บอลโลกกับกฎมัสต์แฮฟ อ่านบทวิเคราะห์นี้แล้ว พอเดาได้ว่าคำตัดสินศาลจะออกมาเช่นไร

นับเป็นประเด็นร้อนที่บรรดาคอบอลไทยเฝ้าติดตามอย่างลุ้นระทึกกรณีการงัดข้อกันระหว่าง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กับ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องการถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน-13 กรกฎาคมนี้

เนื่องด้วย กสทช.มีคำสั่งให้ทางอาร์เอสในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดในประเทศไทยชะลอการประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด และวางขายกล่องทีวีดาวเทียมรุ่น "บอลโลก" ในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยอ้างถึงประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ผ่านบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือที่เรียกกันว่า มัสต์แฮฟ (Must Have) ซึ่งระบุว่า ฟุตบอลโลกเป็น 1 ใน 7 การแข่งขันกีฬาหลักที่คนไทยต้องได้ดูฟรี ผ่านทางฟรีทีวี

แต่อาร์เอสก็ยืนยันเดินหน้าตามแผนการตลาดเดิมต่อไป ซึ่งรวมถึงการแบ่งการถ่ายทอดให้ฉายทางฟรีทีวีรวม 22 นัด จากทั้งหมด 64 นัด พร้อมเรียกร้องความเป็นธรรมเนื่องจากประกาศของ กสทช.เกิดขึ้นหลังจากอาร์เอสประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดมา กระนั้นก็ยังห้อยท้ายว่า ยินดีปรับแผนมาฉายทางช่องฟรีทีวีครบทุกคู่ เมื่อใดก็ตามที่ศาลปกครองมีคำวินิจฉัย

สำหรับประกาศมัสต์แฮฟนั้น กสทช.กำหนดการแข่งขันกีฬาที่ต้องดูฟรีไว้ 7 รายการ โดยนอกเหนือจากฟุตบอลโลกแล้ว ยังมีมหกรรมกีฬาที่นักกีฬาทีมชาติไทยร่วมแข่งขัน 3 รายการหลัก ได้แก่ ซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ รวมทั้งมหกรรมกีฬาคนพิการของทั้ง 3 ระดับ คือ อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์

กรณีพิพาทดังกล่าว จึงนำไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องธุรกิจกีฬา หรือแม้แต่พฤติกรรมการดูกีฬาฟรีของคนไทย

ประกาศมัสต์แฮฟเกิดขึ้นหลังกรณี ยูโร 2012 ซึ่งทาง จีเอ็มเอ็ม ได้ลิขสิทธิ์ และเกิดปัญหา "จอดำ" สำหรับกล่องรับสัญญาณบางเจ้า โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์เลขาธิการ กสทช. เคยชี้แจงเรื่องประกาศมัสต์แฮฟตอนหนึ่งว่า ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เป็นรายการสำคัญระดับชาติที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ อีกทั้งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประชาชนสามารถรับชมฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีเป็นปกติครบถ้วนโดยตลอดอยู่แล้ว พร้อมยกตัวอย่างว่า หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร และเบลเยียม ก็มีข้อกำหนดให้ประชาชนของเขาได้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลกฟรีทุกนัดเช่นกัน

กระนั้น หากพิจารณาระเบียบการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์และกฎมัสต์แฮฟของแต่ละชาติแล้ว จะพบรายละเอียดที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป...

กรณีของ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดกีฬาสมัยใหม่หรือการแข่งขันกีฬาเก่าแก่หลายรายการ มีกฎ ออฟคอมโค้ด (Ofcom Code) เพื่อควบคุมให้ฟรีทีวีถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาบางรายการ โดยแบ่งระดับความสำคัญออกเป็น กลุ่มเอ (ถ่ายครบถ้วนทั้งหมด) และกลุ่มบี (นำเสนอไฮไลต์หรือถ่ายทอดเทป) ซึ่งฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร เอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศ หรือศึกกอล์ฟเมเจอร์ บริติช โอเพ่น ล้วนอยู่ในกลุ่มเอ โดยมากจะมีสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ บีบีซี เป็นผู้รับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ชื่อว่า "ฟรีทีวี" แต่ใช่ว่าแค่มีทีวีก็ดูได้เลย เพราะทุกๆ ปี ประชาชนของสหราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมการรับชมโทรทัศน์ในอัตรา 145.50 ปอนด์ (7,850 บาท) สำหรับเครื่องสี และ 49 ปอนด์ (2,650 บาท) สำหรับเครื่องขาวดำ ซึ่ง 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะนำไปใช้อุดหนุนกิจการของบีบีซี

เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศที่ฟุตบอลเป็นกีฬายอดฮิต ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น ต่างก็เก็บค่าธรรมเนียมรายเดือนหรือรายปีสำหรับการรับชมโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน แม้แต่ชาวเบลเยียม ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างที่ กสทช.อ้างถึง ก็ต้องเสียเงิน 149.67 ยูโร (6,700 บาท) เป็นประจำทุกปี

ส่วนที่ ออสเตรเลีย (ซึ่งยกเลิกค่าธรรมเนียมเครื่องรับโทรทัศน์ไปตั้งแต่ปี 1974 และรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เอบีซี ทั้งหมดแทน) ก็มีระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่า กฎแอนตี้ไซฟอนนิ่ง (Anti-siphoning law) ป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ โดยกำหนดให้ฟรีทีวีได้สิทธิในการประมูลถ่ายทอดกีฬาที่บังคับถ่ายก่อน (ในจำนวนนี้มีฟุตบอลโลกและโอลิมปิกร่วมอยู่ด้วย) แต่หาก 12 สัปดาห์ก่อนการแข่งขันยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากฝั่งฟรีทีวี ทางเคเบิลหรือเพย์ทีวีก็จะได้สิทธิประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดแทนทันที

กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าตำรา "ของฟรีไม่มีในโลก" ไปเสียหมด เพราะหลายประเทศที่ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียม และมีฟุตบอลโลกให้ดูฟรีๆ ในปีนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย ถ้าบ้านใกล้เรือนเคียงเลยก็เช่นอินโดนีเซีย กัมพูชา และอีกหลายชาติในเอเชีย ซึ่งหลายๆ กรณีเป็นการรวมตัวกันของสถานีโทรทัศน์ในประเทศเพราะไม่สามารถรับภาระค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสูงลิบของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้ไหว

ขณะที่แฟนบอลเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์ต้องเสียเงินเพื่อชมเกม โดยเฉพาะรายหลังซึ่งได้ดูฟรีแค่ 4 แมตช์ (นัดเปิดสนาม, รอบรองชนะเลิศ 2 นัด และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับฟีฟ่า) ส่วนที่เหลือต้องจ่ายเหมา 112 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2,800 บาท) เพื่อซื้อแพคเกจดูครบทั้ง 64 แมตช์

จะเห็นว่าแต่ละชาติมีหลักปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะฟรีแท้ กึ่งๆ ฟรี หรือไม่ฟรีเอาเสียเลย ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดและทุกฝ่ายเข้าใจพร้อมปฏิบัติร่วมกัน

หมายความว่า ปัญหาในไทยคงไม่เกิดถ้าประกาศมัสต์แฮฟ (ซึ่งผ่านร่างเมื่อปลายปี พ.ศ.2555) ออกมาก่อนอาร์เอสจะประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกคราวนี้ (อาร์เอสซื้อลิขสิทธิ์รวบ 2 ครั้ง ปี 2010 และ 2014 ในมูลค่า 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2006) เพราะเอาเข้าจริงๆ เรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดมาทำแผนการตลาดเพื่อฉายฟรีทีวีไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องใหญ่นัก เนื่องจากเมื่อคราว ทศภาคถ่ายสดฟุตบอลโลก 2006 โดยจับมือกับทีวีพูลก็ทำได้ แถมยังได้กำไรมหาศาล

เมื่อเกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย ก็ต้องแก้กันด้วยกฎหมาย แล้วก็จบกันแค่ตรงนี้ เพราะครั้งต่อๆ ไปทุกฝ่ายทราบดีถึง "กติกา" ที่ครอบคลุมไว้ทั้งหมดแล้ว

ที่มา  มติชน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่