ม็อกค่าปาท่องโก๋" ที่ผมเขียนประจำในเนชั่นสุดสัปดาห์นั้น มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เพื่อขอคำแนะนำ คำติชม เพื่อปรับปรุงงานเขียนต่อไปในอนาคตเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ

เนชั่นสุดสัปดาห์ เล่มที่ 1147-1148



“ม็อคค่า ปาท่องโก๋” ประจำวันหยุดสุดสัปดาห์นี้  มีโอกาสดีมากที่ได้สัมภาษณ์ดาราใหญ่สองท่านผู้นำแสดงใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” คือ “พ.ท.วันชนะ สวัสดี” หรือ “ผู้พันเบิร์ด” ผู้แสดงเป็น “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” กับ “ปีเตอร์” นพชัย ชัยนาม ผู้รับบท “พระราชมนู”

Mr. Coffee : จาก “นเรศวร 4” ถึง “นเรศวร 5” ทิ้งช่วงห่างนานถึง 3 ปี
ผู้พันเบิร์ด : ผมว่าการถ่ายทำไม่ช้าครับ โดยเริ่มต้น เราไม่ได้คาดหวังว่าหนังจะมีถึง 5 ภาค ผมเองคิดว่าจะมีภาคเดียวด้วย ดังนั้นบางฉากที่เราจะได้เห็นในภาคนี้ ถ่ายทำตั้งแต่ในภาค 1 คือถ่ายไม่ได้เรียงกัน แต่จะเป็นเนื้อเรื่องของสมเด็จพระนเรศวรทั้งหมด ตอนถ่ายไม่ช้าครับ มาช้าในขึ้นตอนการทำ CG และมีเหตุไฟไหม้ห้องทำ CG ด้วย
ปีเตอร์ : ที่เราทำ CG ไว้สำหรับภาค 5 คือไปหมดเลยครับ ต้องทำใหม่
ผู้พันเบิร์ด : เพราะตอนถ่ายทำไปเราก็ตัดต่อ แล้วส่งทำ CG ไปด้วยครับ พอไฟไหม้ ก็ต้องหาคนทำใหม่ เพราะไฟไหม้เครื่องมือไปด้วย ก็ได้ทางสหมงคลฟิล์ม รวบรวมผู้เชี่ยวชาญเท่าที่มีในเมืองไทย มาช่วยทำ CG ให้ครับ

Mr. Coffee : เหตุใดจำนวนภาคของหนังถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจะจบลงที่ภาคใด
ผู้พันเบิร์ด : ที่จริงภาคแรกคือภาคที่ 2 ที่จะมีรุ่นเด็กมาเสริมช่วงแรกครับ แต่มาพบว่าภาคเด็กมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่มากและคนไทยไม่ค่อยรู้ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ก็เลยตัดสินใจเอาช่วงเด็กมาเป็นภาค 1 แล้วเรื่องราวของพวกผมก็เลยกลายเป็นภาค 2 ส่วนเรื่องราวของพระยาจีนจันตุ ที่จริงเป็นเรื่องราวในช่วงที่พระนเรศวรกลับมาจากหงสาวดี แล้วมาเจอพระยาจีนจันตุก่อน อยู่ช่วงก่อนประกาศอิสรภาพและข้ามแม่น้ำสะโตงด้วยซ้ำ ถ้าตามประวัติศาตร์ ภาค 3 จะอยู่ในภาค 2 ทำให้ภาค 3 ถึงไม่ได้เน้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อะไรมากนัก แต่ตอนภาค 2 เราสร้างเรือสำเภาจีนไม่ทัน ด้านเทคนิคก็ยังไม่พร้อม ภาค 2 ก็เลยต้องตัดฉายไปก่อน ทั้งที่จริงแล้วเรื่องราวตอนพระยาจีนจันตุก็สำคัญ เพราะมีเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถ ก็เลยเอาการที่เชียงใหม่มารวมด้วย กลายเป็นภาค 3 ซึ่งที่จริงไม่มีก็ได้ แต่ท่านมุ้ยก็อยากให้ได้เห็นภาพการรบทางน้ำในสมัยนั้น ซึ่งถึงแม้เรื่องราวช่วงนั้นอาจน่าสนใจไม่มากนักและคล้ายสารคดี แต่ท่านมุ้ยก็อยากให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเห็นภาพแบบนี้

Mr. Coffee : แล้วภาคนี้จะเป็นภาคสุดท้ายหรือเปล่าครับ
ผู้พันเบิร์ด : ภาคนี้ภาคสุดท้ายแล้วครับ แต่ก็มีบางส่วนที่ผมได้ถ่ายทำไปแล้วและไม่แน่ใจว่าท่านต้องการอะไร แต่ก็น่าจบที่ภาคนี้แล้วครับ

Mr. Coffee :  อยากให้เล่าถึงฉากที่น่าสนใจใน นเรศวร 5 นอกจากฉากยุทธหัตถี
ปีเตอร์ : ภาคนี้ผมชอบความดราม่าครับ เหมือนจะดราม่ามากกว่าภาคอื่น ฉาก Action ดูจะน้อยกว่าภาคอื่นด้วยซ้ำ แต่ผมกลับชอบมากกว่า ผมชอบความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก ทั้งฝั่งไทยและพม่า มันมีการเปรียบเทียบหลายๆ อย่าง สลับไปสลับมา ส่วนตัวผมชอบนะ
ผู้พันเบิร์ด : คล้ายภาค 1 ครับ ตรงวิธีการเล่าเรื่อง
ปีเตอร์ : ความสนุกมันไม่ได้อยู่ที่  Action แต่อยู่ที่ความเข้มข้นของตัวละคร ซึ่งเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครฝั่งพม่าเยอะ จะได้เห็นการพลิกผันต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่ยุทธหัตถี
ผู้พันเบิร์ด : ศึกยุทธหัตถี ที่จริงไม่ใช่ศึกใหญ่เลยครับ ศึกใหญ่จริงๆ คือศึกนันทบุเรง (ภาค 4) มากกว่า เพราะอันนั้นกษัตริย์ยกทัพหลวงมาเอง เกณฑ์ 24 หัวเมืองมาร่วมรบ แต่ยึดอยุธยาไม่ได้ ยุทธหัตถีที่จริงเหมือนจะเป็นเหตุบังเอิญมากกว่าจากการผิดแผนบางอย่าง  แต่เป็นจุดที่สำคัญที่เป็นการยืนยันความเป็นเอกราชของอยุธยา

Mr. Coffee :  ได้ยินว่ามีการใช้ Motion Capture ในฉากยุทธหัตถี อยากให้อธิบายเทคนิคนี้ ทำไมต้องใช้ และผลเป็นอย่างไร
ผู้พันเบิร์ด : ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่า Motion Capture มันทำยังไง เป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นกับตัวท่านมุ้ยด้วยครับ เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับการชนช้าง แต่ท่านมุ้ยอยากได้ฉากที่ชนกันแรงๆ วิ่งเข้าใส่กันเต็มที่ ลองทำให้ช้างวิ่งกันดูหลายครั้ง ทั้งจุดประทัด ทั้งระเบิดไล่ ช้างก็ยังวิ่งไม่เร็วพอ ก็พยายามใช้เทคนิคช่วย ทั้งกล้องสวนภาพ ลมพัด มันก็ได้ส่วนหนึ่ง แต่พอชนก็ยังช้า ไม่เร้าใจอยู่ดี ท่านมุ้ยก็ไปหาสารคดีช้างแอฟริกาที่ชนกันจริงๆ เลือดกระจายมาดู ก็จะเอาแบบนี้ แล้วก็เลยตัดสินใจเอาช้างส่งไปให้ ปีเตอร์ แจ๊คสัน (ผู้กำกับ Lord of the Ring) เพื่อนของท่านดู แล้วก็เอาภาพการเคลื่อนไหวของช้างไทยทั้งหมดส่งไปให้ด้วย แล้วก็ลองเขียน CG ช้างไทยทับภาพของช้างแอฟริกาที่ชนกัน เสร็จแล้วก็มาวางคิวของเรา แล้วหลังจากนั้นก็ลองให้ผมขี่ช้างปลอมชนกับช้างจริง

Mr. Coffee :  ช้างปลอมคืออะไรครับ?
ผู้พันเบิร์ด : คือช้างจำลองขับเคลื่อนด้วยไฮโดรลิคครับ หัวเป็นโฟม มีผ้าเขียวคลุม มีจุดตามตัวตามตำแหน่งของ Motion Capture มีคนเชิดงวงช้าง ไม่มีขา แล้วผมก็ต้องวางคิวการขยับของตัวเราตามช้าง ว่าช้างกำลังจะทำอะไร ช้างเสียเปรียบ เราก็ต้องรับ พอได้เปรียบก็ต้องกลับไปรุก คราวนี้พอเอาไป Match ในคอมพิวเตอร์ มันไม่ได้ ก็ต้องถ่ายใหม่ ผมก็ทำซ้ำเดิม คนละมุม ถ่ายไปเรื่อยๆ
ปีเตอร์ : จน Action ของคนกับช้างจะไปด้วยกันได้
ผู้พันเบิร์ด : ถ่ายวันละนิดครับลองดู พอเสร็จแล้วก็โดนไฟไหม้! ก็เลยต้องเอาฟิล์มมารวบกันใหม่ เสียงก็ไม่ Sync ไม่ตรง เสียเวลาหาไปมากมาย (ช่วงนี้ผู้พันเบิร์ดเอาคลิปภาพเบื้องหลังที่ถ่ายทำให้ดู) การถ่ายทำฉากนี้เลยใช้เวลาและมีความละเอียดมาก ถึงขั้นต้องมีการเช็คคิวกันถึงระดับการฟันง้าว พระนเรศวรกับพระมหาอุปราชถนัดมือไหน เพราะมีการฟันขาดสะพายแล่ง รวมถึงต้องตรงกับพระมาลาเบี่ยงด้วย มีรายละเอียดมากมายจริงๆ สำหรับฉากนี้ เราศึกษากันแม้กระทั่งว่า จะต้องฟันย้อนเกล็ดหรือตามเกล็ด (เกราะของพม่าเป็นเกล็ด) เพราะตามเกล็ดก็อาจไม่ขาดในครั้งเดียว
ปีเตอร์ : ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการทดลองจริงครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยครับ จนได้ข้อสรุปที่ทุกคนยอมรับ
ผู้พันเบิร์ด : เพราะในความจริงแล้ว ไม่เคยมีใครเห็นภาพเคลื่อนไหวจริงๆ ในประวัติศาตร์ของการยุทธหัตถีเลย ทั้งหมดต้องทดลอง ศึกษา จนกระทั่งมาได้เป็นสิ่งที่เราจะได้เห็นในหนังครับ

Mr. Coffee :  ตัวง้าวน่าจะต้องมีน้ำหนักมากนะครับ ถึงจะฟันคนขาดสะพายแล่งได้
ผู้พันเบิร์ด : ใช่ครับ ผมว่าน้ำหนักของง้าวสำคัญกว่าความคมด้วยซ้ำ เพราะต้องอาศัยโมเมนตัมของการเหวี่ยงง้าว

Mr. Coffee :  เหมือนจะต้องมีจังหวะที่ถูกต้องทั้งหมดระหว่างช้างและคน
ผู้พันเบิร์ด : ใช้ครับ ถ้าช้างเราเสียเปรียบก็ไม่สามารถฟันได้ ช้างเสียเปรียบคือช้างอยู่ข้างบน ช้างได้เปรียบคือช้างอยู่ข้างล่าง พอช้างเราได้งัด ก็จะสามารถฟันได้

Mr. Coffee : ถามถึงพัฒนาจากของ “นเรศวร” ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงปัจจุบัน
ผู้พันเบิร์ด : สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุด ก็เป็นเรื่องของ Computer Graphics หรือ CG โดยการใช้กล้องที่เปลี่ยนไป คือเราไม่ได้ใช้กล้องระบบฟิล์มแล้ว เราใช้กล้องที่ถ่ายแล้วสามารถเอาทำ CG ได้เลย เป็นกล้องที่มีความคมชัดสูง ยี่ห้อ Red ผมว่าหนังเรื่องนี้ได้สร้างมาตรฐานให้กับวงการภาพยนตร์ไทย ทั้งในแง่ของเทคนิค รวมไปถึงทีมงาน ทีมงานได้ความรู้จากเรื่องนี้ไปเยอะมาก เช่นทีมงาน Prop ที่ทำชุดเกราะ จะเห็นว่าในหนังหรือละครเรื่องอื่นๆ ได้มีการทำชุดเกราะแบบเราเพิ่มขึ้นมาก พวกเทคนิคก็มีการพัฒนาขึ้นมาก ผมว่าถ้าวงการภาพยนตร์บ้านเรามีหนังใหญ่ๆ แบบนี้ มันก็จะพัฒนาไปเร็วมากขึ้น อย่าง CG นี่พัฒนาไปเยอะครับ หลายจุด ผมว่าคนดูอาจไม่รู้ว่าเป็น CG ด้วยซ้ำ
ปีเตอร์ : หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า CG นี่ท่านมุ้ยเขียน Guide เองเลยครับ เขียนเพื่อให้ทีม CG ไปลงรายละเอียด
ผู้พันเบิร์ด : เวลาทำ CG ท่านจะเรียกพวกเราไปดูด้วยครับ แล้วท่านก็เขียนให้ดูในจอตรงนั้นเลย

Mr. Coffee : ทราบมาว่าหนังเรื่องนี้ มีการใช้ทั้งกล้องฟิล์ม ทั้งกล้องดิจิตอล
ผู้พันเบิร์ด : ถ้ามองในมุมวิธีการถ่ายทำ ไม่ค่อยได้เปลี่ยนไปนะครับ ยังคงทำเหมือนเดิมตั้งแต่ภาคแรก คือสมัยนั้นมีเทคนิคอะไรใหม่ๆ เราก็นำมาใช้
ปีเตอร์ : ในด้านบุคลากรเราได้เรียนรู้ ได้พัฒนาไปพร้อมๆ เพราะท่านมุ้ยทำเป็นทุกอย่างจริงๆ ครับ มีหนังสือเบื้องหลังหนังเพียบเลย มีบางอุปกรณ์ที่ทำขึ้นมาใหม่เองเลย เลียนแบบจากหนังฝรั่ง แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือผมมองว่าทำงานกับท่าน ทีมงานจะรู้สึกว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ท่าน Build ให้ทุกคนคิดไว้ว่าเราทำได้ อะไรที่ยาก บางอย่างท่านมุ้ยก็รอ บางครั้งคอยนานมาก จนดูเหมือนจะไม่ทำแล้ว หรือทิ้งไปแล้ว แต่จริงๆ ท่านไม่ทิ้ง ท่านเก็บไว้ก่อน ค่อยๆ ทำทีละนิด จนสุดท้ายก็วนกลับมาทำจนสำเร็จ ผมว่าสิ่งเหล่านี้ได้เข้าไปอยู่ในตัวทีมงานทุกคน
ผู้พันเบิร์ด : บางฉากก็เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสครับ อย่างในตอนศึกนันทบุเรง เหตุการณ์ไฟไหม้กองถ่ายครั้งนั้นมันใหญ่มาก และไหม้ Set ที่จะใช้ถ่ายทำจริงด้วย แต่ก็ไม่หยุด ท่านสั่งถ่ายต่อไป จนสุดท้ายก็เอาฉากนั้นไปใช้จนได้

Mr. Coffee : หนังภาคต่อที่ใช้เวลายาวนานขนาดนี้ อย่างของ Hollywood บางเรื่องต้องมีการเปลี่ยนดาราหรือไม่ก็ตัดตัวละครเพราะผู้แสดงเสียชีวิต ของเรามีไหมครับ
ผู้พันเบิร์ด : มีพี่ที่เล่นเป็น พระศรีถมอรัตน์ (พ.ท.คมกริช อินทรสุวรรณ) แต่ก็ถ่ายจบไปแล้ว จริงๆ ช่วงที่พี่เขาป่วยหนักก็ยังมาถ่ายอยู่ ถ่ายไปเข้าก็โรงพยาบาลไป ตอนนั้นผมเชื่อเลยว่าพี่เขาอยู่ได้ด้วยกำลังใจและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ เพราะพอหมดคิว ก็เหมือนหมดห่วง ไม่นานพี่ต้น (พ.ท.คมกริช) ก็เสียชีวิตครับ นอกจากพี่ต้น ก็มีพวกอุบัติเหตุต่างๆ อย่างผมก็เคยเอ็นหัวเข่าขาดครับ ต้องไปใส่เหล็กดามไว้ แม้จะขี่ม้าได้ แต่เดินหรือวิ่งไม่ได้ อันที่จริงขี่ม้าแม้เราไม่เจ็บแผลแต่ก็อันตรายตอนเบรก เพราะม้าตัวใหญ่ มันสูง พอเราหยุดม้า เราไม่สามารถยันน้ำหนักขา ก็เสี่ยงตกม้า แต่ก็ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังนั่งคุกเข่าไม่ได้เลยครับ

Mr. Coffee :  ได้ยินว่าผู้พันเบิร์ดต้องไปใช้ชีวิตในกองถ่าย
ผู้พันเบิร์ด : ไม่ใช่ผมคนเดียว หลายคนกินนอนในกองถ่าย คือเวลาไม่มีคิวก็ไปช่วยเขาทำอย่างอื่นด้วย ดูเหมือนท่านอยากให้ผมได้เรียนรู้ไปด้วยครับ จนชินกับชีวิตในกองถ่ายเหมือนกัน เหมือนเป็นเทคนิคของท่านมุ้ย

Mr. Coffee : ถามถึงละครพันท้ายนรสิงห์ ทราบว่าการทำงานใช้ระบบแบบการถ่ายหนัง ในด้านการแสดงผู้พันเบิร์ดต้องการปรับตัวอย่างไร
ผู้พันเบิร์ด : ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยครับ ของผมเหมือนเป๊ะเลยครับ เพราะถ่ายทำเหมือนหนัง ที่จริงถามว่าเป็นละครหรือไม่ ยังไม่แน่นะครับ สุดท้ายอาจจะกลายเป็นหนังก็ได้ เพราะท่านเอาตัวอย่างลองไปฉายในโรง ก็ดูชัดใช้ได้
ปีเตอร์ : ที่จริงก็ใช้กล้อง Red ถ่ายเหมือนกันครับ
ผู้พันเบิร์ด : ทีนี้ มันอาจจะมีปัญหาอยู่นิดหน่อยว่า CG ที่ท่านเขียน บางฉากท่านเขียนเพื่อละคร
ปีเตอร์ : มันอาจจะไม่เนี้ยบมากครับ
ผู้พันเบิร์ด : ถ้าขึ้นจอใหญ่อาจจะต้องเขียนใหม่ เพราะ CG ละครเรื่องนี้ท่านเขียนเองเลยครับ
ปีเตอร์ : แต่ดูเหมือนวิธีการเล่าเรื่อง ท่านได้เพิ่มสีสันของละครเข้าไปอีกพอสมควรนะครับ เพิ่มตัวละคร เพิ่มรายละเอียด
ผู้พันเบิร์ด : เรื่องนี้ถ่ายทำไปเกือบ 20 ชั่วโมงครับ 24 ตอน ถ้าจะกลายเป็นหนังคงจะต้องถูกตัดบางส่วนออกไป จะเป็นหนังก็คง 2-3 ภาค
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่