น้ำตาไหลพราก อยากแชร์รัวๆ

กระแสหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในโซเชี่ยลเนทเวิร์กต่างๆในปัจจุบันมาก ก็คือการ "แชร์" (Share) เรื่องราวต่างๆ

ซึ่งบางครั้งก็แค่แชร์มุกขำๆ แชร์ข่าวสารบ้านเมือง บทความที่น่าสนใจ เอามาเล่าสู่กันฟังตามประสาเพื่อนฝูง

แต่ที่อยากพูดถึงและเห็นว่ากำลังมาแรง ก็คือ การแชร์ "ดราม่า" ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง อาทิ

"คุณลุงใส่สูท ขอทานเลี้ยงลูกเพราะธุรกิจเจ๊ง" - (ลุงใส่สูทถือป้ายขอเงิน แล้วจะทำงานชดใช้ คนเห็นใจให้เงินแกหลายหมื่น ปรากฏว่าลุงเป็นขอทานอาชีพที่สร้างดราม่าขึ้นมาหลอกเงินคนชอบแชร์)

"นังคนใจร้ายตีเด็กบน BTS มันต้องลักพาตัวเด็กมาแน่ๆ" - (ลงรูปที่แอบถ่ายผู้หญิงอุ้มเด็ก เอามาสืบกันใหญ่โตหาว่าเค้าลักพาตัวเด็กมา ปรากฏเค้าเป็นแม่ลูกกันจริงๆ บางทีลูกดื้อแผลงฤทธิ์ในที่สาธารณะ ก็ต้องกำราบบ้าง)

"ทรมาณน้องแมวทำไม" - (ลงรูปสยองๆแล้วเขียนบรรยายความโหดร้ายของการเอาแมวมาผ่าหัวทดลอง บิดเบือนข้อมูลเพื่อต่อต้านการวิจัยในสัตว์โดยไม่ต้องแคร์ข้อเท็จจริงใดๆในสากลโลก)


ในกรณีต่างๆที่กล่าวถึง มักเริ่มจากการแชร์ "หัวเชื้อดราม่า" ต่อๆกันไปจนกระทั่งกลายเป็นที่ "กล่าวขาน" กันในวงกว้าง

ต่อมาอาจมีอีกฝ่ายออกมาแก้ข้อครหา หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่เนื้อหาส่วนนี้จะไม่ติดไปกับการแชร์ และส่วนใหญ่จะไม่ได้รับความสนใจเท่ากับตรงหัวเชื้อ

ดังนั้นจึงมีคนโดนลุงหลอกกินตังไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังมีคนเชื่อ และแชร์ต่อๆกันไปโดยไม่ค้นหาความจริงหรือสงสัยไต่ถาม

แม่คนนึงที่ต้องดูแลลูกก็ถูกคนตราหน้าว่าเป็นโจรลักพาตัวเด็ก ถูกลงรูปประจาน แชร์กันรัวๆ โดยไม่มีใครสนใจคำเฉลยและขอโทษแบบอ้อมแอ้มของนังคนต้นเชื้อเมื่อความจริงปรากฏ

แมวที่ถูกใช้ในการทดลองไม่ได้ถูกทารุณหรือฆ่าตายตามที่หัวเชื้อดราม่ากล่าวอ้าง แต่ไม่มีใครแคร์ เพราะการสำเร็จความใคร่ทางจริยธรรมย่อมสำคัญกว่า


จุดร่วมของทุกกรณีศึกษาคือ


1. ผู้แชร์และออกความเห็นส่วนมาก ไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์จริงๆ เพียงรับข่าวสารต่อๆกันมา
2. ความเห็นโน้มเอียงไปตามทางที่หัวเชื้อดราม่าชี้นำให้เชื่อ
3. มองข้ามข้อมูลจากด้านอื่นๆ
4. หากมีใครสงสัย มีความเห็นแย้ง หรือพยายามรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน จะถูกรุมด่าประนามโดยคนที่เชื่อข้อมูลที่ได้รับมาในระลอกแรกอย่างสนิทใจ

โดยส่วนตัวมองว่าในทุกๆกรณีศึกษา ใครถูกใครผิดไม่ได้เป็นสาระที่แท้จริง หากเป็นการวิจารณ์เพื่อความสะใจ สำเร็จความใคร่ทางจริยธรรม และยกระดับศีลธรรม อัตตาของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลทุติยภูมิ ถึง ตติยภูมิ ซึ่งไม่มีที่มาแน่ชัดและไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ (จะเอาอะไรกับนักเลงคีย์บอร์ด ที่แม้แต่ชื่อยังใช้ชื่อปลอม)

ดังนั้นเราจึงอยากให้หันมาสนใจในประเด็นที่ว่า "เราสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ใดจากกรณีดังกล่าวได้บ้าง?" มากกว่าการชี้หน้าตัดสินว่าใครถูกใครผิด และระดับศีลธรรมของใครเหนือชั้นกว่ากัน

อาทิ

กรณีลุงใส่สูท ความรู้ใหม่ที่ได้คือ คุณชูวิทย์ขายกิจการอาบอบนวดไปแล้ว

กรณีแม่ลักพาตัวลูก สิ่งที่ได้รู้คือมูลนิธิกระจกเงาทำงานไวจริงๆ และคนบางส่วนในสังคมเห็นการขอโทษเป็นเรื่องน่าอายมากกว่าการทำผิด

กรณีทรมาณแมว ทำให้เราอ่านบทความเกี่ยวกับการวิจัยในสัตว์ จริยธรรมในการทดลองในสัตว์ และได้หวนพิจารณาถึงสิ่งรอบตัวเราที่ผ่านการสังเวยด้วยชีวิตหนูและกระต่ายจำนวนนับไม่ถ้วน รวมทั้งขบขันกับตรรกะที่ว่า "ฆ่าหมูได้ แต่ฆ่าแมวผิด" ของคนบางกลุ่ม

ทั้งนี้ จากการติดตามกรณีต่างๆ จะพบว่า หากมีใครเห็นแย้ง หรือกล่าวตักเตือนกลุ่มคนที่กำลังเมามันกับการแสดงอารมณ์ใคร่ในดรามานั้นๆ จะถูกผลักดันให้ไปอยู่ "ฝ่ายตรงข้าม" ที่มีระดับทางศีลธรรมและสติปัญญาต่ำกว่าบุคคลในกระแสหลักทันที โดยมิต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงใดๆทั้งสิ้น

จากทุกๆกรณีศึกษา อาจสามารถสรุปเป็นทฤษฎีได้คร่าวๆว่า "จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้" และอาจสามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์อื่นๆในสังคมได้ในทุกระดับ อาทิ

ถ้าไม่คิดเหมือนกรู มุงควายแดง
ถ้าไม่คิดเหมือนกรู มุงอำมาตย์
ถ้าไม่คิดเหมือนกรู มุงสลิ่ม

สรุปว่า "มัน" ฝังรากลึกอยู่ในทุกระดับในสังคมไทย

ตอนนี้มีให้เลือก 2 ทาง คือแก้ไข หรือกล้ำกลืนมันต่อไป

ทางออกนั้นไม่ยาก

1. เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
2. คิด วิเคราะห์ แยกแยะ กันให้มากๆ กาลามสูตรน่ะ รู้จักมั้ย?

แค่นี้แหละ

ดีออก

==========================

ไม่ทราบว่าทาง Admin ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินเอา Tag ออกนะคะ แต่ถ้าฟังเหตุผลสักนิด แล้วลองพิจารณาใหม่อีกครั้งจะเป็นพระคุณมากค่ะ

1. เนื้อหาของประเด็นที่กล่าวถึง มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องแมว เพราะประเด็นนี้เคยเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องแมวมาก่อน และผู้เขียนคิดว่า อยากให้ผู้ที่เคยวิพากย์วิจารณ์ด้วยอารมณ์ในประเด็นดังกล่าว ได้ฉุกคิดในอีกแง่มุมหนึ่งบ้าง

2. การเมือง ก็เห็นๆกันอยู่แล้วนะคะ ว่าเกี่ยวกับเหตุขัดแย้งทางทัศนคติทางการเมืองโดยตรง รู้สึกแปลกใจมากที่ทาง Admin เอา tag นี้ออกค่ะ

3. และที่ใส่ Tag การตลาดด้วย ก็เพราะว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีมากมาย ใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ "ทำการตลาด" เพื่อใส่ร้ายป้ายความ หรือสร้างกระแสความเกลียดชังในวงกว้าง หากพิจารณาดีๆแล้ว จะพบว่า มันคือหลัก Viral Marketing นี่เอง

จริงๆอยากใส่ใส่ Tag วัยรุ่นด้วย เพราะส่วนหนึ่งอยากให้เป็นแนวคิดแก่วัยรุ่นที่ใช้ Social Media มากขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้หากทาง Admin พิจารณาแล้วว่าข้อเขียนนี้ไม่สมควรได้ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง ก็ขอน้อมรับค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่