การพูดจาสมัยพุทธกาล

ถ้าขึ้นซ้ำก็ขออภัยเพราะเมื่อกี้ตังแล้วไม่ขึ้น จึงตั้งใหม่

จากกระทู้นี้  http://ppantip.com/topic/32136017

จึงฉุกใจ (ที่จริงสงสัยมานานแล้ว) ว่าทำไมสมัยนั้นพูดจากันแบบนี้

ขอตัดตอนมาเลยนะครับ

[๔๙๖] คราวนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว
เสด็จจาริกโดยหนทางอันจะไปสู่รัฐอาฬวี เมื่อเสด็จจาริกโดยลำดับ ได้เสด็จถึงรัฐอาฬวีแล้ว
ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น จึงท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้า
ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค


ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น
แล้วทรงสอบถามภิกษุชาวรัฐอาฬวีว่า


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่า พวกเธอให้สร้างกุฎี ซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์ที่ตนต้องขอเขามาเอง อันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตนเอง
ใหญ่ไม่มีกำหนด กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกเธอจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไปว่า
ท่านทั้งหลายจงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง
จงให้จอบ จงให้สิ่ว จงให้เถาวัลย์ จงให้ไม้ไผ่ จงให้หญ้ามุงกระต่าย จงให้หญ้าปล้อง จงให้หญ้าสามัญ จงให้ดิน ดังนี้เป็นต้น
ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอน ด้วยการขอพอเห็นภิกษุทั้งหลายเข้า บ้างก็หวาด บ้างก็สะดุ้ง บ้างก็หลบหนีไป
บ้างก็เลี่ยงไปทางอื่น บ้างก็เมินหน้า บ้างก็ปิดประตูบ้าน แม้พบแม่โคก็หลบหนี สำคัญว่าพวกภิกษุ ดังนี้ จริงหรือ?


              ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า


พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า
ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ
ไฉนพวกเธอจึงได้ให้สร้างกุฎีซึ่งมีเครื่องอุปกรณ์ที่ตนต้องขอเขามาเอง อันหาเจ้าของมิได้ เป็นส่วนเฉพาะตน
ใหญ่ไม่มีกำหนดเล่า กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกเธอจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไปว่า
ท่านทั้งหลายจงให้บุรุษ จงให้แรงบุรุษ จงให้โค จงให้เกวียน จงให้มีด จงให้ขวาน จงให้ผึ่ง จงให้จอบ จงให้สิ่ว จงให้เถาวัลย์
จงให้ไม้ไผ่ จงให้หญ้ามุงกระต่าย จงให้หญ้าปล้อง จงให้หญ้าสามัญ จงให้ดิน ดั่งนี้เป็นต้น



ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย
การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว


ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว
ตรัสโทษ แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก
ความเป็นคนไม่สันโดษความคลุกคลี ความเกียจคร้าน
ตรัสคุณ  แห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา
ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว
ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าดังนี้:-

ตรงที่ขีดเส้นใต้นะครับ ทำไมไม่พูดสั้น ๆ ว่า ไฉนพวกเธอจึงทำเช่นนั้น  ทำไมต้องพูดยาวซ้ำ ๆ ของเดิม คนสมัยนั้นพูดจากันแบบนี้จริง ๆ หรือ ?
มันมีลักษณะแบบนี้ทั้งพระไตรปิฎกเลยนะ สงสัย ๆ
นี่ตัวอย่างแบบสั้น ๆ นะ เคยอ่านเจอบางพระสูตรยาวมากแล้วก็พูดซ้ำหลายครั้ง หรืออย่างเช่นกล่าวเรื่องขันธ์ 5 อะไรทำนองนี้ ก็เริ่มจากรูปร่ายไปยาว ๆ ๆ ๆ แล้วก็มาเวทนา ร่ายยาว ๆ ๆ ๆ ไปจนจบวิญญาณ ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันเป๊ะ แค่เปลี่ยนจากรูป เป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารเป็นวิญญาณ

ถ้าบอกว่าพระไตรปิฎกคือการบันทึกคำตรัสของพระพุทธองค์ พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่โกหก ย่อมบันทึกตรง ไม่ตัดต่อ ไม่ขยายเกินกว่าที่ตรัส ก็ยิ่งสงสัยว่าท่าตรัสด้วยภาษาแบบนั้นจริง ๆ หรือ ?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่